ครม.เห็นชอบ11แผนปฏิรูป สั่งทุกกระทรวงเร่งดำเนินการ

ครม.เห็นชอบ11แผนปฏิรูป สั่งทุกกระทรวงเร่งดำเนินการ

ครม. ไฟเขียว 11 แผนปฏิรูปประเทศ เร่งส่งเข้าที่ประชุม สนช.เห็นชอบ ด้านนายกรัฐมนตรี สั่งทุกกระทรวงนำแผนปฏิรูปไปรับในการทำงานของกระทรวง พร้อมแสดงผลงานการปฏิรูปให้ประชาชนรับทราบโดยเร็ว

เมื่อวันที่ 13 มี.ค.61 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ เห็นชอบร่างแผนการปฏิรูประเทศทั้ง 11 ด้าน ประกอบด้วย

1. ด้านการเมือง จะเน้นให้ประชาชนเข้าใจหลักการประชาธิปไตย มีส่วนร่วมและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง พรรคการเมืองมีความโปร่งใส ซื่อสัตย์ และถ้าเกิดความขัดแย้งก็จะมีวิธีเข้าไปแก้ไขด้วยแนวทางสันติ 2. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน จะเน้นให้หน่วยราชการมีความกระทัดรัด ทันสมัย สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณืโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ ข้าราชการต้องเป็นคนที่มีคุณภาพสูง ทั้งในด้านการปฏิบัติงาน และคุณธรรมจริยธรรม สามารถตรวจสอบการทุจริตได้ 3. ด้านกฎหมาย จะเน้นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และกฎหมายจะต้องไม่เพิ่มภาระให้กับประชาชน ประชาชนและผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายอย่างถูกต้อง 4. ด้านกระบวนการยุติธรรม จะเน้นการแก้ไขขั้นตอนกระบวนการทั้งหลายให้มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน จะช่วยเหลือประชาชนให้มีความเสมอภาค เช่น การตั้งกองทุนยุติธรรม กฎหมายทั้งหมายต้องเอื้ออำนวยให้ประเทศมีศักยภาพ และมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น

5. ด้านเศรษฐกิจ จะต้องครอบคลุมในทุกภาคส่วน จะต้องใช้นวัตกรรม เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และจะต้องลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนทุกกลุ่ม 6. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์ อะไรที่หมดสภาพจะต้องเร่งฟื้นฟูให้สมบูรณ์และยั่งยืน 7. ด้านสาธารณสุข จะเน้นการบริการด้านปฐมภูมิ เป็นการป้องกันก่อนการเจ็บป่วย ให้คำปรึกษาตั้งแต่ก่อนป่วย ทุกคนในประเทศจะต้องขุถึงการบริการอย่างเท่าเทียม 8. ด้านสื่อมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ จะเน้นการสร้างดุลยภาพระหว่างเสรีภาพของสื่อมวลชนกับความรับผิดชอบของสื่อมวลชน ในการทำหน้าที่สื่อจะต้องเป็นโรงเรียนให้กับสังคมและประชาชน 9. ด้านสังคม จะเน้นให้ประเทศไทยมีหลักประกันรายได้หลังเกษียณในทุกกลุ่ม และมีหลายแนวทางให้เลือก เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ การสร้างหลักประกันรายได้ของทุกภาคส่วนหลังเกษียณ และส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอยู่ได้ด้วยตัวเอง 10. ด้านพลังงาน จะเน้นส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพลังงาน และ11. ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จะต้องมีมาตรการควบคุมการติดตามงานทั้งภาครัฐและเอกชน ภาครัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการต่างๆให้ประชาชนรับทราบ จัดทำบิ๊กดาต้า โดยการนำงบลงทุนของทุกโครงการทุกหน่วยงานให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบได้ง่าย

สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยในภาพรวม 4 ด้าน ได้แก่ 1. ประเทศไทยมีฐานทรัพยากรรองรับการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลในเชิงสังคมและเชิงเศรษฐกิจ 2. ประชาชนมีสวัสดิการของรัฐที่เหมาะสม มีโอกาสในการสร้างอาชีพและได้รับความเป็นธรรมในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการยุติธรรม 3. ภาคเกษตร อุตสาหกรรมบริการและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมได้รับการยกระดับ รวมทั้งลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และ 4. การบริหารจัดการภาครัฐมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชน การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน จะก่อให้เกิดประโยชน์ในแต่ละระดับของสังคม คือระดับประชาชน ชุมชนและท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และประเทศ

ทั้งนี้ ครม. ยังได้เห็นชอบความเห็นของ สศช. เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามร่างแผนปฏิรูปประเทศพิจารณาดำเนินการต่อไป โดให้เพิ่มเติมบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปให้รวมถึงการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศผ่านการสื่อสารทุกช่องทางเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนในทุกภาคส่วนและหน่วยงานรัฐที่จะต้องนำไปปฏิบัติ รวมทั้งมีช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและทั่วถึงด้วย
รวมทั้งยังให้ สศช. เร่งดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ โดยมุ่งเน้นให้กลไกและวิธีการประเมินสามารถประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่เป็นภาระของหน่วยงานมากจนเกินไป และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางและหลักเกณฑ์เพื่อถือปฏิบัติต่อไป

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ยังได้ฝากให้ทุกประทรวงนำแผนปฏิรูปทั้ง 11 แผน ไปปรับปรุงในส่วนที่เกี่ยวข้องของแต่ละกระทรวง ตามประเด็นเป้าหมายประเด็นย่อย 132 ประเด็น 478 กิจกรรม และ 791 ตัวชี้วัด ซึ่งกระทรวงใดที่ได้นำแผนปฏิรูปไปปรับปรุงการทำงานแล้วจะต้องแจ้งข้อมูลให้ประชาชนรับทราย เพื่อให้เข้าใจว่าแผนการปฏิรูปส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายอย่างไร

ทั้งนี้ ภายหลังที่ ครม. เห็นชอบแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อผ่านความเห็นชอบ จากนั้นจะลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ทั้งนี้ ใยแผนการปฏิรูปทั้งหมด จะมีทั้งสิ้น 13 แผนการปฏิรูปตำรวจ และการศึกษา แต่ 11 แผนทำเสร็จก่อน ก็จะเร่งนำเข้ากระบวนการให้แล้วเสร็จ โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ จะยังคงอยู่ต่อไปอีก 5 ปี เพื่อช่วยพิจารณากฎหมายรองรับการปฏิบัติงาน และปรับปรุงแปนการปฏิรูป เพื่อให้ดำเนินการได้จริง เพราะหลังจากที่ดำเนินงานภาคปฏิบัติแล้ว อาจมีอุปสรรคบางอย่างทำให้ไม่สามารถทำได้ตามแผนได้ ก็จะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริง รวมไปถึงการตรวจสอบหน่วยราชการผู้ที่จะต้องปฏิบัติงาน หากหน่วยงานใดไม่ทำตาม ก็จะต้องรายงานต่อรัฐบาล และหากรัฐบาลไม่ทำตาม ก็จะต้องรายให้ให้กับรัฐสภารับทราบและหาทางแก้ไขต่อไป