เด็กไทยเจ๋ง!! โชว์ผลงานด้านไอซีที

เด็กไทยเจ๋ง!! โชว์ผลงานด้านไอซีที

เปิดตัวเยาวชนไทย แชมป์ "Thailand ICT Youth Challenge 2017" โชว์ผลงานรู้ใช้ รู้เข้าใจ รู้สร้างสรรค์ มุ่งพัฒนาทักษะสารสนเทศ สื่อ และ เทคโนโลยี ในรูปแบบของการแข่งขันตามช่วงชั้นต่างๆ

"Thailand ICT Youth Challenge 2017" อีกหนึ่งเวทีที่ให้เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถ ซึ่งปีนี้เป็นการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จัดโดย สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDE) และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้แนวคิด "Digital Literacy for 21st Century Education" เตรียมความพร้อมของเด็กไทย ในการก้าวสู่ยุคศตวรรษที่ 21 อย่างรู้ใช้ รู้เข้าใจ รู้สร้างสรรค์

โดยมุ่งพัฒนาทักษะสารสนเทศ สื่อ และ เทคโนโลยี ในรูปแบบของการแข่งขันตามช่วงชั้นต่าง ๆ คือ 1.ประถมศึกษาตอนปลาย โปรแกรมเพาเวอร์พอย บอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์หรือองค์กรแห่งอนาคต Corporate or Brand Doing Good 2.มัธยมศึกษาตอนต้น ภาพยนตร์สั้น สร้างสรรค์จินตนาการผ่านบทภาพยนตร์ ภาพและเสียงถึงแบรนด์หรือองค์กรว่านี่คือ My Corporate : My Brand3.มัธยมศึกษาตอนปลาย Mobile Application เพื่อ Creative Design ของแอปพลิเคชันสำหรับองค์กรหรือแบรนด์สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างภาพลักษณ์ที่ดี Always be with you

นายดิลก คุณะดิลก กรรมการสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย กล่าวว่าโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยทั่วประเทศได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆโดยใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ผ่านการเรียนรู้และนำเสนอเป็นผลงานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งทุกปีเยาวชนจะนำเสนอผลงานที่สะท้อนในหลายเรื่อง ทำให้ได้เห็นความคิด จินตนาการ ความรู้สึก มุมมอง และความสามารถของเด็กได้เป็นอย่างดี

เวทีนี้ เป็นเวทีที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกถึงศักยภาพของตนเอง และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่พวกเขาในอนาคต ยุคนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ ฉะนั้นต้องทำให้เด็กเข้าใจ พร้อมเรียนรู้ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในทางสร้างสรรค์ รวมถึงต้องรู้จักการถ่ายทอดที่ดีด้วย ความร่วมมือในหลายหน่วยงานที่จัดกิจกรรมดังกล่าวต่อเนื่องมาสู่ปีที่ 4 จะช่วยสร้างเด็กให้รู้ เข้าใจ และใช้งานจากเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง

กิจกรรม "Thailand ICT Youth Challenge 2017" มีผู้สนับสนุนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน บริษัท ซัมมิท แคปปิตอล ลีสซิ่ง จำกัด และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

นายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางดีแทค พร้อมให้การสนับสนุนโครงการนี้มาตลอด เพราะเรามีนโยบายในการส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชนไทยให้มีศักยภาพและมีความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยให้เยาวชนไทยรู้จักการใช้ และสร้างประโยชน์ได้ รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักรู้สำหรับผู้ที่ไม่รู้ ให้รู้ใช้ รู้เข้าใจ และรู้สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

