วัสดุทันตกรรม แล็บจุฬาฯส่งขึ้นห้าง

วัสดุทันตกรรม แล็บจุฬาฯส่งขึ้นห้าง

วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันและวัสดุรองพื้นฟัน สุดยอดนวัตกรรมย้อนรอยด้านทันตกรรมจากจุฬาฯ ใช้เวลาบ่มเพาะ 12 ปีจึงสามารถสปินออฟจากแล็บสู่แบรนด์ไทย หวังลดการนำเข้าวัสดุทันตกรรม

วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันและวัสดุรองพื้นฟัน สุดยอดนวัตกรรมย้อนรอยด้านทันตกรรมจากหลักสูตรสหสาขาทันตชีววัสดุศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ ใช้เวลาบ่มเพาะ 12 ปีจึงสามารถสปินออฟจากแล็บสู่แบรนด์ไทย หวังลดการนำเข้าวัสดุทันตกรรม พร้อมเล็งต่อยอดเพิ่มมูลค่าด้วยสารสกัดจากสมุนไพรไทย ส่งออกทำตลาดอาซียน

ตั้งเป้าภายใน 3 ปีนี้ วัสดุทันตกรรมจากแล็บจุฬาฯ นี้จะเป็นที่รู้จักและยอมรับจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะในอาเซียน เนื่องจากคุณภาพที่เทียบเท่าต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่า หากการทำตลาดเป็นไปตามเป้าหมายอาจมีกลุ่มทุนสนใจเข้ามาร่วมทุน เมื่อถึงเวลานั้นจะทำให้มีเงินทุนมากพอที่จะทำงานวิจัยพัฒนาใหม่ได้อีก เช่น การพัฒนาวัสดุอุดฟันสีขาว

“ย้อนรอย”นวัตกรรมเพื่อคนไทย

ปี 2558 ไทยนำเข้าวัสดุและเครื่องมือทันตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง มูลค่ากว่า 4,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่ทำให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการพัฒนาและแข่งขันกับนานาชาติ โดยเฉพาะการจะเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

ดังนั้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จาก 4 คณะ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์และคณะทันตแพทยศาสตร์ ภายใต้การดูแลของหลักสูตรสาขาทันตชีววัสดุศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย ได้ร่วมกันวิจัยพัฒนาสร้างองค์ความรู้ในการผลิตวัสดุทันตกรรม คือวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันและวัสดุรองพื้นฟัน โดยใช้เวลาคิดค้นและพัฒนา 12 ปี กระทั่งได้ชิ้นงานที่มีความปลอดภัยสูง ผ่านมาตรฐานไอเอสโอ และ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อีกทั้งมีราคาต่ำกว่าวัสดุในท้องตลาด 30%

“ออลชิลล์” (All-zeal) ชุดวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่แข็งตัวด้วยการฉายแสง เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุ สามารถใช้ได้ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และ “เอ็มเบส” (Embaze) ชุดวัสดุรองพื้นเพื่อการอุดฟันที่แข็งตัวด้วยการฉายแสงแบบอาร์เอ็มจีไอ มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันร้อน-เย็นพร้อมทั้งมีแคลเซียมและฟลูออไรด์มากกว่าวัสดุจากต่างประเทศ เป็น 2 แบรนด์สัญชาติไทยพัฒนาบนพื้นองค์ความรู้ทางวิชาการ

ศ.ทพ.พสุธา ธัญญะกิจไพศาล ผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาวิชาทันตชีววัสดุศาสตร์ กล่าวว่า วัสดุอุปกรณ์ผลิตภัณฑ์ในห้องทำฟันแทบ 100 % ล้วนเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศจะมีแค่ผ้าก๊อซและสำลีเท่านั้นที่ผลิตในประเทศไทย ส่วนต่างที่เหลือจะมีเพียงค่าแรงของทันตแพทย์ สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนของประเทศไทยที่ไม่มีอำนาจการต่อรองกับผู้ผลิตในต่างประเทศ จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมด้านทันตกรรมเพื่อป้องกันและรักษาฟันผุ

“เราต้องการพัฒนานวัตกรรมที่จับต้องได้ สามารถนำมาใช้กับคนไข้ได้จริง ไม่ใช่ทำเพื่อให้ได้ตีพิมพ์ผลงาน ได้ตำแหน่ง หรือรางวัล เป็นการทำวิศวกรรมย้อนรอยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศ"

เปลี่ยนจากผู้ซื้อเป็นผู้ผลิต

จุฬาฯ ที่ได้มอบสิทธิ์ให้บริษัท ดีแอนด์เอ็น จำกัด ทำการตลาดและกระจายสินค้าไปยังคลินิกทันตกรรมและโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมกันนี้ยังได้ยื่นขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อสร้างโอกาสเข้าไปในตลาดภาครัฐ ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดการพึ่งพาสินค้าจากต่างชาติ

นอกจากนี้ทั้งสองผลงานยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากงาน SCG Exclusive Pitching Night และรางวัลชนะเลิศจากงาน Sprint Thailand First Specialized Accelerator for Science and Technology จัดโดย สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์เเห่งจุฬาฯ ทั้งได้เป็นตัวเเทนไปนำเสนอในงาน Techsauce Global Summit ประเทศไทย และงาน Techinnovation 2018 ที่สิงคโปร์ ตามลำดับ

“กว่าจะได้ 2 ผลิตภัณฑ์นี้ออกมา ทุกคนต้องใช้ความอดทนชนิดกัดไม่ปล่อย ดูเหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่าย ต่อจากนี้เราจะสามารถพัฒนาปรับปรุงรุ่นต่อๆ ไปให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ช่วงแรกจะคล้ายกับของต่างชาติ แต่หลังจากนี้จะสามารถคิดนอกกรอบให้แตกต่างได้ อาทิ เติมสารสกัดจากสมุนไพรที่มีฤทธิ์ป้องกันหรือรักษา เป็นต้น” ศ.ทพ.พสุธา กล่าวและว่า

ดังนั้น น่าจะถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะไม่ใช้แต่แรงงานในการสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่ต้องใช้ความรู้ที่มีอยู่ สร้างนวัตกรรมขึ้นมาจำหน่าย เปลี่ยนจากผู้รับมาใช้เป็นผู้ผลิตแล้วใช้ จากนั้นก็พัฒนาเพื่อส่งออก ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะไปไม่ถึงไทยแลนด์ 4.0

“ผมอยากให้คนไทยให้โอกาสนวัตกรรมจากนวัตกรไทย เหมือนอย่างที่สิงคโปร์พยายามจะทำศูนย์นวัตกรรมแทนการซื้อมาขายไปเหมือนในอดีต” ศ.ทพ.พสุธา กล่าว