ศาลอาญา เริ่มใช้กำไลEMแล้ว 2 ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์-ครอบครองยาไอซ์

ศาลอาญา เริ่มใช้กำไลEMแล้ว 2 ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์-ครอบครองยาไอซ์

ศาลอาญา เริ่มใช้กำไล EM แล้ว 2 ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์-ครอบครองยาไอซ์ เน้นผู้ต้องหายากจนไร้หลักทรัพย์-เงินไม่พอ-คดีไม่เกิน 20 ปี

เมื่อวันที่ 6 มี.ค.61 เวลา 14.30 น.ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายบุญชู ทัศนประพันธ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา พร้อมคณะรองอธิบดีฯ ซึ่งดูแลการประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลย และนายชนุดม ปิติฤกษ์ เลขานุการศาลอาญา ร่วมแถลงข่าวและสาธิตการติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ที่ข้อเท้าผู้ต้องหารายที่ 2 ภายหลังจากได้เริ่มใช้กำไล EM เป็นอุปกรณ์การติดตามตัว กรณีพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ หรือไม่ใช้หลักทรัพย์ ตามโครงการของสำนักงานศาลยุติธรรมในศาลนำร่อง 23 ศาลที่เริ่มส่งกำไลให้ทั้ง 23 ศาลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา

28168820_10156206267257855_8691782590805848939_n


โดยผู้ต้องหารายที่ 2 ที่ศาลอาญาเริ่มใช้กำไล EM ดังกล่าว เป็นผู้ต้องหาชายคดีครอบครองยาไอซ์ ปริมาณ 0.17 กรัม ซึ่งข้อหาตามกฎหมายระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 4 ปี โดยผู้ต้องหาเป็นผู้ไม่มีหลักทรัพย์ และคดีโทษไม่เกิน 5 ปี ก็เข้าเกณฑ์ ซึ่งศาลอาญาได้สั่งให้ปล่อยชั่วคราวพร้อมใส่กำไลข้อเท้า EM โดยไม่ได้ใช้หลักทรัพย์และศาลไม่ได้สั่งจำกัดพื้นที่ในการเดินทาง อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่เริ่มใช้กำลัง EM ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ต้องหาหรือจำเลยหญิงใช้กำไล EM แต่อย่างใด ทั้งนี้ นายบุญชู ทัศนประพันธ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า หลังจากที่สำนักงานศาลยุติธรรม มีนโยบายการปล่อยชั่วคราวโดยใช้กำไล EM ในการติดตามตัว ศาลอาญาได้รับมอบกำไลมารวม 600 ชุด ซึ่งเริ่มใช้ผู้ต้องหาชายรายแรกไปเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ในคดีลักทรัพย์หรือรับของโจรโดยผู้ต้องหามีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ ซึ่งศาลก็พิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวด้วยการยื่นหลักทรัพย์ 20,000 บาทพร้อมกับติดกำไล EM แต่ก็ไม่ได้จำกัดขอบเขตและพื้นที่ในการเดินทางเพราะเห็นว่าลักษณะของผู้ต้องหานั้นไม่ได้มีเหตุที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือพื้นที่เกิดเหตุ โดยปรากฏเพียงว่าแค่เดินทางจากบ้านไปที่ทำงานเท่านั้น

อย่างไรก็ดีการพิจารณาว่าจะให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดได้รับการปล่อยชั่วคราวไป โดยใส่กำไล EM นั้นเป็นดุลยพินิจของศาลอาญา ซึ่งผู้ที่จะพิจารณาเรื่องการประกันตัว คือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทั้ง 3 คน สำหรับหลักเกณฑ์ที่พิจารณา คือผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นยากจน ไม่มีหลักทรัพย์ประกันหรือมีหลักทรัพย์เพียงบางส่วน หรือมีแนวโน้มว่าถ้าได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้วอาจจะหลบหนี ขณะที่ผู้สวมใส่ก็ต้องเป็นผู้ที่ให้ความสมัครใจด้วย แต่หากผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นมีหลักทรัพย์เพียงพออยู่แล้วก็เป็นการพิจารณาให้ประกันไปตามขั้นตอนปกติโดยไม่ต้องสวมใส่กำไล หรือถ้าเป็นกลุ่มที่ศาลจะไม่ให้ประกันอยู่แล้วก็จะไม่เข้าเกณฑ์ใช้กำไล EM และในกรณีที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยติดกำไลข้อเท้า EM แล้ว หากถึงเวลาที่ศาลนัดให้รายงานตัวแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นไม่มา ก็จะถือว่าผิดเงื่อนไขศาลอาจจะพิจารณาออกหมายจับและนำตัวมาขังโดยไม่ให้ใช้กำไล EM ต่อไปได้