"ดีแทคให้ความสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์มาช่วยพัฒนายกระดับเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งในส่วนของสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDE) มีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กไทยได้แสดงผลงานอย่างเต็มที่ อย่างการคิดค้นแอปพลิเคชันต่างๆ ทุกปี เด็กจะคิดสิ่งดีๆ ออกมา และในโครงการจะมีกิจกรรมเสริม เพื่อให้เด็กได้ไปต่อยอด ซึ่งหลังจากประกาศผลแล้ว เด็กๆต้องไปต่อยอดผลงานเหล่านั้น เป็นการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้เทคโนโลยีอย่างเข้าใจและรู้จักใช้ สร้างประโยชน์จากสิ่งที่เรียนรู้ได้จริงๆ" นายเลิศรัตน์ กล่าว

ทุกโครงการที่จัดขึ้นจะไม่เกิดผล หากได้รับเพียงรางวัลแล้วจบไป นายเลิศรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้เยาวชนเปิดโอกาสให้ตัวเองในการเข้าร่วมการแข่งขัน เพราะทุกเวทีล้วนมีประสบการณ์ดีๆ ทำให้เยาวชนได้เห็นความสามารถ ศักยภาพ และความต้องการของตนเอง อีกทั้งได้รู้จักการค้นหาข้อมูล เพิ่มช่องทางและโอกาสในชีวิต

การใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันล้วนเกี่ยวข้องกับมือถือและเทคโนโลยี 2 หนุ่ม ดร๊าฟ นายปรมินทร์ สุขแสวง และสตางค์ นายชาญเอก สุวรรณวัฒน์ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ลพบุรี เจ้าของผลงานแอปพลิเคชันโอสภ (Osod)ชนะเลิศ Mobile Application เพื่อ Creative Design ของแอปพลิเคชันสำหรับองค์กรหรือแบรนด์ เล่าว่า รู้จักโครงการดังกล่าวจากครูที่ปรึกษา จึงได้เข้าร่วม และได้คิดแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการเตือนให้กินยา เพราะจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีผู้ที่เสียชีวิตจากการกินยาเกินขนาด กินยาไม่ตรงเวลา ทำให้การรักษาก็ไม่ได้ดีขึ้น และดูจากคนใกล้ตัว อย่าง ปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่ บางทีก็ลืมกินยา จึงมองว่าหากคิดแอปพลิเคชันที่คอยเตือนเวลากินยาน่าจะดี และได้ลงมือพัฒนาคิดแอปพลิเคชันดังกล่าวมาตลอดระยะเวลา2 ปี จนตอนนี้ พัฒนาสำเร็จ เปิดใช้ได้ในระบบแอนดรอย์ และสามารถช่วยผู้ป่วย ผู้ที่ต้องทานยาได้จริงๆ

แอปพลิเคชั่นโอสภ (Osod) ผลงานของนักเรียนที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ความคิด และความสามารถของเด็กไทยที่ร่วมแก้ปัญหา สตางค์และดร๊าฟ ช่วยกันเล่าต่อว่าตอนนี้ทุกคนใช้แอปพลิเคชันมากมาย แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ของคนไทยคิด กิจกรรมครั้งนี้ ช่วยเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถตามที่ตนเองต้องการ และช่วยให้เด็กมีเวทีได้เรียนรู้ เปิดโลกทัศน์ รู้จักการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น อย่าง สตางค์ คิดและลงมือทำแอปพลิเคชัน แต่ดร๊าฟ จะเป็นคนคิดกราฟฟิค ซึ่งการคิดและทำกราฟฟิค ทำให้ได้มุมมองในการทำงานต่างๆ เพราะต้องค้นหาข้อมูล ขอคำแนะนำจากทั้งครูผู้สอน และพี่ๆเพื่อนๆที่เข้ามาค่ายร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ มุมมองความคิดมากมาย อยากให้มีการจัดกิจกรรมแบบนี้เรื่อยๆ เพื่อเด็กทุกคนได้มีโอกาสแสดงความรู้และความสามารถของตนเองมากขึ้น รวมถึงยังเป็นการปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้การใช้ข้อมูลจากโลกเทคโนโลยีได้ดียิ่งขึ้น

