ธันย์-ณิชชารีย์ คิดบวก ไม่ใช่โลกสวย  

ธันย์-ณิชชารีย์  คิดบวก ไม่ใช่โลกสวย   

แม้จะเสียขาทั้งสองข้าง ชีวิตไม่จำเป็นต้องจมอยู่กับความทุกข์่ ยังเลือกที่จะทำสิ่งที่รักและชอบได้

............................

ตอนอายุ 14 ไปเรียนซัมเมอร์คอร์สภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์ ประสบอุบัติเหตุรถไฟฟ้า MRT ทับขาทั้งสองข้าง ต้องตัดขา กระทั่งอายุ 15 ปี กลายเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ

พออายุ 16 ปี ศาลสูงสิงคโปร์ยกฟ้องคดีที่เธอเรียกค่าเสียหาย 3.4 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากการรถไฟฟ้าสิงคโปร์ (เอสเอ็มอาร์ที) และการขนส่งทางบกสิงคโปร์ โดยให้เหตุผลว่า จำเลยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างสมเหตุสมผลแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดชอบความบาดเจ็บที่เกิดขึ้น, อายุ 17 เป็นไกด์พาพ่อแม่ไปเที่ยวอเมริกา

และอายุ 20 กว่าๆ เป็นผู้สำรวจความสุขคนไข้ มีเงินเดือน 1 ล้านบาท จากโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล WORLD MEDICAL HOSPITAL (WMC) พร้อมสัญญาจ้าง 6 เดือน และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561

ปัจจุบัน ธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ วัย 21 ปี ยังต้องนั่งวีลแชร์ ไปเรียนที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมื่อวาน (18 กุมภาพันธ์ 2561) เธอเพิ่งจัดงาน วิ่งให้ทัน เพื่อนำเงินรายได้มอบให้สามมูลนิธิ และวันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2561 ) เธอเพิ่งพ้นจากตำแหน่งผู้สำรวจความสุข เนื่องจากครบสัญญาจ้าง 

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เธอไม่เคยหยุดฝัน

“ธันย์อยากเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจที่ไปได้ทั่วโลก อยากเป็นที่ปรึกษาด้าน Positive Thinking และจะทำงานเพื่อสังคมต่อไป...

 

อยากให้ขยายความคำว่า คิดบวก ในมุมของธันย์สักนิด ?

    คิดบวกไม่ใช่เรื่องโลกสวย แต่เป็นการอยู่กับความเป็นจริงอย่างมีความสุข หลายคนอาจจะมองว่า ธันย์มองโลกสวย ฐานะทางบ้านดี ก็เลยไม่เครียด จริงๆ แล้วเรามองโลกตามความเป็นจริง เราก็ใช้ชีวิตในแบบที่เป็นเรา ในความเป็นจริงคืออยู่บนวีลแชร์ และไม่ได้มองว่า จะเดินได้โดยไม่ใช้วีลแชร์ เราไม่ได้มองโลกสวยขนาดนั้น เพราะยังไงเราก็ต้องใช้ชีวิตบนวีลแชร์ไปตลอด และต้องใช้ชีวิตแบบนั้นให้เก่งและดี

คุณพ่อคุณแม่สอนให้เป็นคนคิดบวกตั้งแต่เมื่อไหร่

จริงๆ แล้วครอบครัวไม่ได้สอนเป็นจริงเป็นจังในเรื่องนี้ เป็นการปลูกฝังมากกว่า คุณพ่อไม่ได้บอกตรงๆ ตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อจะให้มองโลกอีกมุมในทุกๆ เรื่อง

ยกตัวอย่างสักนิด?

ตอนที่อยู่ในวัยเรียน เวลาเจอปัญหาเรื่องใด เราก็จะมองด้านเดียวว่าแย่มากเลย เพื่อนทะเลาะกัน การเรียนตก แต่คุณพ่อคุณแม่จะให้มองข้อดีในเรื่องนั้นก่อน ถ้าเรียนไม่ดี ก็ให้มองว่า เราอ่อนด้อยด้านไหน และเราไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ตลอดเวลา ก็เลยทำให้เราต้องคิดแบบนี้

ย้อนไปตอนที่ประสบอุบัติเหตุที่สิงคโปร์ ทั้งๆ ที่เจ็บแทบตาย ก็ยังปลอบใจคุณแม่ ธันต์เอาพลังมาจากไหน

ตอนนั้นอายุ 14 ก็คิดว่า เรื่องของเราไม่น่าเป็นห่วง แต่คนรอบข้าง ก็คิดไปว่าเราจะใช้ชีวิตยังไง เมื่อเราผ่านวิกฤติเยียวยาจิตใจตัวเองได้แล้ว สามารถอยู่ในสังคมได้ เราก็เลยปลอบคนรอบข้าง ช่วงนั้นคนที่อาการหนักที่สุดคือ คุณแม่ช็อคไปหลายเดือน ใครมาคุยกับคุณแม่หลังจากที่เราประสบอุบัติเหตุ จะรู้สึกว่าแม่ไม่เหมือนเดิม กว่าจิตใจจะปกติก็นานมาก ธันย์ไม่ได้เยียวยาจิตใจคุณแม่ด้วยคำพูด แต่เยียวยาด้วยการกระทำ พยายามแสดงให้เห็นว่า เราช่วยเหลือพึ่งพิงตนเองได้ ไปโน้นไปนี่ได้

