ถอดรหัส ‘อีคอมเมิร์ซ’ อาเซียน

ถอดรหัส ‘อีคอมเมิร์ซ’ อาเซียน

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซอาเซียนเติบโต 41% มูลค่าแตะ 1 หมื่นล้านดอลลาร์

ผลการศึกษาเรื่อง “State of eCommerce” ฉบับล่าสุดโดย “ไอไพรซ์(iPrice)” ผู้ให้บริการค้นหาสินค้าออนไลน์อาเซียน รายงานว่า ปี 2560 เป็นอีกหนึ่งปีที่สำคัญสำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อ้างอิงจากผลการวิจัยของกูเกิลและเทมาเส็ก มูลค่าตลาด (Gross Merchandise Value ; GMV) สำหรับตลาดสินค้ามือหนึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ระยะเวลาเพียง 2 ปี หรือเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2558 ซึ่งมีมูลค่าเพียง 5.5 พันล้านดอลลาร์ เติบโตมากถึง 41%

นอกจากนี้ เป็นปีที่มีเหตุการณ์น่าสนใจเกิดขึ้นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น “อะเมซอน” ตัดสินใจเข้ามาทำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การรุกตลาดอย่างหนักของ “ช้อปปี้” ที่มุ่งการทำตลาดผ่านทางแอพพลิเคชั่น และ การทำยอดขายทะลุ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐของ “ลาซาด้า” ในแคมเปญ Online Revolution ทั้งได้รับการเพิ่มทุนจากอาลีบาบา

โมบายขับเคลื่อน

ไอไพรซ์ เผยถึง ไฮไลท์การแข่งขันที่สำคัญของอีคอมเมิร์ซจากมุมมองของผู้ค้าหลายพันร้านค้า ที่มีทั้งความเหมือน และความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากกว่า 1,000 ร้านค้าใน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ว่า

โทรศัพท์มือถือมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค ขณะเดียวกันปัจจัยหลักที่ทำให้อีคอมเมิร์ซอาเซียนเติบโตได้เร็วกว่าตลาดในโลกตะวันตก

ข้อมูลระบุว่า การใช้โทรศัพท์มือถือในการซื้อสินค้าบนอีคอมเมิร์ซของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงขึ้นอย่างมาก ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มมากขึ้นโดยเฉลี่ย 19% ปัจจุบัน 72% ของทราฟฟิกบนอีคอมเมิร์ซมาจากโทรศัพท์มือถือ

โดยประเทศอินโดนีเซียมีการใช้โทรศัพท์มือถือในอีคอมเมิร์ซสูงสุดคิดเป็น 87% ส่วนไทย 79% และไม่มีประเทศใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีทราฟฟิกจากคอมพิวเตอร์สูงกว่า 30%

ยังนิยมซื้อบนคอมพ์

ที่ผ่านมาเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เข้าชมเว็บไซต์ที่มีแนวโน้มจะซื้อสินค้า(Conversion Rate) นั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เทียบในระดับภูมิภาคร้านค้าในประเทศเวียดนามมีอัตราสูงที่สุดและสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30% รองลงมาคือสิงคโปร์ใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย ตามมาด้วยไทยที่ใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์

แม้ว่าทราฟฟิกการเข้าใช้ เข้าชม จะมาจากโทรศัพท์มือถือจำนวนมาก ทว่าผู้บริโภคยังคงนิยมที่จะซื้อสินค้าผ่านทางคอมพิวเตอร์มากกว่า โดยคอนเวอร์ชั่นเรทจากคอมพิวเตอร์เฉลี่ยสูงกว่าโทรศัพท์มือถือถึง 1.7 เท่า

ด้านค่าเฉลี่ยต่อการซื้อแต่ละครั้ง(Basket size) มีค่าแตกต่างกันสำหรับแต่ละบริษัท ขึ้นอยู่กับการวางตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทนั้นๆ จากการศึกษาค่าเฉลี่ยต่อการซื้อมีความสัมพันธ์กับจีดีพีต่อหัวในแต่ละประเทศ โดยสิงคโปร์ที่มีจีดีพีต่อหัวสูงที่สุด (90,530 ดอลลาร์) มีค่าเฉลี่ยต่อการซื้อสูงที่สุดมูลค่า 91 ดอลลาร์ หรือมีมูลค่ามากกว่าเวียดนามซึ่งมีจีดีพีต่อหัว ต่ำที่สุด (6,880 ดอลลาร์) ค่าเฉลี่ยต่อการซื้ออยู่ที่ 23 ดอลลาร์ ถึง 3.7 เท่า ขณะที่ฟิลิปปินส์ 56 ดอลลาร์ มาเลเซีย 54 ดอลลาร์ ประเทศไทยที่ประมาณ 42 ดอลลาร์  และอินโดนีเซีย 36 ดอลลาร์