ด้าน 2 หนุ่ม น้องจูโน่ ด.ช.ณภัทร อุนนะนันทน์ และน้องคอปเฏอร์ ด.ช.สิรศิษจ์ ณ เชียงใหม่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ชนะเลิศภาพยนตร์สั้น สร้างสรรค์จินตนาการผ่านบทภาพยนตร์ ภาพและเสียงถึงแบรนด์หรือองค์กรว่านี่คือ My Corporate : My Brand ช่วยกันเล่าว่าพวกเขาชอบและสนใจทำหนังสั้นอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาก็มีการทำหนังสั้นส่งเข้าประกวด แต่ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้รู้สึกดีใจมากและมีกำลังใจในการทำหนังสั้นเข้าร่วมในโครงการต่างๆ

"ชอบทำหนังสั้น เพราะเป็นคนชอบดูหนัง ซึ่งเนื้อเรื่องที่นำเสนอนั้น เป็นการคิดโครงเรื่องโดยนำเรื่องใกล้ๆตัว เด็กปั่นจักรยานแล้วมาเจอ MCOT แล้วทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น เพราะได้รู้จักกับเทคโนโลยี โดยการถ่ายทำต่างๆ ได้เรียนรู้ทำเองทุกขั้นตอน เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากนั้น ยังทำให้ได้เรียนรู้การทำงานกับเพื่อนๆด้วย เนื่องจากนักแสดงต่างๆ ล้วนเป็นเพื่อนๆในชั้นเรียน อยากให้มีการจัดประกวดหนังสั้นบ่อยๆ จะได้เป็นเวทีให้เด็กได้ประลองฝีมือ ฝึกฝนการทำหนังสั้น การใช้เทคโนโลยี เรียนรู้และรู้จักการใช้ข้อมูลต่างๆ และที่สำคัญทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้จะได้เข้าค่าย ได้รู้จักเพื่อนๆจากหลายโรงเรียน ได้ไอเดียและแรงบันดาลใจในการทำหนังสั้นมากขึ้น อยากให้มีการจัดกิจกรรมแบบนี้ไปเรื่อย เพื่อเป็นโอกาสแก่เด็กๆต่อไป"น้องจูโน่ ผู้กำกับหนังสั้นกล่าว

2 สาวบนดอย น้องวันใส ด.ญ.มลิษา ปรางมาท และน้องเจน ด.ญ.รุ่งหฤทัย ดาวเงิน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนทาเหนือวิทยา ชนะเลิศโปรแกรมเพาเวอร์พอย บอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์หรือองค์กรแห่งอนาคต Corporate or Brand Doing Goodกล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ชนะเลิศในการประกวดครั้งนี้ เพราะเป็นครั้งแรกที่เข้าร่วม ซึ่งรู้จักโครงการดังกล่าวจากคำแนะนำของครูภูริเดช สุขนันท์ ครูสอนวิชาคอมพิวเตอร์ และเราสองคนสนใจการทำเพาเวอร์พอย โดยเพาเวอร์พอยที่นำเสนอ จะเน้นการสื่อสารเข้าใจง่าย โดยนำข้อมูลของธนาคารออมสินมาใช้ จัดแบ่งหมวดหมู่อย่างเข้าใจ และสวยงาม

"กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ดีและมีประโยชน์มาก เพราะได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ได้รู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม อย่างวันใส ถนัดทำเพาเวอร์พอย แต่ภาษาไทยที่ใช้อาจไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เนื่องจากเป็นเด็กกะเหรี่ยง แต่เจน จะเก่งภาษาไทยก็จะแบ่งหน้าที่กันและได้เรียนรู้การค้นหาข้อมูล การนำข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ เปิดประสบการณ์ โลกทัศน์การเรียนรู้ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จึงอยากขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกคนที่จัดกิจกรรมดังกล่าว"น้องวันใสและน้องเจน กล่าวประสานเสียง