ส่วนการจะพิจารณาว่า ต้องกำหนดขอบเขตพื้นที่เดินทางของผู้สวมใส่กำไล EM หรือไม่นั้น ก็เป็นดุลยพินิจของศาล ที่อาจจะดูได้จากท้ายคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนว่ามีการคัดค้านการให้ประกันด้วยเหตุผลว่าจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือจะหลบหนี หรือจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน หรือจะไปก่อเหตุร้ายใดอะไรหรือไม่ อย่างไรก็ดีการใช้กำไล EM ก็จะใช้ทั้งในชั้นฝากขังผู้ต้องหา , ชั้นพิจารณาคดีในชั้นศาล และเมื่อตัดสินแล้วก็สามารถใช้ในชั้นประกันตัวอุทธรณ์หรือฎีกาได้แต่ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป ส่วนลักษณะความผิดที่จะใช้คือคดีอัตราโทษไม่เกิน 5 ปี หรือหากคดีมีอัตราโทษเกิน 5 ปี หรือจำคุก 20 ปีก็อาจพิจารณาให้ใส่กำไล EM ในการติดตามตัวประกอบกับยื่นหลักทรัพย์ประกันด้วย แต่คดีผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ปริมาณมากปกติจะไม่ให้ประกันก็จะไม่พิจารณาใช้กำไล EM โดยในกลุ่มคดียาเสพติดหากใช้กำไล EM ก็จะเป็นคดีครอบครองไว้เพื่อเสพ ปริมาณยาเล็กน้อย ส่วนกลุ่มคดีผู้มีอิทธิพลนั้นถ้ามีแนวโน้มจะหลบหนี ก็อาจพิจารณาใช้กำไล EM ประกอบได้ สำหรับกลุ่มนักการเมืองที่มีคดีในศาลส่วนใหญ่มีความสามารถในการยื่นประกันอยู่แล้วก็คงไม่พิจารณาใช้ ซึ่งเราเน้นใช้กับผู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์จริงๆ

