RESLOG แอพขนส่งผลเลือด

RESLOG แอพขนส่งผลเลือด

ไอเดียนี้มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และมีตัวเลขของกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน

การเจาะเลือดผู้ป่วยติดเตียงที่มักประสบปัญหาในด้านการขนส่งซึ่งมีข้อจำกัดต้องขนส่งเลือดภายใน 2 ชั่วโมง ในอุณหภูมิต้องไม่เกิน 10 องศา ตรงนี้เป็นการทำงานที่ทีม RESLOG

นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่าเป็นปัญหาและคงจะดีกว่าหากมีเทคโนโลยีด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพเข้ามาสนับสนุนการทำงาน 

ตรงกันข้าม หากจัดส่งเลือดล่าช้า ผลกระทบทางตรงที่จะเกิดขึ้นคือคุณภาพของเลือดที่เจาะจะไม่ได้มาตรฐาน ค่าของเลือดที่อ่านอาจมีความคลาดเคลื่อนซึ่งไม่เป็นผลดีกับผู้ป่วย

RESLOG เป็นในลักษณะผู้ให้บริการโลจิสติกส์ มีหน้าที่ในการให้บริการเชื่อมต่อข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านไอทีต่างๆ และการขนส่ง ด้วยการใช้หลักโลจิสติกส์ในการออกแบบการขนส่งให้มีลักษณะการขนส่งที่วนรอบขอบเขตพื้นที่ที่ให้บริการ ใช้มอเตอร์ไซค์สามารถวิ่งได้โดยมีการคำนวณระยะทางในการวิ่งไปกลับ 

จากการทดสอบการทำงาน ใช้ ม.รังสิตเป็นศูนย์กลางและกระจายออกไป 30 ตารางกิโลเมตร จากนั้นจึงหาว่าในพิกัดมีแลปตรวจเลือด วัดผลเลือดที่ไหนบ้าง แล้วนำแลปเหล่านั้นเป็นศูนย์กลาง และวิ่งกระจายไปอีก 30 ตารางกิโลเมตร 

ผาณิตา ถนัดพจนามาตย์ นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต สมาชิกทีม RESLOG กล่าวว่า สิ่งที่ทีมจะต้องนำเสนอคือ การเขียนแผนธุรกิจมาตามโมเดล Business Canvas  

 ในทีมมีด้วยกัน 5 คน ที่ต้องช่วยกันรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอแผน ซึ่งข้อมูลที่นำมาอ้างอิงเกี่ยวกับผู้ป่วยติดเตียงก็นำมาจากภาครัฐโดยตรง และไอเดียตรงนี้มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ มีตัวเลขของกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน งบประมาณมีความเป็นไปได้สำหรับธุรกิจในอนาคตที่ผ่านมาเคยมีการทำวิจัยเรื่องของการขนส่งเลือด แต่ไม่มีการทำธุรกิจขนส่งเลือดหรือบริการขนส่งทางด้านการแพทย์โดยตรง 

“มองว่าโมเดลธุรกิจดังกล่าวนี้มีความน่าสนใจและมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจค่อนข้างสูง”

RESLOG จึงเกิดขึ้นเพื่อการผสานความร้วมมือของผู้ป่วย นักเทคนิคการแพทย์ ห้องปฏิบัติการทางคลินิคและจัดการการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ

“ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือผู้ได้ประโยชน์จากแนวความคิดนี้ทั้งสิ้น อย่างที่เราพอจะทราบกันดีว่า สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยตั้งแต่ปี2561 จะมีผู้สูงอายุมากกว่าเด็กคิดเป็นสัดส่วน1ใน5 ขอบประชากรทั้งหมด”

จากจำนวนของผู้สูงอายุทั้งหมดในประเทศ พบว่าร้อยละ10 (ข้อมูล ณ ปี2560 คือ 1.17ล้านคน) เป็นผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง(ติดบ้าน ติดเตียง มีโรคเรื้อรัง) ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจรักษาโรคเป็นประจำทุกๆ1-2เดือน การเคลื่อนย้ายเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูง รวมไปถึงต้องใช้เวลาของผู้ดูแลที่อาจจะต้องมีภาระการทำงาน หรือ อาจต้องลางานเพื่อไปทำหน้าที่ดูแล

