‘ขนส่งอัจฉริยะ’ โจทย์ท้าทายวิถีขับขี่คนเมือง

‘ขนส่งอัจฉริยะ’  โจทย์ท้าทายวิถีขับขี่คนเมือง

โดยเฉลี่ยผู้ขับขี่จะใช้เวลาไปกับการหาที่จอดรถประมาณ 20 นาที

“จอดรถที่ไหนดี?” คำถามนี้คนที่อาศัยตามเมืองใหญ่ต่างต้องขบคิดให้ถี่ถ้วนก่อนออกเดินทาง

นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่าทุกวันนี้ผู้ขับขี่ต่างต้องเผชิญกับรถยนต์จำนวนมหาศาลบนท้องถนน ปัจจุบันมีรถที่จดทะเบียนทั่วประเทศรวมกว่า 37 ล้านคัน

ที่ผ่านมา ผู้ใช้รถใช้ถนนจำต้องเสียเวลากับรถติดบนถนนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 56 ชม.ต่อปี เฉพาะปี 2560 สถิติรถยนต์ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานครมีจำนวน9,593,706 คัน เพิ่มขึ้นราว 6% ทุกปี

สอดคล้องไปกับข้อมูลการวิจัยของ INRIX Global Traffic Scorecard บริษัทที่ทำการวัดผลการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนและช่วงเวลาอื่นๆ ในแต่ละวันใน1,360 เมืองทั่วโลก ซึ่งได้รายงานการประเมินสภาพจราจรทั่วโลกประจำปี 2560 ว่ากรุงเทพมหานคร ติดอันดับ 16 ของโลกเมืองที่รถติดมากที่สุดของเอเชีย ผู้ใช้รถต้องเสียเวลาบนท้องถนนมากถึง 64 ชม.ต่อปี

โดยถนน 10 สายที่รถใช้ความเร็วได้ต่ำในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น อันดับหนึ่ง คือพหลโยธิน เช้าวิ่งได้ 8 กม.ต่อชม.ช่วงเย็นวิ่งได้ 18 กม.ต่อชม. รองลงมาคือ สุขุมวิท สุขสวัสดิ์ เพชรเกษม บรมราชชนนี ติวานนท์ ราชวิถี งามวงศ์วาน สาทร และพระราม 1

ดังนั้นการเดินทางโดยขนส่งมวลชนสาธารณะที่ครอบคลุมจึงเป็นทางเลือกที่ทำให้คนยอมทิ้งรถส่วนตัวมาขึ้นรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน เพื่อแลกกับเวลาที่เสียไปกับรถติด แต่บ่อยครั้งที่ต้องไปทำงานหรือประชุมในสถานที่ต่างๆ แล้วเลือกที่จะจอดรถไว้ที่จอดรถสาธารณะใกล้รถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน ทว่าต้องพบปัญหาใหม่คือ ที่จอดรถไม่เพียงพอ จนทำให้เกิดปฏิบัติการ “วน-เวียน-หา” ที่จอดรถ และบางครั้งปัญหานั้นไม่ได้อยู่เพียงแค่ในบริเวณดังกล่าวแต่ยังกระทบมายังถนนบริเวณใกล้เคียง

สู่ลานจอดรถมีชีวิต

นิธิพัทธ์บอกว่า การพัฒนาระบบการขนส่งอัจฉริยะ(Smart transportation) เป็นแนวทางของการบรรเทาปัญหาดังกล่าว หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของสมาร์ทซิตี้ โดยการนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่อย่างเป็นระบบเช่น ระบบลานจอดรถอัจฉริยะเพื่อแก้ปัญหาการเสียเวลาวนหาที่จอดรถ

ปัจจุบัน ลานจอดรถอัจฉริยะไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายๆ ประเทศเริ่มนำโซลูชั่นลักษณะนี้มาเป็นตัวช่วย โดยประยุกต์ใช้กับสถานที่ต่างๆ ภายในเมือง ระบบจะช่วยลดระยะเวลาตามหาพื้นที่ว่างและกระบวนการต่างๆ ภายในที่จอดรถ ไม่ว่าจะเป็นรับบัตรจอดรถ ชำระค่าใช้จ่าย ให้เหลือเพียงขั้นตอนเดียวบนมือถือ

