สกัดดีเอ็นเอ ‘คน’ สยามออร์แกนิค

สกัดดีเอ็นเอ ‘คน’ สยามออร์แกนิค

ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่ต้องใส่ใจในรายละเอียด

บริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวนาในภาคอีสาน

ที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกับเกษตรกรแล้ว 1,026 คน ในปี 2558 ผลักดันเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแจสเบอร์รี่ ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 25,112 บาทต่อคนผ่านการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน

แม้ที่ผ่านมา สยามออร์แกนิค นอกจากจะได้รับการยอมรับทั้ง “แนวคิด” ที่นำเอาเทคโนโลยีและการบริหารจัดการเข้าไปพลิกชีวิตและรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ในเชิงของการ “ทำงาน” ก็สร้างอิมแพ็คได้เป็นอย่างมาก

หนึ่งผลงานในเวทีสากลได้แก่ การคว้ารางวัลชนะเลิศ บนเวทีการแข่งขัน "The Global Entrepreneurship Summit 2016" จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จัดขึ้นโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

รวมถึง ผลงานจากเวทีในประเทศ กับ รางวัลชนะเลิศ Bangkok Business Challenge ในปี 2011

สยามออร์แกนิค เดินมาถึงจุดนี้ได้ ปีตาชัย เดชไกรศักดิ์ ซีอีโอ บริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด บอก  “ตอนนี้เราเดินมาครึ่งทางแล้ว แต่เป็นครึ่งทางที่เหนื่อยมาก อีกครึ่งทางที่เหลือต่อจากนี้ต้องไปต่อให้ได้ในตลาดอเมริกาและยุโรป  เพื่อไปถึงเป้าหมาย การเป็นแบรนด์ไทยระดับโลกให้ได้ภายใน 3 ปี”

การจะเดินไปสู่ปลายทางได้นั้น ปีตาชัย บอกหัวใจสำคัญอยู่ที่ “คน”

นอกจากการลงพื้นที่พบเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายแล้ว ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สยามออร์แกนิค เข้าสู่ยุคของการขับเคลื่อนด้าน “คน” และ “วัฒนธรรมองค์กร”

“หากคุณมีความทะเยอทะยานความหลงใหลและมุ่งมั่น”

“ความคิดของการรับผิดชอบและความเป็นผู้นำในองค์กรทางสังคม”

ใจความหลักๆ ที่สยามออร์แกนิค สื่อออกไปเพื่อให้ได้ “คน” ตรงกับ “ดีเอ็นเอ” ที่ต้องการ

เมื่อก้าวใหญ่ต่อจากนี้ปักหมุดไว้ที่ ตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป กำลังคนที่ต้องการเข้ามาเสริมทีมจึงมีความสำคัญในการรุกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

เพื่อเข้าถึงตลาดใหม่และให้บริการที่กว้างขึ้น โดยเป้าหมายมองไว้ที่ 20,000 เกษตรกรใหม่ในอีก 3 ปี รวมถึงการพัฒนางานทางด้านฟาร์ม และการทำงานร่วมกับตัวแทนจำหน่าย ระหว่างประเทศ และ การจัดการด้านจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อจัดส่งไปยังผู้ซื้อทั่วโลก

ที่สำคัญ การสนับสนุนงานทางด้านการตลาดดิจิทัล และการสร้างแบรนด์

กระบวนการคัดเลือก “คน” เข้ามาเสริมทีมจึงมีความสำคัญอย่างมาก หลักๆ ได้แก่

Leadership มีความเป็นผู้นำ การตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ได้

“เวลาสัมภาษณ์ เราจะถามว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร กิจกรรมที่เคยทำมาก็มีผลที่บอกว่าได้ คุณเป็นผู้นำกิจกรรม หรือ ผู้ตาม”

ถัดมา คือ Passion ปีตาชัย บอก การมี Passion ในการทำงาน สามารถบอกได้ว่าวัตถุประสงค์ในการทำงานคืออะไร

