สตารท์อัพฉบับนักวิทย์ 'แคล นาโนเวชั่น'

สตารท์อัพฉบับนักวิทย์ 'แคล นาโนเวชั่น'

คือที่มาของ "แคล นาโนเวชั่น" (Cal Nanovation ) ก็คือ งานวิจัยไม่ใช่แค่อยู่บนหิ้งแต่สามารถสู่การเป็นธุรกิจได้จริง ๆ

ซึ่งผู้ก่อตั้งบริษัททุกคนก็ล้วนเป็นนักวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ดร.ดิษยา พรพัฒนนางกูร (จบสาขา Bioengineering, UCSD),ดร.ศรายุทธ     เอื่ยมคง (จบสาขา Physical Chemistry,UCLA) และ ดร.ภญ.สรชา ธรรมภิวัฒนา ( จบสาขา Nanoengineering,UCSD)

ทั้งสามท่านเชื่อมั่นว่านี่คือโมเดลธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ  เนื่องจากเคยพบเห็นมาแล้วสมัยที่เรียนต่อระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา คือมีโปรดักส์ที่ทางอาจารย์มหาวิทยาลัยนำออกจากแล็บแล้วไปตั้งเป็นบริษัททำธุรกิจได้สำเร็จหลายต่อหลายเคส

แต่ยอมรับว่าตัวตนของนักวิทย์ ก็พบกับความยาก ความท้าทายเมื่อคิดจะมาสวมหมวกผู้ประกอบการ เมื่อเร็ว ๆนี้เลยตัดสินใจเข้าโครงการ "Thailand Startup for life Sciences" เพื่อเฟ้นหาผู้ประกอบการด้านชีววิทยาศาสตร์ ส่งเสริมผู้ประกอบการ และสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพด้านชีววิทยาศาสตร์ ผลักดันให้เกิดช่องทางการขยายธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ให้เติบโตก้าวเข้าสู่ตลาดโลก  ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์  (TCELS)

"จริง ๆ มาร์เก็ตติ้งก็คือ จุดอ่อนที่พวกเรามีมาตั้งแต่เริ่มต้น คนในทีมเรามาจากสายวิทยาศาสตร์กันหมดเลย โปรดักส์เราแน่นมาก  เราจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง ที่ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมในโปรแกรมนี้เพราะมองว่าจะช่วยสอนเราในเรื่องของบิสิเนสแพลน ไฟแนนซ์  ช่วยดูว่าโมเดลธุรกิจของเราเมคเซ้นส์ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ช่วยดูตัวเลขว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และหลังที่โปรแกรมจบแล้วเราก็ยังมีโอกาสได้พบเจอกับอินเวสเตอร์อีกด้วย"

แคล นาโนเวชั่น เป็นเจ้าของโปรดักส์ที่เป็นยารักษาสิว ซึ่งเป็นผลงานวิจัยตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนปริญญาเอกทั้งได้มีการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติสร้างชื่อเสียงและการยอมรับมาแล้ว  เมื่อกลับมาเมืองไทยก็เลยมีความคิดเอามาพัฒนาต่อ นำเอางานวิจัยในหิ้งให้ขึ้นไปอยู่บนห้าง จุดเด่นของโปรดักส์ดังกล่าวมาจากการนำเอานาโนเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลของกรดไขมันชนิดหนึ่งจากมะพร้าว ให้เกิดเป็นยารักษาสิวที่สามารถยับยั้งการเกิดสิวได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ต้องบอกว่าในเวลานี้สินค้าของ แคล นาโนเวชั่น  ใกล้จะลอนซ์สู่ตลาดเมืองไทย กำลังอยู่ในช่วงของการวางแผนการตลาด และก็ได้ว่าจ้างบริษัทที่เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษา ทั้งในเรื่องของแบรนด์ แพ็คเก็จจิ้ง กลยุทธ์การตลาด ช่องทางการขาย ฯลฯ สำหรับกลุ่มเป้าหมายนั้นเป็นวัยรุ่นซึ่งเป็น "วัยสิว" ที่มีอายุระหว่าง 18-22 ปี 

"เพราะกลุ่มเป้าหมายที่เราโฟกัส จึงทำให้เรามีความต้องการนำเสนอการตลาดในรูปแบบใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยทำ ซึ่งเป็นการนำเสนอในแบบของความเป็นเพื่อนแต่ในเวลาเดืยวกันเราจะเป็นคุณหมอผิวหนังส่วนตัวให้กับพวกเขา โดยจะให้เขาสอบถามและทางเราจะมีคุณหมอที่เชี่ยวชาญด้านผิวช่วยวิเคราะห์ปัญหาผิวหน้า พร้อมให้คำแนะนำว่าผิวหน้าเขามีปัญหาอย่างไร สินค้าที่ควรใช้ควรเป็นอย่างไร และก็มีการติดตามผลทางมือถือ"

ซึ่งในความจริงนั้น คนเป็นสิวส่วนใหญ่ปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่ใช่แค่เรื่องของสิวเท่านั้น แต่ต้องเริ่มจากการรักษาสุขภาพผิวหน้าทั่ว ๆไปซึ่งเด็ก ๆก็มักทำได้ไม่ถูกต้อง รวมทั้งยังใช้โปรดักส์ที่ไม่เหมาะสมกับผิวของตัวเอง 

