ผิดหวัง 'ศาลรธน.' วินิจฉัยเว้นลักษณะต้องห้าม 'กรรมการป.ป.ช.'ไม่ขัดรธน.

ผิดหวัง 'ศาลรธน.' วินิจฉัยเว้นลักษณะต้องห้าม 'กรรมการป.ป.ช.'ไม่ขัดรธน.

"รองประธาน กรธ." ผิดหวัง "ศาลรัฐธรรมนูญ" วินิจฉัยเว้นลักษณะต้องห้าม "กรรมการป.ป.ช." ไม่ขัดรธน. ย้ำความเห็นเดิมทำไม่ได้ ซัดเขียนกฎหมายลูกทรพี เสียดายความไว้ใจ ที่มอบอำนาจ สนช.

นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คนที่ 1 ในฐานะอดีตประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าตนรู้สึกผิดหวังไปพร้อมกับความตกใจหลังอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอให้วินิจฉัยการเว้นลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดปัจจุบัน ในบทเฉพาะกาลของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ส่วนของการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองซึ่งไม่พ้นกำหนด 10 ปี สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปจนครบวาระ เพราะกรณีดังกล่าวตนยืนยันในความเห็นที่เคยได้อภิปรายในที่ประชุมสนช. ว่า เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพราะการเขียนกฎหมายลูกแม้จะเป็นหน้าที่ตรงของสนช. แต่การเขียนรายละเอียดนั้นต้องไม่มีความใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ฐานะกฎหมายแม่ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นกฎหมายลูกฆ่าแม่ และกลายเป็นกฎหมายลูกทรพีได้

นายสุพจน์ กล่าวด้วยว่าตนไม่ทราบว่าประเด็นที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดังกล่าวจะมีผลประโยชน์หรือความเกี่ยวข้องใดกับการใช้มาตรา 44 เพื่อต่ออายุให้ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พ้นวาระไปหรือไม่ หรือมีความเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลือและมีดีกรีเป็นถึงระดับศาสตราจารย์หรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังคำวินิจฉัยนั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมและการเขียนกฎหมายในอนาคตที่ปรากฎความว่าขัดกับหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน เพราะกรณีของการเว้นลักษณะต้องห้ามเพื่อให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ ถือเป็นการเปิดช่องให้กฎหมายมีช่องโหว่ และอนาคตคนที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ออกกฎหมายอาจใช้เทคนิคดังกล่าวเพื่อเขียนกฎหมายที่ขัดกับหลักนิติธรรมได้

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมองประเด็นอำนาจของสนช.​ที่จะเขียนเนื้อหาร่างพ.ร.ป. ในส่วนต่างๆ ได้เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นายสุพจน์ กล่าวว่า ตนยอมรับว่าเจตนาตั้งต้นที่เขียนให้สนช.มีอำนาจบัญญัติ แต่หลักการที่ยึดถือคือการเขียนรายละเอียดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่บท คือรัฐธรรมนูญ​ ไม่ใช่ใช้อารมณ์ ความรู้สึก หรือการต่างตอบแทนเพื่อเขียนสาระที่ปู้ยี้ปู้ยำรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตนรู้สึกเสียดายความไว้ใจของกรธ.​ที่คาดหวังว่าจะให้ สนช. ช่วยพิจารณาเขียนกฎหมายให้รอบคอบ แต่ยอมรับว่าตนมองโลกสวยเกินไปและไม่คาดคิดว่าสนช. จะเขียนกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม และเมื่อผลสรุปเป็นไปตามคำวินิจฉัยตนห่วงว่าสังคมไทยและประเทศไทย คงไม่สามารถคาดหวังหรือพึ่งพาองค์กรอิสระหรือองค์กรใดได้อีก.