โดยสรุป ค่าเฉลี่ยต่อการซื้อแต่ละครั้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องบนคอมพิวเตอร์ โดยมีคอนเวอร์ชั่นเรทอยู่ระหว่าง 8-20% ในแต่ละประเทศ ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงผ่านทางคอมพิวเตอร์มากกว่าโทรศัพท์มือถือ

ทราฟฟิกพุ่งวันหยุด

เมื่อประเมินจำนวนซื้อในแต่ละวัน หากใช้ค่าเฉลี่ยจำนวนการสั่งซื้อของทุกประเทศเป็นเกณฑ์ โดยมีค่า 100% จำนวนในการสั่งซื้อพุ่งสูงสุดในช่วงเวลา 9.00-17.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคอยู่ในที่ทำงานหรือโรงเรียน

ทว่าดูจะเป็นข้อยกเว้นสำหรับคนสิงคโปร์ที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วงเย็นมากกว่า โดยมีการซื้อสินค้าสูงสุดในช่วง 22.00 น. การซื้อสินค้าออนไลน์มียอดต่ำสุดในช่วง 17.00 -19.00 น. ซึ่งเหมือนกันในทุกประเทศทางแถบนี้ เนื่องจากผู้บริโภคอยู่ในระหว่างการเดินทาง และการรับประทานอาหารเย็น แต่พวกเขาจะกลับมาซื้อสินค้าออนไลน์อีกครั้งจนถึงช่วง 23.00 น.

หากใช้วันจันทร์เป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบคอนเวอร์ชั่นเรท จะเห็นว่าในช่วงสุดสัปดาห์อัตราลดลงกว่า 30% ซึ่งทำให้ร้านค้าอีคอมเมิร์ซต้องประสบปัญหาอย่างหนัก

โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับทุกประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งในเหตุผลหลักที่ส่งผลคือ ผู้บริโภคหันมาช้อปผ่านทางโทรศัพท์มือถือมากขึ้น อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศได้แก่ การพุ่งสูงขึ้นของคอนเวอร์ชั่นเรทในวันพุธ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4% - 15% จากค่าเฉลี่ยในแต่ละสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ทราฟฟิกจากโทรศัพท์มือถือในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์มีการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% โดยอินโดนีเซียถือเป็นราชาแห่งการใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีผู้ใช้กว่า 90% ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตามมาด้วยไทยสูงสุดที่ประมาณ 84% ฟิลิปปินส์ 82% มาเลเซีย 80% สิงคโปร์ 79% และเวียดนาม 77%

ทางเลือกต้องหลากหลาย

ด้านการชำระเงิน เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนผู้ใช้เครดิตการ์ดต่ำ (ยกเว้นประเทศสิงคโปร์) ร้านค้าต่างๆ จึงพบกับปัญหาที่แตกต่างจากร้านค้าในประเทศโลกตะวันตก จากการศึกษาพบว่า ในแต่ละประเทศมีรูปแบบการชำระค่าสินค้าต่างกันไป ทำให้เป็นปัญหากับร้านค้ายักษ์ใหญ่ที่ต้องการใช้กลยุทธ์ในการขยายธุรกิจแบบ “one-size fits all” มีร้านค้ามากกว่า 80% ในประเทศเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่ให้บริการเก็บเงินปลายทาง

นอกจากนี้ การชำระค่าสินค้าผ่านทางธนาคารเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ได้รับความนิยม โดยมีร้านค้าที่ให้บริการชำระค่าสินค้าผ่านธนาคาร อินโดนีเซียสัดส่วนที่ให้บริการมากถึง 94%, เวียดนาม 86% และไทย 79% ในประเทศไทยและเวียดนามมากกว่า 50% ของร้านค้าให้บริการชำระค่าสินค้าผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น

ที่มา : https://ipricethailand.com/insights/stateofecommerce2017