“บางคนไม่ชอบงานนี้ ชอบงานนี้ แต่เราอยากให้รู้ว่าคุณมาทำตรงนี้เพื่ออะไร โดยวิชันการทำงานของเค้า ต้องไปด้วยกันกับบริษัทด้วย”

สุดท้ายมองว่า ข้าวทุกเมล็ดมีคุณค่ากว่าจะปลูกออกมาได้เป็นเมล็ดข้าวต้องใช้ความใส่ใจ นี่เป็นความหมายของการมองหาคนเพื่อมาทำงานสร้างคุณค่าร่วมกัน

ความหมายที่แท้จริง คือ การใส่ใจในงานไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่ต้องใส่ใจในรายละเอียด

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยเน้นเรื่องรายละเอียดมากนัก แต่อยากจะบอกว่ามันคือความใส่ใจ ยกตัวอย่างผมทำเอกสารส่งออกมูลค่าเป็นล้านหากเขียนผิดนิดเดียวอาจต้องส่งคืนกลับมา

ขณะที่คนรุ่นใหม่อาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในการทำงานหมายถึงคุณไม่ใส่ใจ

เช่นเดียวกับ ข้าวทุกเมล็ด กว่าที่เกษตรกรจะปลูกจะออกมาให้ได้ทานต้องมีความใส่ใจในการทำงานมีรายละเอียดกันเยอะ”

 ที่กล่าวมา เป็นเหมือนไกด์ไลน์ที่นอกจาก “คนใหม่” ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแล้ว “พนักงาน” ที่อยู่เดิมก็ต้องใส่ใจในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะนั่นเป็น ดีเอ็นเอ สยามออร์แกนิค

ปีตาชัย มองย้อนไปในช่วงแรกๆ ของ สยามออร์แกนิค

“เริ่มต้นเรามีคน 15 คน ตอนแรกๆ ของการทำงานได้มีการไล่ออกเกือบหมด เนื่องจากการทำงานที่ติดขัด เพราะหากปล่อยไปภาพรวมองค์กรอาจจะเสียหายได้

ทำให้ตัดสินใจรีสตาร์ทกันใหม่ ทำให้ 2 ปีหลังมานี้ มุ่งเน้นในเรื่อง Values and culture องค์กรเป็นหลัก”

เมื่อองค์กร “คน” และ “องค์กร”เข้มแข็ง ก้าวต่อจากนี้คือความท้าทายครั้งใหม่ โดยมี โจทย์ใหญ่อยู่ที่ การเป็นแบรนด์ไทยระดับโลกให้ได้ภายใน 3 ปี

เติบโตแบบ SE   ​ 

บริษัทสยามออร์แกนิค เป็น Social Enterprise มีรายได้ที่ชัดเจนจากการประกอบการ และมีการวัดผล social impact ที่ชัดเจน

โดยผลของ SROI(Social Return on Investment) ของ สยามออร์แกนิคในปี 2015 คือ 1.6x และรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในกลุ่มของสยามออร์แกนิค สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในประเทศไทยทั่วไปถึง 14 เท่า (ประเมินผลกระทบทางสังคมจากการเข้าไปร่วมทำงานกับเกษตรกร โดยองค์กร Shu jog 

หน่วยงานที่ทำเรื่อง Social Impact Assessment จากต่างประเทศ)

ที่ผ่านมาได้เข้าไปทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยหรือวิสาหกิจชุมชน ส่วนใหญ่มีสมาชิกกลุ่มละประมาณ 200-300 ราย กระจายอยู่หลายแห่งตามจังหวัดในภาคอีสาน มีการทำงานร่วมกันภายใต้มาตรฐานเดียวกันคือ เน้นการควบคุมคุณภาพข้าว และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

ด้วยการแนะนำให้เกษตรกรปลูกข้าวแจสเบอร์รี (Jasberry) ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนา มีคุณค่าทางอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ และรสชาติที่อร่อย 

เมื่อขายข้าวได้ในราคาที่ดี ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น