เล็งยกระดับ 'ยาวัณโรค' บางตัวที่ใช้รักษาหวัด-ท้องเสีย

เล็งยกระดับ 'ยาวัณโรค' บางตัวที่ใช้รักษาหวัด-ท้องเสีย

อย.เล็งยกระดับยาสูตรผสมรักษาวัณโรคบางตัวเป็นยาควบคุมพิเศษ จากปัจจุบันแค่ยาอันตราย มีขายในร้านยาเป็นสูตรเดี่ยว รักษาหวัด-ท้องเสีย หวังสกัดปัญหาเชื้อดื้อยาในไทย

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 61 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวในงานแถลงข่าวยุติเชื้อดื้อยาว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นวิกฤตทั่วโลก ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 7 แสนคน หากไม่เร่งแก้ปัญหาคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตสูงถึงปีละประมาณ 10 ล้านคน สำหรับประเทศไทยประมาณการณ์ผู้ป่วยเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 8.8 หมื่นคน เสียชีวิตปีละประมาณ 3.8 หมื่นคน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 4.2 หมื่นล้านบาทต่อปี นับเป็นเรื่องสำคัญขนาดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญ ปักหมุดหยุดเชื้อดื้อยา โดยตั้งคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพ เพื่อทำยุทธศาสตร์จัดการเชื้อให้หมดในปี 2560-2564

กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ และหนึ่งในตัวชี้วัดประเมินผลงานของสถานพยาบาลด้วย นอกจากนี้ยังต้องเร่งแก้ไขความเชื่อของประชาชนว่าโรคบางโรคสามารถหายเองได้ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ เช่น หวัด ไอ เจ็บคอ แผลสด เป็นต้น เพราะสามารถหายเองได้ และที่สำคัญส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อไวรัสอยู่แล้ว

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ยามีอยู่ 4 ประเภท คือ 1. ยาควบคุมพิเศษ อนุญาตให้มีการใช้ในรพ.เท่านั้น 2.ยาอันตราย อนุญาตให้ใช้ในสถานพยาบาล และจำหน่ายในร้านขายยาที่มีเภสัชกรเท่านั้น 3. ยาสามัญประจำบ้าน และ 4. ยาอื่นๆ ทั้งนี้ยาปฏิชีวนะจะจัดอยู่ในประเภทที่ 1 และ 2 เท่านั้น เป็นการกำหนดขอบเขตการใช้ ไม่อนุญาตให้ขายในร้านขายของชำเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะกรรมการยากำลังมีการทบทวนทะเบียนตำรับยาปฏิชีวนะ โดยยกสถานะยาบางตัว อาทิ ยารักษาวัณโรค ซึ่งในรพ.จะนำมาใช้รักษาวัณโรคในลักษณะยาสูตรผสม แต่บางตัวยามีการนำมาใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษาไข้หวัดและท้องเสีย ซึ่งปัจจุบันเป็นยาอันตรายที่ยังมีการขายในร้านขายยาที่มีเภสัชกร เป็นยาควบคุมพิเศษที่ให้มีการใช้เฉพาะในรพ.เท่านั้น เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อดื้อยาในประเทศ เพราะหากเชื้อมีการดื้อยาดังกล่าวจากที่มีการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อแล้ว เมื่อประชาชนป่วยแล้วจำเป็นต้องใช้ยานั้น จะไม่สามารถใช้รักษาได้ผลเพราะเชื้อดื้อยาไปแล้ว

ด้าน นพ.พิสนธ์ พ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจาภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ว่าจะไม่อนุญาตให้มีการขายยาปฏิชีวนะในร้านขายของชำ แต่ล่าสุดที่ไปจ.ขอนแก่น พบว่ายังมีการขายอยู่ และแบ่งขายเป็นเม็ดๆ เป็นเรื่องที่ผิดมาก เพราะการกินยาปฏิชีวนะนอกจากจะไม่กินพร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็นแล้ว จะต้องกินให้ครบโด๊สด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการดื้อยา ทั้งนี้ยาปฏิชีวนะมีหลายกลุ่ม แต่ขณะนี้ในรพ.พบว่ามีปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะหลายตัว ทำให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียลดต่ำลงเรื่อยๆ เรื่องนี้ต้องเอาจริงเอาจัง ส่วนเรื่องการทบทวนทะเบียนตำหรับยานั้นจะมีการประชุมในอีกประมาณ 1-2 วันนี้

อนึ่ง อย.ได้จัดโครงการ “ชั่งใจก่อนใช้ยา ธีม...ลดภัยร้ายเชื้อดื้อยา ปวงประชาสุขภาพดี” โดยหนึ่งในกิจกรรม คือ การผลิตข้อมูลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่าน BUS Media จำนวน 3 แบบ ได้แก่ “ยาปฏิชีวนะ ใช้ถูกเป็นมิตร ใช้ผิดเป็นภัย” “โรคนี้หายเองได้ กินยาปฏิชีวนะไป ไร้ประโยชน์” และ “ใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อตกเป็นเหยื่อ “เชื้อดื้อยา”” โดยจะติดโปสเตอร์ภายในรถโดยสารประจำทางสาธารณะที่มีเส้นทางเดินรถต้นทาง – ปลายทาง ระหว่างกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล ให้ครอบคลุมมากที่สุด จำนวน 7 สาย รวม 30 คัน ได้แก่ สาย ปอ.29 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) –หัวลำโพง สาย ปอ.40 ลำสาลี – สายใต้เก่า สาย ปอ.27 มีนบุรี – อนุสาวรีย์ชัยฯ สาย ปอ.203/1 อตก. – สนามหลวง สาย ปอ.522 รังสิต – อนุสาวรีย์ชัยฯ สาย ปอ.558 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – เซ็นทรัลพระราม 2 และสาย ปอ.18/1 ท่าอิฐ – อนุสาวรีย์ชัยฯ ซึ่งจะเริ่มวิ่งพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2561 เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดย อย. หวังว่าผู้โดยสารรถประจำทางสายดังกล่าวจะได้รับข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องสมเหตุผล

215665