'กนอ.' เร่งขยายศูนย์ 'SME-ITC' หนุนสตาร์ทอัพ

'กนอ.' เร่งขยายศูนย์ 'SME-ITC' หนุนสตาร์ทอัพ

"กนอ." เร่งขยายศูนย์ "SME – ITC" 12 แห่ง พร้อมตั้งเป้าพัฒนาสตาร์ทอัพ 5 กลุ่มให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า โครงการจัดตั้งศูนย์ SMEs Industrial Transformation Center หรือ SME – ITC นอกจากจะมีเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้วยังจะส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพ ทั้งในเรื่องของการต่อยอดธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ สอดคล้องกับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นกลไกสำคัญเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโตขึ้น โดยศูนย์จะมุ่งเน้นสร้างระบบนิเวศ หรือ Startup Ecosystem เพื่อให้เกิดบรรยากาศและโครงสร้างพื้นฐานเอื้อต่อการผลิตสตาร์ทอัพให้มีคุณภาพ พร้อมหนุนแนวคิดหรือโมเดลธุรกิจเกิดใหม่ ๆ ให้สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ศูนย์ฯ เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแล้วที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง พร้อมขยายโครงการฯ ระยะที่ 1สู่นิคมอุตสาหกรรมอีก 9 พื้นที่ ได้แก่ นิคมฯ ลาดกระบัง นิคมฯ ภาคเหนือ นิคมฯ ภาคใต้ นิคมฯ บางปะอิน นิคมฯ อมตะนคร นิคมฯ มาบตาพุด นิคมฯ บางปู นิคมฯ สมุทรสาคร และนิคมฯ บางชัน ซึ่งจะใช้งบประมาณเบื้องต้น 20 ล้านบาท และจะทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2561 ส่วนแผนขยายโครงการฯ ระยะ 2 จะพัฒนาต่อไปอีก 3 พื้นที่ ได้แก่ นิคมฯ ราชบุรี นิคมฯ เกตเวย์ นิคมฯ อัญธานี โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงสิ้นปีนี้

สำหรับรูปแบบการบ่มเพาะสตาร์ทอัพของศูนย์ SME - ITC มีองค์ประกอบสำคัญ 6 ส่วน ได้แก่ Co-Working Space พื้นที่เพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ Sand Box สนามทดลองและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ พร้อมด้วยบริการเครื่องมือทันสมัย เช่น เครื่องพิมพ์ 3D เครื่องสแกน 3D Experts Pool บริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอุตสาหกรรมKnowledge Center บริการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ และศูนย์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ Network Creation การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน อาทิ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (ITC) ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (BSC) รวมทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน และบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพในการเป็น Big Brother รวมกว่า 50 บริษัท และSMEs Standard Factory โรงงานสำเร็จรูปเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพที่มีความพร้อมในการจัดตั้งกิจการพื้นที่ละประมาณ 500 - 1,000 ตารางเมตร

นายวีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กนอ.ตั้งเป้าที่จะพัฒนาสตาร์ทอัพ 5 กลุ่มให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คือ สตาร์ทอัพด้านอี-คอมเมิร์ซ สตาร์ทอัพด้านสุขภาพและเครื่องมือการแพทย์ สตาร์ทอัพด้านการเกษตรและอาหาร สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีใหม่ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม และสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ ซึ่งการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพเหล่านี้จะสอดรับกับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและอุตสาหกรรมเป้าหมายของพื้นที่แต่ละนิคม ได้แก่ กลุ่มยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ในนิคมฯ แหลมฉบัง กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ แปรรูปอาหาร หุ่นยนต์ ในนิคมฯ ลาดกระบัง กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อาหาร เกษตรแปรรูป ในนิคมฯ ภาคเหนือ จ.ลำพูน กลุ่มเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ยางพารา ในนิคมฯ ภาคใต้ จ.สงขลา กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ในนิคมฯ บางปะอิน กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องไฟฟ้า ในนิคมอุฯ อมตะนคร กลุ่มพลาสติก โลจิสติกส์ ในนิคมฯ มาบตาพุด กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ในนิคมฯ บางปู กลุ่มแปรรูปอาหาร ในนิคมฯ สมุทรสาคร และกลุ่มแปรรูปอาหาร บริหารจัดการโลจิสติกส์ ในนิคมฯ บางชัน