แต่แน่นอนว่า ภาพผิวที่ได้เห็นผ่านทางมือถือ อาจไม่ "ตรงปก" คืออาจมีความแตกต่างจากความเป็นจริง ซึ่งต้นเหตุการเป็นสิวก็มีอยู่หลายปัจจัย และสเตทของสิวก็มีอยู่หลายระดับ ดังนั้นแทนที่จะใช้แค่ภาพอย่างเดียวต้องมีการสัมภาษณ์มาใช้ประกอบกัน ทางฝั่งคุณหมอจะมีคำถามเพื่อให้ลูกค้าอธิบายถึงปัญหาสภาพผิวของตัวเองอย่างละเอียดและชัดเจน 

"ระบบที่เราคิดขึ้นมาจะช่วยแก้ปัญหาได้ทุกอย่างเลย ไม่ใช่แค่ให้เขาเข้าไปเลือกหยิบซื้อโปรดักส์เอากลับไปใช้แล้วที่สุดก็ไม่ได้ผล แต่เราจะแนะนำตั้งแต่การดูแลผิวหน้า เช่น การล้างหน้า ถ้าเป็นคนผิวมันควรใช้โปรดักส์แบบนี้ หรือถ้าเป็นคนผิวแห้งควรใช้โปรดักส์แบบนี้ แต่ถ้าเป็นสิวที่รุนแรงเราจะมีการแนะนำโปรดักส์ที่อาจมากกว่าหนึ่งโปรดักส์ แพลตฟอร์มของเรามีโซลูชั่นแนะนำลูกค้าด้วยไม่ใช่แค่ขายโปรดักส์เท่านั้น"

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นจะมีการไปโรดโชว์เพื่อแนะนำสร้างความรู้จักโปรดักส์ตามสถานศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ หากเด็กๆสนใจ เขาจะสามารถซื้อหาได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของแคล นาโนเวชั่น รวมถึงวางแผนจะวางจำหน่ายในช่องทางร้านขายยาทั่วประเทศอีกด้วย   

ตลาดผลิตภัณฑ์รักษาสิวถือว่ามีขนาดใหญ่มีการแข่งขันสูง ซึ่งทีมแคล นาโนเวชั่นบอกว่า โลกทุกวันนี้กำลังเบนเข็มไปออนไลน์ ดังนั้นก็เชื่อว่า การที่ลูกค้าต้องเดินทางไปรักษาที่คลินิคก็จะต้องเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาแต่จะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าและถูกกว่าถ้าเปลี่ยนมาใช้บริการบนแพลตฟอร์มแคล นาโนเวชั่นนอกจากจะให้คำปรึกษาแล้วก็มีโปรดักส์ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของประสิทธิภาพและจะไม่มีผลข้างเคียงอย่างแน่นอน

"เราก็คงไม่สามารถตั้งราคาให้สูงมากกว่าโปรดักส์ที่มีอยู่ในตลาดได้มากนัก แผนที่ได้วางไว้ก็คือ เราจะไม่ทุ่มเงินไปจ้างดาราที่มีค่าตัวแพง ๆมาเป็นพรีเซนเตอร์ แต่จะเป็นลูกค้าที่ใช้โปรดักส์แล้วเห็นผล  เพราะถ้าเราใช้กลยุทธ์การตลาดแบบเดิม ๆผู้บริโภคก็ต้องใช้เงินจับจ่ายไปกับค่ามาร์เก็ตติ้งที่แฝงมากับค่าตัวดารา"

แต่มุมมองผู้บริโภคก็ถือว่ามีความท้าทาย เพราะความใหม่ของแบรนด์ก็อาจยังไม่สร้างความยอมรับ และบ่อยครั้งผู้บริโภคก็ไม่ได้ซื้อสินค้าเพราะมองที่คุณภาพเป็นหลัก แต่ซื้อตามกระแส หรือเพราะเห็นว่าไอดอล คนดังๆบอกว่าดี 

"แต่คอร์ที่เราจะยึดก็คือ การเอาโปรดักส์ที่มีคุณภาพมาเป็นตัวนำ แล้วค่อยปรับจูนเรื่องของการสื่อสารให้เป็นภาษาในแบบที่ผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราเขาอยากจะได้ยิน"

ทำไมสนใจเดินบนเส้นทางสตาร์ทอัพ?  คำตอบก็คือ ถ้าเป็นโมเดลเอสเอ็มอี ธุรกิจคงไม่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่สตาร์ทอัพจะมีนักลงทุนเข้ามาลงเม็ดเงินให้ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจในสเตทต้นๆ ซึ่งจะทำให้โอกาสของการเติบโตนั้นมีมากกว่าหลายสิบเท่า

"ตอนนี้เราอยากระดมทุน 15 ล้านเพื่อใช้ในการสเกลภายในเวลา 1.5 ปี  ซึ่งเราจะนำเงินมาใช้แตกต่างไปจากบริษัทอื่น ๆ คือจะลงทุนการตลาดน้อยไปกว่าเขาเป็นครึ่งหนึ่ง เราวางแผนเงินไปกับการตลาดแค่ประมาณ 20% ของยอดขาย ขณะที่ธุรกิจอื่น ๆจะใช้เงินทำการตลาดไปถึง 40-50%  ตรงกันข้ามที่เราต้องการเอามาใช้พัฒนาสินค้าให้ดีมีคุณภาพ"

ถามถึงเป้าหมายสูงสุด พวกเขาบอกว่าต้องการจะขยายแพลตฟอร์มแคล นาโนเวชั่นไปถึงระดับตลาดเซาท์อีสต์เอเชีย ซึ่งสตาร์ทอัพไทยยังทำได้ไม่ดีเท่าสตาร์ทอัพที่มาจากประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน เช่น ทราเวลโลก้า จากอินโดนีเซีย หรือแกร็บแท็กซี่ จากมาเลเซีย เป็นต้น