ด้วยการทำงานของ RESLOG สามารถเข้าไปแก้ปัญหาในจุดนี้ได้ โดยการจัดการคัดเลือกนักเทคนิคการแพทย์ให้เข้าไปเจาะเลือดที่บ้านผู้ป่วย เป็นการเพิ่มรายได้เสริมให้นักเทคนิคการแพทย์ เมื่อทำการเจาะเลือดเสร็จแล้วก็จะส่งคนขนส่งเลือดให้ไปรับเลือดและมาส่งยังห้องปฏิบัติการทางคลินิค

ผาณิตา อธิบายการทำงานว่า นักเทคนิคการแพทย์และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในชุมชมที่มีความประสงค์จะร่วมงานกับเราจะทำการลงชื่อและกรอกข้อมูลสำคัญๆในระบบ เมื่อผู้ป่วยทำการติดต่อมายังระบบ RESLOG จะทำการเลือกจับคู่นักเทคนิคการแพทย์กับบ้านผู้ป่วย โดยจะเลือกนักเทคนิคการแพทย์ที่จะอยู่ใกล้บ้านผู้ป่วยมากที่สุด ทำการนัดหมายเวลากับผู้ป่วยและนักเทคนิคการแพทย์ จากนั้นระบบจะทำการนักหมายรถขนส่งเลือดให้เตรียมตัวออกไปรับเลือด เมื่อนักเทคนิคการแพทย์ทำการเจาะเลือดเป็นที่เรียบร้อย รถมอเตอร์ไซต์ขนส่งจะเข้าไปทำการจัดเก็บเลือดยังบ้านต่างๆของลูกค้า พร้อมกับรายงานเวลาการปฏิบัติการมายังระบบ

ระบบจะส่งข้อมูลไปยังห้องปฏิบัติการทางคลินิคเพื่อให้เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการทดสอบเลือดทันทีที่เลือดส่งไปถึง เมื่อมอเตอร์ไซต์วิ่งไปส่งเลือด ห้องปฏิบัติทางคลินิคจะดำเนินการจนได้ผลเลือดมาแล้วจะส่งผลเลือดนั้นส่งเข้าระบบ ซึ่งระบบจะทำการส่งผลเลือดไปยังผู้ป่วยเพื่อให้นำไปพบแพทย์และทำการวินิจฉัยในลำดับถัดไป"

ในกระบวนการทำงาน มีการใช้ GPS เพื่อติดตามตำแหน่งของรถขนส่ง ทำให้รู้ตำแหน่งการเคลื่อนที่ของรถแบบ Real Time เพื่อที่จะสามารถจัดการควบคุมเวลาการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และเพื่อส่งข้อมูลไปยังห้องปฏิบัติการทางคลินิคให้เตรียมความพร้อมในการจัดการกับเลือด

นอกจากนี้ ในส่วนของ Packaging เพื่อการจัดส่ง ทางทีมใช้เป็นกล่องโฟมที่มีน้ำหนักเบา สะดวกในการเคลื่อนย้าย ทำเป็นช่องสำหรับใส่น้ำแข็งแห้ง ซึ่งได้ทำการทดลองแล้วพบว่า สามารถรักษาอุณหภูมิของเลือดให้อยู่ในระดับ2-10 องศาเซลเซียส ภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง เป็นไปตามค่ามาตรฐานของการขนส่งเลือด

อีกทั้ง ทำการติดตั้งตัววัดอุณหภูมิ Thermocouple ที่สามารถมองเห็นตัวเลขอุณหภูมิได้จากภายนอกกล่อง ซึ่งเลือกใช้เป็นแบบ Data logger สามารถเก็บข้อมูลอุณหภูมิ ได้มากถึง 30,000 ข้อมูล พร้อมเสียงเตือนเมื่ออุณหภูมิไม่เป็นไปตามค่าที่ตั้งไว้

ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวควบคุมมาตรฐานของการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ

