กรมศุลฯ เพิ่มมูลค่าของนำเข้า เสียภาษีไม่เกิน 2 แสนบาท

กรมศุลฯ เพิ่มมูลค่าของนำเข้า เสียภาษีไม่เกิน 2 แสนบาท

กรมศุลฯ เพิ่มมูลค่าของนำเข้า เสียภาษีไม่เกิน 2 แสนบาท ของมีค่าที่ใช้แล้วแบกไปนอกต้องแจ้ง

นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากรเปิดเผยว่า กรมศุลกากรได้ออกประกาศตามกฎหมายกรมศุลกากรฉบับใหม่ที่ระบุถึงการขยายมูลค่าของที่พาติดตัวและนำเข้ามาในราชอาณาจักร ที่สามารถชำระอากรปากระวางได้ โดยเพิ่มเป็นมูลค่าไม่เกิน 2 แสนบาท จากเดิม 1 แสนบาท เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เดินทาง

เขากล่าวว่า อากรปากระวาง หมายถึง อากรที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรเรียกเก็บจากของที่ผู้เดินทางพาติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร ณ จุดผ่านแดนถาวรหรือจุดผ่อนปรนทางการค้า โดยไม่ต้องผ่านพิธีการใบขนสินค้าแต่ต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กรมศุลกากรกำหนด

ทั้งนี้ อธิบดีกรมศุลกากร ลงนามในประกาศกรมศุลกากร ที่ 60 / 2561 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัว เข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นการออกอนุบัญญัติ ภายใต้กฎหมายศุลกากรฉบับใหม่ ซึ่งสาระสำคัญของอนุบัญญัตินี้ ยังคงมีสาระไม่แตกต่างจากของเดิม ยกเว้นในเรื่องการชำระอากรปากระวางดังกล่าว

สำหรับสินค้าที่สามารถชำระอากรปากระวางได้ จะต้องไม่เป็นของต้องห้ามนำเข้า เป็นของที่ผู้โดยสารนำติดตัวเข้ามาพร้อมกับตน( Accompanied Baggage) ในวันเดินทางมาจากต่างประเทศ โดยมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 2 แสนบาท หรือ เป็นของที่มีมูลค่าเกินกว่า 2 แสนบาทและนำติดตัวเข้ามาเพียงชิ้นเดียว ให้อยู่ในอำนาจของพนักงานศุลกากรผู้ควบคุมกำกับดูแล การเก็บอากรปากระวางเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้จัดเก็บอากรปากระวางได้

นอกจากนี้ ข้อกำหนดในเรื่องของส่วนตัวที่ผู้โดยสารนำเข้ามาพร้อมกับตน ยังคงใช้ข้อกำหนดเดิม คือ กรณีที่เป็นของส่วนตัวที่เจ้าของที่นำเข้ามาพร้อมกับตน ( Personal effects and accompanied with the owner)สำหรับใช้เอง หรือใช้ในวิชาชีพและมีจำนวนพอสมควร มีราคารวมกันไม่เกิน 2 หมื่นบาท ให้ได้รับยกเว้นภาษี , ส่วนบุหรี่ ได้รับยกเว้นภาษีกรณีนำเข้ามาไม่เกิน 200 ม้วน และ สุราไม่เกิน 1 ลิตร

ส่วนการรับแจ้งของมีค่าที่ผู้โดยสารนำติดตัวออกไปนอกราชอาณาจักร ก็ยังคงใช้ระเบียบเดิม กล่าวคือผู้โดยสารสามารถแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยาก เมื่อมีการนำของมีค่าเหล่านั้นกลับเข้าประเทศ เช่น การนำเครื่องเพชร ไปจัดแสดงในต่างประเทศ แล้วต้องนำกลับเข้ามาประเทศ

ส่วนประกาศกรมศุลกากรที่ 59/2561 ในเรื่อง วิธีการ Check Through นั้น ตามอนุบัญญัติใหม่ ภายใต้ กฎหมายศุลกากรบับใหม่ ยังใช้กฎเกณฑ์เดิม กล่าวคือ กรณีผู้โดยสารเดินทางเข้ามายังในประเทศ แล้วต่อต่อเครื่องบินไปยังสนามบินอื่นในประเทศ เช่น มาลงที่สุวรรณภูมิ แต่ต้องการต่อเครื่องบินไปจังหวัดภูเก็ต ให้การตรวจสัมภาระที่นำเข้ามาได้ที่สนามบินปลายทาง ในกรณีนี้ คือ ที่สนามบินภูเก็ต

ทั้งนี้ เพื่อให้การปฎิบัติพิธีการตรวจปล่อยผู้โดยสารและหีบห่อสัมภาระทั้งกรณีเปลี่ยนเที่ยวบินหรือโดยเที่ยวบินเดิม ระหว่างสนามบินภายในประเทศโดยวิธีการดังกล่าว เพื่อผ่านเข้ามาในหรือออกนอกราชอาณาจักรมีความสอดคล้องกับระบบFirst Port of Arrival และ First Port of Departure ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร และ สนับสนุนการท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรที่จะนำของมีค่าออกไป ซึ่งเป็นของเก่าที่ใช้แล้ว และมีจำนวนหรือปริมาณพอสมควร รวมทั้ง มีเครื่องหมาย เลขหมายที่สามารถตรวจสอบได้ เช่น นาฬิกา กล้องถ่ายวีดีโอ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์พกพา เพื่อเป็นหลักฐานในการขอรับการยกเว้นอากรในฐานะของใช้ส่วนตัวตอนนำติดตัวกลับเข้ามาพร้อมกับตน ให้แจ้งต่อพนักงานศุลกากร ณ ห้องที่ทำการศุลกากรบริเวณห้องผู้โดยสารขาออก เมื่อพนักงานศุลกากรตรวจสอบของที่นำออกไปแล้ว จะมอบใบรับแจ้งของมีค่าที่ผู้โดยสารนำติดตัวออกไปและจะนำกลับเข้ามาพร้อมกับตรเพื่อแสดงต่อพนักงานศุลกากรช่องแดงในวันเดินทางกลับประเทศไทย

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวว่า การออกประกาศ ฉบับดังกล่าวนั้น ถือเป็นเรื่องเดิมที่ปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่ได้มีอะไรใหม่ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ จึงทำให้ประกาศ หรือกฎหมายลูกภายใต้ พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับเก่า ถูกยกเลิกไปด้วย จึงต้องออกประกาศใหม่ อาทิ เรื่องการแจ้งของที่นำออกนอกประเทศ ก็เป็นเรื่องเดิม กล่าวคือ ถ้ามีของราคาแพงต้องการนำติดตัวไป เมื่อกลับเข้าประเทศแล้ว ไม่อยากสำแดงภาษีกับกรมศุลกากร ก็สามารถแจ้งกับเจ้าหน้าที่ก่อนนำของออกไป ถือเป็นความสมัครใจของผู้เดินทาง

ประกาศที่ 59/2561 เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติการศุลกากรในการตรวจปล่อยผู้โดยสารและหีบห่อสัมภาระระหว่างสนามบิน

ประกาศที่ 60/2561 เรื่อง “การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางอากาศยาน”