เส้นทางสาย Deep Tech ‘เอสซีจี เคมิคอลส์’

เส้นทางสาย Deep Tech  ‘เอสซีจี เคมิคอลส์’

มีโอกาสเห็นโครงการใหม่ๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาด้านการลงทุนได้จริง

การเดินหน้าเร่งให้ DeepTech เกิดขึ้นในไทยเป็นความพยายามของหลายองค์กร หนึ่งในนั้นมี เอสซีจี เคมิคอลส์ ที่วางเป้าหมายชัดในการผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น

“ในต่างประเทศตื่นตัวและลงทุนกับสตาร์ทอัพในกลุ่ม Deep Tech กันมากแล้ว ส่วนในไทยมองว่า

ถ้าเราบอกจะเป็น 4.0 ควรจะมีนวัตกรรมที่จับต้องได้เป็นของตัวเอง แม้ว่าจะเป็นเส้นทางที่ยาวนานต้องใช้เวลา 3-5 ปีในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น แต่ก็เชื่อว่าจะมีผู้ลงทุนที่เห็นถึงโอกาสตรงนี้”  ดร. สุรชา อุดมศักดิ์ R&D Director and Emerging Businesses Director เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าว

 การทำงานที่ผ่านมา ปัจจุบัน และมองไกลถึงอนาคต ดร.สุรชา ทำงานไปพร้อมๆ กันทั้ง “สร้าง” และ “สนับสนุน”

“สร้าง” เป็นการทำงานในชื่อ SPRINT ที่ทำร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซล (TCELS) , บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (SCG Chemicals), สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , Houston Technology Center (HTC ASIA) Incubator ที่มีประสบการณ์ในการพัฒนา Deep Tech Startup ในสหรัฐอเมริกา และ KX Knowledge Exchange for Innovation

วางบทบาทเป็น Accelerator ในการพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพกลุ่ม Deep Tech

พร้อมกับ SPRINT จะคอยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจของ start up เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

“สนับสนุน” เป็นการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 – Deep Tech Innovation ซึ่งทางศศินทร์ จัดขึ้น

ในปีนี้เป็นธีม Deep Tech Innovation ซึ่งทีมชนะเลิศได้แก่ CMA Continuous Glucose Monitoring System จากมหาวิทยาลัย National Chiao Tung ประเทศไต้หวัน พร้อมรับเงินรางวัลมูลค่า 18,000 ดอลลาร์สหรัฐ

และมอบรางวัล H.R.H. Princess Maha Chakri Sirindhorn’s Sustainability Award จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ให้กับผู้ชนะเลิศการแข่งขันแผนธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้กับทีม H24U Innova จาก Cambridge Judge Business School มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร พร้อมรับเงินรางวัลมูลค่า 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ ณ ห้องศศินทร์ฮอลล์ สถาบันบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แม้จะยังไม่ใช่สตาร์ทอัพแต่เป็นเรื่องการประกวดแผนธุรกิจ ดร.สุรชา บอก Business Plan ถือว่ามีความสำคัญก่อนที่จะเข้าสู่การทำงานสตาร์ทอัพ

จากการทำงานดังกล่าว วัตถุประสงค์หลักคือการสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ด้านนวัตกรรม (innovation) และการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainability) ซึ่งการแข่งขันประกวดแผนธุรกิจสตาร์ทอัพ SCG Bangkok Business Challenge 2018 ภายใต้แนวคิด Deep Tech Innovation ครั้งนี้ เพื่อจุดประกายให้สังคมได้รับทราบและเห็นแนวคิดของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งผลตอบรับในปีนี้นับว่าน่าพอใจมาก

โดยเฉพาะรอบ Thailand Track ที่มีทีมนักศึกษาไทยเข้ารอบมาหลายทีม ทำให้ได้เห็นการเสนอผลงานแผนธุรกิจที่เป็นด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของนักศึกษาไทยมากขึ้นและมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น

 “ในมุมมองของนักลงทุน ผมได้มีโอกาสเห็นโครงการใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ที่สามารถนำไปพัฒนาด้านการลงทุนได้จริง เป็นการเปิดโลกทัศน์ทั้งนักลงทุนและนักศึกษาไปพร้อมๆ กัน

เราเป็นบริษัทใหญ่ การประกวดแผนธุรกิจนี้จึงเหมือนกับมีคนช่วยตั้งคำถามให้เรา มีคณะกรรมการที่มีประสบการณ์ช่วยสกรีนข้อมูลและรายละเอียดของแผนธุรกิจ ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น ซึ่งบางครั้งเราเองก็ไม่สามารถตั้งคำถามเหล่าได้ทั้งหมด

ดังนั้นการประกวดแผนธุรกิจ SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 – Deep Tech Innovation จึงนับเป็นการยกระดับของสตาร์ทอัพที่เชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีกับธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ”

จากการทำงานที่ผ่านมาทั้ง SPRINT และ ประกวดแผนธุรกิจ ดร.สุรชา บอก แม้จะยังไม่เจอ Deep Tech ที่ตามหา

ซึ่งตั้งเป้าไว้ถึง เทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ ด้านสุขภาพและเครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ (Robotics) และ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แต่อย่างน้อยเราก็ได้เห็นแล้วว่าสภาวะ Deep Tech สตาร์ทอัพในไทยเป็นอย่างไร

สิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อจากนี้ คือ การพัฒนาต่อสำหรับแพลตฟอร์ม SPRINT ซึ่งจาก Batch แรกทำให้ได้ 14 ทีมเข้ามา ซึ่งก็มีทั้ง เฮลท์แคร์ อุปกรณ์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม โรโบติค เป็นต้น

“สเต็ปต่อไป ถ้ามีสตาร์ทอัพที่พร้อม สิ่งที่ยังขาด มองว่าน่าจะเป็น incubator คงต้องมองหาคอนเซ็ปต์ incubator ในไทยว่าจะทำอย่างไรกันดี ซึ่งสไตล์ Deep Tech ยังไม่มี

มองไว้ว่าคงต้องหาพาร์ทเนอร์มาช่วยกัน Journey กันต่อ ดูว่าใครสนใจจะมาช่วยพัฒนาตรงนี้”

ดร.สุรชา มอง Deep Tech ในไทยยังเป็นเส้นทางที่ยาวไกล ซึ่งผมทำงานอยู่ตรงนี้ เรื่อง R&D เข้าใจดีว่าต้องใช้เวลาฟูมฟักกันอีกนาน กว่าจะเห็นผล

ภารกิจจากนี้จึงอยู่ที่การ “ค้นหา” Deep Tech ที่มีความสามารถในการสเกลอัพให้ได้, ทีมงานที่เต็มเปี่ยมด้วย Passion , การมีเทคโนโลยีที่ยูนีค พร้อมจะแปรสิ่งที่ค้นคว้าให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ในเชิงพาณิชย์และสเกลธุรกิจออกไปได้