หุ่นยนต์ช่างเชื่อม จุดสตาร์ทเอสเอ็มอีไทย

หุ่นยนต์ช่างเชื่อม จุดสตาร์ทเอสเอ็มอีไทย

หุ่นยนต์แขนกลสำหรับเอสเอ็มอี มีศักยภาพทดแทนแรงงานคนได้ 3-10 คนในราคาที่ยอมรับได้ เป็นอีกหนึ่งความพยายามของสถาบันไทย-เยอรมันที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยรับรู้ เข้าถึงและพัฒนาเทคโนโลยี

หุ่นยนต์แขนกลสำหรับเอสเอ็มอี มีศักยภาพทดแทนแรงงานคนได้ 3-10 คนในราคาที่ยอมรับได้ หรือคาดว่าตัวละไม่เกิน 4.5 แสนบาท เป็นอีกหนึ่งความพยายามของสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยรับรู้ เข้าถึงและพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์สัญชาติไทย


ปัญหาแรงงานในภาคการผลิตเปิดโอกาสให้ “หุ่นยนต์และระบบผลิตอัตโนมัติ” เข้ามามีบทบาทสำคัญในสถานประกอบการทั้งขนาดใหญ่และระดับเอสเอ็มอี โดยในประเทศไทยมีอัตราการใช้หุ่นยนต์ 58 ตัวต่อประชากรแรงงาน 1 หมื่นคน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ 70 ตัวต่อประชากรแรงงาน 1 หมื่นคน ส่วนหนึ่งเพราะผู้ประกอบการไทยเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดังกล่าว


ลุ้น 300 เอสเอ็มอีใช้ระบบอัตโนมัติ


นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) กล่าวถึงภาพรวมการผลิตหุ่นยนต์ในไทยว่า มีผู้ผลิตประมาณ 200 ราย ซึ่ง 70-80% เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบและติดตั้งซอฟต์แวร์ระบบอัตโนมัติ หรือเรียกว่า SI (System Integrator) ส่วนใหญ่นำเข้าจากญี่ปุ่นและยุโรป แต่คาดว่าอีก 5 ปีกลุ่มเอสไอจะเข้มแข็งขึ้นกระทั่งสามารถยกระดับศักยภาพไปเป็นผู้ผลิต จะทำให้จำนวนผู้ประกอบการหุ่นยนต์ไทยเพิ่มเป็น 1,400 ราย สอดคล้องกับความต้องการในภาคการผลิต


“เอสไอของไทยเก่งมาก มีทักษะในการผสมผสานหุ่นยนต์ฯ ที่มาจากแหล่งผลิตต่างกัน ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือตอบโจทย์ความต้องการของเอสเอ็มอีเฉพาะราย ซึ่งเป็นคนละตลาดกับหุ่นยนต์จากต่างประเทศที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย จึงเหมาะกับการผลิตที่ลักษณะงานมีความซับซ้อน เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์”


ขณะนี้รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในปีนี้ตั้งเป้าเอสเอ็มอีใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 300 ราย จากเดิมที่เน้นการใช้แรงงานและภายใน 3 ปีทางกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าว่าจะเพิ่มขึ้น 1 หมื่นราย ด้วยการเข้าไปสนับสนุนทั้งผู้ใช้และเอสไอ โดยจะพยายามผลักดันให้เป็นผู้สร้างหุ่นยนต์ในระดับที่เอสเอ็มอีใช้ได้ทั้งในเรื่องราคาและสมรรถนะ
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการส่งเสริม ภาครัฐหรือหน่วยงานด้านการวิจัยควรจะเข้ามาช่วยศึกษาหาแนวทางสร้างชิ้นส่วนที่ยังต้องนำเข้าให้มีราคาถูกลงหรือผลิตได้เองในประเทศ เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง ยกตัวอย่าง   สถาบันฯ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมจะคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ 4 รายเข้ารับการส่งเสริมการผลิตหุ่นยนต์ที่เข้ามาช่วยในอุตสาหกรรมการผลิตของเอสเอ็มอี นำร่องด้วยหุ่นยนต์ช่วยงานเชื่อม ทดแทนการนำเข้าซึ่งจำหน่ายตัวละ 1 ล้านบาท จะทำให้เอสเอ็มอีไทยตัดสินใจใช้หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติง่ายขึ้น
“เราต้องการสร้างการรับรู้และผู้ใช้ในกลุ่มเอสเอ็มอีให้มากขึ้น ทำให้ระบบการผลิตอัตโนมัติแพร่หลายขึ้น ไม่ต้องมีความละเอียดซับซ้อนเหมือนกับหุ่นยนต์ประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่ผู้ให้บริการติดตั้งระบบอัตโนมัติจะต้องพัฒนาให้มีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และเมื่อมีประสบการณ์ ความสามารถระดับหนึ่งจะสามารถสร้างหุ่นยนต์ในแบบฉบับของตนเอง ที่สามารถสนองตอบความต้องการทั้งในไทยและประเทศในอาเซียน”


หน่วยงานวิจัยเดินหน้าสนับสนุน


ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ฯ เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) แม้ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังใช้กำลังคนประมาณ 85% แต่ผู้ประกอบการมากกว่า 50% มีแผนจะลงทุนเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์ฯภายใน 1-3 ปี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ฯ ไม่น้อยกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท และภายใน 3 ปีจะต้องไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท
ล่าสุด ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย (Center of Robotics Excellence : CoRE) โดยสถาบันไทย-เยอรมัน ซึ่งเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นแกนประสานกับหน่วยงานวิจัย เช่น สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ทางการแพทย์
นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังพยายามแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และภาคเอกชนในต่างประเทศที่เข้าช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อร่นระยะเวลาพัฒนาให้ก้าวสู่เป้าหมายที่วางไว้ว่า ภายใน 10 ปี ประเทศไทยจะเป็นผู้นำทั้งผู้ใช้และผู้สร้าง