กลุ่มเป้าหมาย เราต้องการให้คนจนที่ไม่มีหลักทรัพย์ หลักประกันมายื่นกับเราโดยใช้ EM เป็นหลัก ส่วนคนที่มีอัตราโทษสูงและมีแนวโน้มว่าจะหลบหนี หรือยุ่งเหยิงหลักฐาน เราก็จะใช้ EM ประกอบการพิจารณาปล่อยชั่วคราว นายบุญชู กล่าวและว่า การใช้กำไล EM เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับสิทธิการปล่อยชั่วคราว และเข้าสู่กระบวนการตามวันนัดโดยมีกำไลเป็นเครื่องติดตามไม่ทำให้การพิจารณาคดีต้องสะดุดลงเพราะหลบหนี อย่างไรก็ดีขณะนี้การใช้กำไล EM อยู่ในช่วงทดลอง ศาลอาญาจะประเมินผลทุกเดือน ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมก็มีความประสงค์จะใช้กำไลนี้เยอะๆ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำที่เป็นการลดภาระในเรือนจำ ทั้งนี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังกล่าวอธิบายถึงการปล่อยชั่วคราวผ่านระบบประเมินความเสี่ยง กับการปล่อยชั่วคราวโดยใช้กำไล EM ว่า ระบบประเมินความเสี่ยง เป็นการประเมินโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ที่ให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ไม่เกี่ยวกับการใช้กำไล EM แต่เราสามารถนำ 2 ส่วนมาใช้คู่กันได้ เช่น หากเราประเมินความเสี่ยงของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นแล้วพบว่าเขายังมีความเสี่ยงที่จะหลบหนีอยู่บ้าง แต่เราให้ประกันโดยนำเอากำไล EM เข้ามาใช้ควบคู่กันได้ในการติดตามตัว ขณะที่ นายบุญชู กล่าวย้ำถึงความปลอดภัยของผู้ที่ติดกำไลข้อเท้า EM ว่า จากข้อมูลของสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศของศาลยุติธรรม กำไลนี้เป็นอุปกรณ์ที่มีความปลอดภัย สามารถกันน้ำ กันกระแทก ไม่สามารถตัดขาดได้ เพราะหากตัดขาดก็จะมีการแจ้งเตือนมาที่ศูนย์ควบคุม ส่วนกรณีที่เครื่องชำรุดเสียหาย เราก็จะพิจารณาดูว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ทำลายหรือชำรุดจากการใช้เอง ส่วนการชาร์จไฟสำหรับแบตที่ใช้กำไล EM ก็จะมีก้อนแบตสำรองหรือเพาเวอร์แบงค์ให้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการแถลงข่าวได้มีการพาสื่อมวลชนไปดูการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมและติดตามการปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring Center) ซึ่งภายในห้องจะมีจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่เรียงติดต่อกัน ปรากฏภาพแผนที่ระบุจุดพิกัดตาม GPS ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้สวมใส่กำไล EM โดยศูนย์นี้ก็จะรับข้อมูลของผู้ต้องหาหรือจำเลยทั่วประเทศที่ได้ใช้กับศาลนำร่องทั้ง 23 ศาล ซึ่งปัจจุบันนี้มีรายงานว่า ได้มีการติดกำไล EM ให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วประมาณ 5-6 ราย ประกอบด้วยศาลจังหวัดมีนบุรี 1 ราย ศาลอาญากรุงเทพใต้ 1 ราย ศาลอาญา 2 ราย และที่เหลือเป็นศาลจังหวัดนครปฐม โดย นายชนุดม ปิติฤกษ์ เลขานุการศาลอาญา ได้อธิบายว่า ศูนย์ควบคุม EM ดังกล่าวจะทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ถูกปล่อยชั่วคราว โดยใช้กำไล EM ซึ่งศูนย์ฯ จะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่ประจำการตลอด ทั้งนี้เมื่อผู้ต้องหาเริ่มสวมกำไล ก็จะมีสัญญาณปรากฏที่ศูนย์ควบคุม EM ทันที จากการมอนิเตอร์เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวอยู่ในพื้นที่ที่ศาลกำหนดไว้หรือไม่ ถ้าออกนอกพื้นที่หรือฝ่าฝืนคำสั่ง ตัวกำไล EM จะส่งสัญญาณมาทางศูนย์ควบคุมทุก 2 นาที เมื่อทางศูนย์ได้รับสัญญาณก็จะแจ้งไปยังศาลที่ออกคำสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย จากนั้นหากพบว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ก็จะประสานไปยังตำรวจจับกุมตัวมาเพื่อไต่สวนว่าเหตุใดจึงกระทำผิดเงื่อนไข EM ซึ่งศาลจะมีผู้พิพากษาเวรที่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว

ด้าน นายกำพล รุ่งรัตน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้ดูแล ศูนย์ควบคุม EM กล่าวย้ำว่า ระบบปฏิบัติการของศูนย์ สามารถดำเนินการตรวจสอบพิกัด รวมทั้งบันทึกข้อมูลพิกัดต่างๆ ได้ แม้ว่าถ้าเกิดไฟดับ เนื่องจากเรามีระบบไฟสำรองที่จะทำให้ระบบดำเนินการได้ต่อเนื่องจึงไม่มีปัญหาในการตรวจสอบสัญญาณแน่นอน