ผลตรวจ 'ปลาฟุกุชิมะ' ปลอดภัย ปนเปื้อนต่ำกว่าโคเดกซ์

ผลตรวจ 'ปลาฟุกุชิมะ' ปลอดภัย ปนเปื้อนต่ำกว่าโคเดกซ์

สำนักงานปรมาณู สรุปผลตรวจ "ปลาจากฟุกุชิมะ" ปลอดภัย ค่าปนเปื้อนต่ำกว่าที่โคเดกซ์ กำหนด ชี้ญี่ปุ่นตรวจเข้มก่อนส่งออกทุกล๊อต

นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการเก็บตัวอย่างสอบปลาที่นำเข้าจาก ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยสำนักงานปรมาณู เพื่อความสันติ ประกอบด้วยปลา Flounder จำนวน 27.5 กิโลกรัม และ Sole 4.5 กิโลกรัม พบว่า I-131 Cs-134 และ Cs-137 มีปริมาณต่ำกว่าค่าขีดจำกัดของเครื่องมือที่ใช้วัดซึ่งมีค่าในช่วง 0.39 - 0.77 เบคคอเรลต่อกิโลกรัม ยกเว้น Sole ซึ่งพบ Cs-137 ในปริมาณ 0.86+0.31 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหารปนเปื้อนค่ามาตรฐาน Cesium คือ ไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนด 128 (พ.ศ.2554)

นอกจากนี้ ทางสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว รายงานว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อปี 2554 ญี่ปุ่นมีให้แต่ละจังหวัดเป็นผู้ตรวจสารฯ ตามแนวปฏิบัติ ที่กำหนดโดยศูนย์บัญชาการรับมือภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่มีนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นเป็นหัวหน้า โดยกำหนดตรวจสินค้าทุกสัปดาห์ กำหนดค่ามาตรฐาน Cesium สำหรับอาหารทั่วไปไว้ที่ 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่ CODEX กำหนด (1,000 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม) หากพบเกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม จังหวัดจะระงับการส่งสินค้าออกสู่ตลาดทันที และหากพบค่าเกินมาตรฐานที่กำหนดในหลายพื้นที่พร้อมกัน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะเป็นผู้สั่งห้ามส่งสินค้าออกสู่ตลาด

ซึ่งที่ผ่านมา การตรวจสินค้า ตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ฟุกุชิมะ เมื่อปี 2554 ในช่วง 3 เดือนแรก พบปลากว่า 50 % มีค่า Cesium เกินมาตรฐาน และลดจำนวนต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อช่วงเดือนเม.ย. 2555 จังหวัดฟุกุชิมะได้ประกาศยืนยันรายการสินค้าประมงที่ได้ผ่านการตรวจปลอดภัยทั้งหมด และเพิ่มระดับความเข้มข้นในการกำหนดค่ามาตรฐานเป็น 50 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม หากพบเกินกว่านี้จะระงับการส่งออกปลาชนิดนั้นทันที ซึ่งชนิดปลาที่ส่งมายังประเทศไทยนั้น ที่อยู่ในรายการยืนยันความปลอดภัย

นอกจากนี้ ข้อมูลจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ที่ได้ดำเนินโครงการทดสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าฟูชิมะ ระหว่างปี 2557 – 2559 สรุปได้ว่าข้อมูลและผลการทดสอบของประเทศญี่ปุ่นมีความถูกต้องและเชื่อถือได้ จึงเห็นได้ว่าสินค้าประมงที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลอยู่แล้ว