ข้อมูลระบุว่า โดยเฉลี่ยผู้ขับขี่จะใช้เวลาไปกับการหาที่จอดรถประมาณ 20 นาที หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนรถบนท้องถนนที่ไม่มีที่จอดรถ ซึ่งส่งผลอย่างมากกับสภาพการจราจรบนท้องถนน

“เมื่อต้องการให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ก็ควรสนับสนุนให้มีลานจอดรถทั้งของภาครัฐและเอกชนใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าหรือสถานีรถไฟใต้ดิน เพื่อให้คนนำรถมาจอดและเชื่อมต่อรถไฟฟ้าไปยังจุดต่างๆ ได้”

โอกาสในวิกฤติ

เอเซอร์ชี้ว่า ท่ามกลางปัญหายังมีความน่าสนใจ อย่างการลงทุนในธุรกิจหาพื้นที่จอดรถให้คนกรุงการมาของเศรษฐกิจการแชร์ในกลุ่มธุรกิจเช่าที่จอดรถในสังคมไทย ที่ผ่านมาได้เห็นสตาร์ทอัพขยับเข้ามาจับเทรนด์ “sharing economy” ในการทำธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทธุรกิจให้เช่าพื้นที่เพื่อจอดรถเช่น จอดสบาย, p2go, ParkNRide ฯลฯ

ธุรกิจประเภทนี้สามารถประหยัดงบลงทุนในการสร้างพื้นที่ใหม่ด้วยการนำทรัพยากรที่มีอยู่เดิมมาจัดสรรใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านมูลค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่ในมุมของผู้ใช้งานเทคโนโลยีนี้สามารถจับคู่ความต้องการของผู้บริโภคกับทรัพยากรที่มีอยู่ได้ง่ายมาพร้อมกับการใช้งานง่ายและประหยัดเวลา

นอกจากนี้ หนุนธุรกิจช้อปปิ้งสโตร์ด้วยบิ๊กดาต้า พัฒนาไปสู่ประสบการณ์ส่วนบุคคล(personal experience) ระบบจะมีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละราย จดจำ วิเคราะห์เพื่อให้บริการซ้ำในครั้งถัดไป เช่น ระยะเวลาที่จอดรถ เพื่อนำเสนอโปรโมชั่นหรือกิจกรรมจากร้านต่างๆ ภายในห้าง ที่สามารถนำมาหักลบชั่วโมงค่าจอด, ระบบแจ้งเตือนเมื่อชั่วโมงรถใกล้จะหมดลง

หรือแม้แต่กรณีฉุกเฉิน อย่างการขยับเคลื่อนย้ายรถหรืออุบัติเหตุใดๆ บริเวณลานจอดรถ ระบบก็สามารถแจ้งเตือนไปยังเจ้าของได้ทันท่วงที ข้อมูลที่มีมูลค่ามหาศาลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลเครดิตของผู้บริโภคที่ดีมากสำหรับทั้งแบรนด์ห้างเอง หรืออาจนำไปขายต่อให้ธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ

ทุกอย่างอยู่บนโมบาย

การสำรวจของกูเกิล คอนซูเมอร์ บารอมิเตอร์ ประจำปี 2561ระบุว่า กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีไลฟ์สไตล์ที่พึ่งพิงสมาร์ทโฟนสูงมาก โดยเฉพาะประเทศไทยที่ใช้เวลาเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ถึง 60% เมื่อเทียบกับแกดเจ็ทอื่นๆ

นอกจากนี้ นำไปสู่ลักษณะการใช้งานที่อิงกับโมบายแทบจะสมบูรณ์แบบ การชำระเงินด้วยระบบโมบายเพย์เมนต์ ได้เห็นกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการทั้งสัญชาติไทยหรือต่างชาติพากันปรับกลยุทธ์เพื่อผลักดันสังคมไร้เงินสด

“การให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการการใช้พื้นที่สาธารณะ ดึงเอาพื้นที่ส่วนตัวบางส่วนมาใช้เป็นที่สาธารณะชั่วคราว การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยลดต้นทุน ควบคุมการใช้พื้นที่ การจองพื้นที่ใช้งานล่วงหน้า รวมถึงการเก็บเงินค่าจอดทางโมบายแอพ ฯลฯ ล้วนเป็นแนวทางที่กระตุ้นให้เกิดการจัดสรรการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อความคล่องตัวของการจราจรคลายความตึงเครียดบนท้องถนน ไปจนถึงความคล่องตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ” นิธิพัทธ์ กล่าว