ขสมก.ควัก 5 พันล้านบาท เออร์ลี่พนักงาน 3.7 พันคน

ขสมก.ควัก 5 พันล้านบาท เออร์ลี่พนักงาน 3.7 พันคน

ขสมก. เล็งใช้วงเงิน 5 พันล้านบาท เปิดเออร์ลี่กระเป๋ารถเมล์-คนตรวจตั๋ว 3.7 พันคน

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ขสมก.ยังไม่ได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูตามองค์กร โดยขอให้ปรับปรุงรายละเอียดอีกเล็กน้อย ก่อนส่งหนังสือเวียนให้บอร์ดเห็นชอบในหลักการ จากนั้นจึงส่งแผนฟื้นฟูให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามลำดับ

สำหรับแผนฟื้นฟูฉบับนี้ ได้บรรจุโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน โดยปัจจุบัน ขสมก. มีพนักงานรวม 13,000 คนและมีสัดส่วนพนักงาน 4.9 คนต่อรถ 1 คัน แต่ในอนาคตจะลดเหลือพนักงาน 2.7 คนต่อรถเมล์ 1 คัน แต่การเปิดเออรี่รีไทร์ต้องพิจารณาอย่างรอบด้านและขึ้นกับความสมัครใจของพนักงาน

สำหรับโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ หรือ อี-ทิคเก็ตบนรถโดยสารประจำทาง 2,600 คัน วงเงิน 1,665 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี ที่มีนิติบุคคลร่วมทำงาน โดยบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล

ล่าสุดเอกชนได้ติดตั้งเครื่องอี-ทิคเก็ตบนรถเมล์ไปแล้ว 800 คันและอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจรับ โดย ขสมก.จะเรียกค่าปรับจากเอกชน ฐานส่งมอบเครื่องอี-ทิคเก็ตล่าช้าและทำให้ ขสมก. สูญเสียรายได้ เพราะเครื่องอี-ทิคเก็ตไม่สามารถอ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้

นอกจากนี้ ขสมก. ได้ส่งหนังสือถึงเอกชน เพื่อขอยกเลิกสัญญาการติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสารแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ (Cash box) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการอี-ทิคเก็ต รวมถึงจะเรียกค่าปรับกรณีส่งมอบแคชบ็อกล่าช้าด้วย

นายณัฐชาติ กล่าวถึงเหตุผลที่ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ด ขสมก. ว่า ได้ทำภารกิจตามที่ตั้งใจแล้ว คือ 1. การผลักดันแผนฟื้นฟู 2.การจัดหารถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (รถเมล์เอ็นจีวี) 489 คัน ซึ่ง 100 คันแรกจะเริ่มให้บริการจริงวันนี้ (27 มี.ค.) ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งมอบ 3.การสรรหาผู้อำนวยการ ขสมก.ที่เคยเสนอเรื่องไปแล้ว และ 4. การแก้ไขปัญหาหนี้สินของพนักงาน โดยสุดคณะกรรมการฯเห็นชอบให้ธนาคารเข้ามารีไฟแนนซ์หนี้สินพนักงานแล้ว

นางพนิดา ทองสุข รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า โครงการเออรี่รีไทร์ตั้งเป้าจะลดพนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานตรวจบัตรโดยสารลง 3,774 คน เนื่องจาก ขสมก. จะใช้ระบบอี-ทิคเก็ตอย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป โดยการเออรี่รีไทร์จะใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 4,774 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2561 วงเงิน 401 ล้านบาท, ปี 2562 วงเงิน 4,328 ล้านบาท และปี 2563 วงเงิน 45 ล้านบาท

นอกจากนี้ ขสมก. ได้ส่งหนังสือถึงนิติบุคคลร่วมทำงาน โดยบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เพื่อเรียกค่าเสียหายจากโครงการติดตั้งระบบอี-ทิคเก็ต รวม 22 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. กรณีที่ทำให้ ขสมก. สูญเสียรายได้ 21 ล้านบาท เพราะ ขสมก.ต้องสำรองจ่ายค่าโดยสารให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่สามารถเบิกเงินคืนจากกรมบัญชีกลางได้ 2. กรณีส่งมอบระบบอีทิเก็ตและแคลชบ็อกล่าช้า คิดเป็นค่าปรับ 1.6 ล้านบาท เพราะในทีโออาร์กำหนดให้ส่งมอบงวดแรก 100 คัน ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2560