หัวกะทิเอ็มไอที สร้างเกษตรอัจฉริยะไทย

หัวกะทิเอ็มไอที สร้างเกษตรอัจฉริยะไทย

ความสำเร็จของสตาร์ทอัพที่สปินออฟจากเอ็มไอที โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาเติมเต็มให้กับภาคการเกษตร “รีคัลท์” (Ricult) ประสบความสำเร็จจากปากีสถานก่อนขยายมาในไทย นำร่องช่วยเกษตรกรไร่ข้าวโพดในสระบุรี และเตรียมขยายสู่กลุ่มมันสำปะหลัง

เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ ด้วยความรู้ด้านการเกษตร ข้อมูลสภาพอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม ด้วยเทคโนโลยีข้อมูลเชิงพื้นที่ประกอบกับปัญญาประดิษฐ์ในการให้คำแนะนำการเพาะปลูกให้ตรงกับสภาพพื้นที่จริง เพื่อให้เพาะปลูกได้อย่างแม่นยำและผลผลิตมีคุณภาพสูงสุด เป็นจุดแข็งที่ “รีคัลท์” นำมาเสริมแกร่งให้เกษตรกร

ช่วยเกษตรกรทำงานแม่นยำ

รีคัลท์ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่เรียนบริหารจัดการจากเอ็มไอทีทั้งอเมริกัน จีน ปากีสถาน และไทย ที่ต้องการสร้างเครื่องมือที่จะแก้ปัญหาด้านการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เป็น 1 ใน 4 ทีมที่ชนะแคมเปญ Chivas Venture ปี 4 ที่เฟ้นหาสุดยอดนักธุรกิจที่ทำกิจการและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคม ทั้งกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น (Start-Up Stage) หรือช่วงธุรกิจพัฒนา (Growth Stage) รับเงินทุนสนับสนุนในระดับประเทศ 1 ล้านบาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันต่อในเวทีระดับสากลชิงส่วนแบ่งในเงินรางวัล 1 ล้านดอลลาร์ ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

อุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร รีคัลท์ประเทศไทย กล่าวว่า Ricult มาจากพยางค์กลางของคำว่า Agriculture ที่แปลว่าเกษตรกรรม ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นตัวกลางเชื่อมการเกษตรเข้าสู่โลกอนาคต โดยเชื่อว่า โลกพร้อมแล้วสำหรับการปฏิวัติเกษตรและการเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกร

“เป้าหมายหลักของเราไม่ใช่องค์กรการกุศล แต่เรามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำการปรับเปลี่ยนชุมชนให้ร่วมก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่ง สิ่งที่รีคัลท์ต้องการคือ เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนกับการเพิ่มผลผลิตในแปลงปลูก ที่สามารถใช้เทคโนโลยีเดียวกันในการแก้ปัญหาได้ทั้งสองเรื่อง”

ปากีสถานเป็นประเทศเป้าหมายแรกโดยมุ่งที่ไร่ข้าวโพด เพราะสามารถทำไร่ข้าวโพดได้ตลอดทั้งปีด้วยระบบชลประทานที่เอื้ออำนวย และเป็นการปลูกแปลงเล็กที่ดูแลได้ทั่วถึง แต่ปัญหาหลักคือ เทคโนโลยียังไม่พร้อม สมาร์ทโฟนมีราคาแพงและปัญหาการขยายผลผลิตที่ได้เงินหลังการขายนานกว่าเดือน

อุกฤษ กล่าวว่า ในปากีสถานนั้น เทคโนโลยีที่ใช้เป็นเรื่องของการวางแผนเพาะปลูกและวางระบบแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น การซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ปุ๋ย ฯลฯ รวมถึงระบบรับซื้อที่สามารถจ่ายเงินทันที ตอบโจทย์เกษตรกรทำให้การตอบรับดี แต่เมื่อขยายเข้ามาในไทย ปัญหาที่มีแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ไร่ข้าวโพดของไทยปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับฟ้าฝน และส่วนใหญ่เป็นแปลงขนาดใหญ่ สิ่งจำเป็นคือ เรื่องของข้อมูล รีคัลท์ก็ต้องปรับแบบจำลองให้เหมาะกับเกษตรกรไทย