"สิ่งที่เราเน้นมากในการออกแบบคือเรื่องของการทำบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากปัญหาของการขนส่งคือต้องรักษาอุณหภูมิให้ได้ นักศึกษาจึงทำกล่องโฟมในการขนส่ง ซึ่งในภาพรวมจากโมเดลธุรกิจของนักศึกษานับว่ามีความน่าสนใจและมีความเป็นไปได้สำหรับการทำธุรกิจในอนาคต

 ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่ยังไม่ค่อยมีคนทำ หรืออาจจะมีคนทำแต่ยังไม่ครบวงจร" 

หากมองถึงโอกาสของการต่อยอดและมองถึงการทำงานสตาร์ทอัพในอนาคต ผาณิตา บอก ทั้งหมดเป็นโอกาสที่ดีของการนำเสนอไอเดียที่แปลกใหม่ ใช้ความแนวความคิด ความเชื่อและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเป็นตัวตั้งต้นในการริเริ่มที่จะสร้างธุรกิจ

“แต่ด้วยความที่ธุรกิจสตาร์ทอัพยังเป็นแนวความคิดที่ใหม่มาก นั่นจึงอาจเป็นอุปสรรคของการเข้าถึงทั้งแหล่งเงินทุน การเข้าถึงลูกค้าในตลาด การสร้างความยอมรับและการวางแผนการปฏิบัติงานของธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างมีความน่ากังวลพอสมควร” 

 RESLOG เป็นทีมจากมหาวิทยาลัยรังสิตที่คว้ารางวัลชนะเลิศได้รับรางวัลทุนการศึกษา 50,000 บาท ในการแข่งขันโครงการ Thailand Transport Start up 4.0 ในปีนี้มาได้

 การแข่งขันดังกล่าวจัดขึ้นโดยสมาคมขนส่งสินค้าเละโลจิสติกส์แห่งประเทศไทย โดยให้ผู้ร่วมประกวดคิดแผนธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง มีหัวข้อให้เลือก 3 หัวข้อ 1. สมาร์ทโลจิสติกส์ 2. กรีนโลจิสติกส์ และ 3. การผสานความร่วมมือเกี่ยวกับข้อมูลทางโลจิสติกส์ ซึ่ง RESLOG เลือกที่จะส่งผลงานประกวดในหัวข้อโลจิสติกส์   

ดร.นพปฎล สุวรรณทรัพย์ ผู้ช่วยคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ คณะบริหารธุรกิจ ม.รังสิต ภายใต้ทีม RESLOG ได้นำความคิดต่อยอดมาจากคณะเทคนิคการแพทย์ และวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.รังสิต ซึ่งเคยทำในโครงการสตาร์ทอัพมาก่อน เป็นเรื่องของการเจาะเลือดผู้ป่วยติดเตียง แต่ประสบปัญหาในด้านการขนส่งซึ่งจะต้องขนส่งเลือดภายใน 2 ชั่วโมง อุณหภูมิต้องไม่เกิน 10 องศา ตรงนี้เป็นการทำงานเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น 

ซึ่งในแนวทางของคณะฯ มีโครงการการวางแผนพัฒนานักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการ โดยนักศึกษาปี 4 ทั้งคณะจะต้องทำโครงการแผนธุรกิจเพื่อนำเสนอเป็นโปรเจ็คจบ เพื่อให้นักศึกษาได้บูรณาการความร่วมมือกับคณะอื่นๆ มากขึ้น เช่น คณะเทคนิคการแพทย์ และเทคโนโลยี สารสนเทศ

อนาคตเราเชื่อว่า คณะเทคนิคการแพทย์ คณะไอที และคณะบริหาร จะมีการต่อยอดไอเดีย RESLOG ต่อไปเพื่อดูว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในทางธุรกิจ

“ในมุมมองของผม นักศึกษาเจเนอเรชั่นนี้ เวลามาเรียนสิ่งที่คาดหวังคือ อนาคตข้างหน้าคงไม่อยากเป็นลูกจ้าง แต่ก็ต้องแข่งขันให้ได้ด้วยการสร้างไอเดียใหม่ๆ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็สนับสนุนให้คิดริเร่ิมสร้างธุรกิจใหม่”