ฉาวอีก! ก.คลังญี่ปุ่นแก้เอกสารช่วยภริยา ‘อาเบะ’

ฉาวอีก! ก.คลังญี่ปุ่นแก้เอกสารช่วยภริยา ‘อาเบะ’

กระทรวงคลังญี่ปุ่นรับมี “การเปลี่ยนแปลง” ในเนื้อหาบางส่วนของเอกสารการซื้อขายที่ดินอื้อฉาว เอื้อประโยชน์ถึงภริยาของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ท่ามกลางกระแสกดดันให้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

นายฮิโรชิ โมริยามะ ผู้อำนวยการฝายประสานงานประจำรัฐสภาญี่ปุ่น (สภาไดเอท) ของพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ กล่าววันนี้ (12 มี.ค.) ว่าได้รับการยืนยันจากรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ว่ากระทรวงคลังปรับแก้เนื้อหาบางส่วนในเอกสารการซื้อขายที่ดิน แต่นายโมริยามะปฏิเสธเผยรายละเอียดเพิ่มเติม

กรณีอื้อฉาวเรื่องซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นชนวนของข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการเล่นพรรคเล่นพวกที่ส่งผลต่อคะแนนนิยมของนายอาเบะอย่างชัดเจนตั้งแต่ปีที่แล้ว ก่อนนำเสนอต่อสภาไดเอท

ขณะที่สื่อหลายแห่งของญี่ปุ่นรวมถึงสถานีโทรทัศน์อาซาฮี และหนังสือพิมพ์ไมนิชิ รายงานไปในทางเดียวกันว่า การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในเอกสารสำคัญดังกล่าวเกิดขึ้นประมาณปลายเดือนก.พ. ปีที่แล้ว โดยเป็นการนำชื่อของนางอากิเอะ อาเบะ ภริยาของนายกรัฐมนตรีออกจากรายงานทั้งหมด เข้าข่ายเป็นการเจตนาปกปิด เพื่อให้ความช่วยเหลือนางอาเบะ

ภริยาของนายอาเบะเคยถูกทาบทามให้รับตำแหน่งผู้บริหารกิตติมศักดิ์ของโรงเรียนเอกชน “โมริโมโตะ” ซึ่งสามารถซื้อที่ดินผืนหนึ่งของรัฐ “ได้ในราคาพิเศษ” ที่ถูกกว่าราคาปกติถึง 10 เท่า

ในเดือนก.ค. 2560 เจ้าหน้าที่จับกุมนายยาสึโนริ คาโกอิเคะ และภรรยา ซึ่งเป็นเจ้าของสถาบันโมริโมโตะ ในข้อหารับเงินสนับสนุนจากรัฐ “ด้วยวิธีการมิชอบ” แม้ผู้นำญี่ปุ่นและภริยายืนกรานปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีอื้อฉาวนี้มาตลอด

ต่อมาสถานการณ์ยิ่งตึงเครียด เมื่อนายโนบุฮิสะ ซางาวะ ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสรรพากรแห่งชาติอย่างกะทันหันเมื่อวันศุกร์ (9 มี.ค.) ที่ผ่านมา หลังแถลงเรื่องดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร และเป็นวันเดียวกับที่สื่อหลายแห่งรายงานการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รายหนึ่้งของกระทรวงคลัง ซึ่งมีหน้ารับผิดชอบการจัดทำเอกสารฉบับนี้ เบื้องต้นพนักงานสืบสวนสันนิษฐานว่าเป็นการฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตาม นายอาเบะและนายทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลัง ยังคงปฏิเสธลาออกจากตำแหน่ง ในขณะที่หนังสือพิมพ์โยมิอุริเผยผลสำรวจความคิดเห็นชาวญี่ปุ่นที่มีต่อนายกรัฐมนตรีว่า อยู่ที่ 48% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อกลางเดือนต.ค. ปีที่แล้ว และ 8 ใน 10 ของกลุ่มตัวอย่าง 1,036 คน มองว่าท่าทีของรัฐบาลต่อกรณีอื้อฉาวครั้งนี้ “ไม่เหมาะสม”