แม่เพิ่งดีขึ้นตอนเราพ่อแม่ลูกไปอเมริกาด้วยกัน ตอนนั้นธันย์อายุ 17 ปี เป็นไกด์พาพ่อแม่ไปเที่ยว ไม่ได้ไปกับทัวร์ และใช้ชีวิตที่นั่นสองอาทิตย์ ไปเจอเพื่อนๆ พ่อแม่เห็นก็รู้สึกว่า เราใช้ชีวิตตามปกติได้

ช่วงจังหวะที่ต้องปรับสภาพให้เคยชินกับการไม่มีขาทั้งสองขา และต้องฟื้นฟูร่างกายใช้เวลานานไหม

ตอนนั้นปี 2554 ใช้เวลารักษาบาดแผลอยู่ห้าเดือน พอแผลหายก็ใส่ขาเทียม ไม่กี่อาทิตย์ก็กลับมาเรียนหนังสือ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ไปเรียนที่โรงเรียนจิตรลดา ช่วงนั้นไม่ได้ใส่ขาเทียมไปเรียน กว่าจะเดินได้เป็นเรื่องเป็นราว 7-8 เดือน และค่อยๆพัฒนา ปล่อยไม้เท้าทีละข้าง สองปีกว่าถึงจะเดินไปไหนมาไหนได้

ตอนนั้นใครเป็นกำลังใจให้ธันย์

ต้องเป็นตัวเราก่อน แล้วก็พ่อแม่ คนรอบข้างคอยช่วยเหลือ และโชคดีที่เพื่อนสนิทโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เป็นเพื่อนที่ลุยมาก อยากให้เราไปโน้นไปนี่ด้วย ไปเที่ยวสยามก็อยากให้เราไปด้วย ทำให้เราไม่เสียธรรมชาติความเป็นวัยรุ่นไป ยังอยู่ในกลุ่มเพื่อนได้ และเพื่อนกลุ่มนี้เหนี่ยวแน่น รู้ทุกอย่าง รู้แม้กระทั่งเราใช้ขาเทียมยังไง และรู้ว่าสถานที่แบบไหนที่เราจะเดินได้ เพื่อนสี่ห้าคนไปกับเราเกือบทุกที่ แต่ตอนนี้แยกกัน ไม่ได้อยู่มหาวิทยาลัยที่เดียวกัน

ช่วงเวลาไหนยากลำบากที่สุด

  ตอนที่เกิดอุบัติเหตุใหม่ๆ ช่วงสองอาทิตย์แรก ผ่านไปยากมาก เจอมรสุมหลายอย่าง ทั้งสับสน เคว้งคว้าง มึนงง วุ่นวาย เพราะอยู่สิงคโปร์ เป็นช่วงทรมานที่สุด แต่ไม่ได้คิดว่าจะเสียชีวิต เพราะเรามีสติ รู้เห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง ไม่ได้หมดสติไปเลย รู้ว่าเสียเลือดแค่ไหน คิดแค่ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

เพราะมีสติจึงผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ มาได้ ?

เรื่องสติไม่มีใครสอนจริงจัง ไม่ได้เป็นคนธรรมะธัมโม อาจเป็นเพราะพ่อแม่สอนให้เรานั่งสมาธิทุกวัน วันละห้านาที ตอนเด็กๆ เรียนไม่เก่ง ก็เลยถามพ่อแม่ว่า จะทำยังไงถึงจะเรียนเก่ง พ่อก็บอกว่า ให้ลองนั่งสมาธิ เรายังเด็กอยู่ก็คิดว่า ฝึกสมาธิห้านาที ตื่นขึ้นมาจะทำให้เราเรียนเก่ง ก็เลยนั่งสมาธิจนเป็นนิสัยแค่ไม่กี่นาที ตอนนี้ก็ยังนั่งสมาธิสวดมนต์บ้างนิดหน่อย

หลังจากเสียขาทั้งสองข้าง ก็ยังว่ายน้ำ ดำน้ำได้ ธันย์ทำได้ยังไง

ก่อนเกิดอุบัติเหตุ ธันย์เป็นนักวิ่งโรงเรียน เมื่อประสบอุบัติเหตุ ก็ต้องทำร่างกายให้แข็งแรง เพื่อจะกลับมาเดินได้ ต้องทำกายภาพ เขาให้ลงธาราบำบัด ก็ว่ายน้ำได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และต้องเดินออกกำลังกาย อีกอย่างเราเป็นคนชอบทะเล เมื่ออยากดำน้ำ เมื่อสองปีที่แล้วได้ไปสมัครดำน้ำกับกลุ่มวีลแชร์สกูบา ก็เลยดำน้ำได้ และสอบจนผ่านได้บัตรอนุญาติดำน้ำ อยู่ใต้น้ำมีความรู้สึกอิสระ ลอยไปไหนก็ได้

และเคยฝึกเล่นวอลเล่ย์บอล อาจารย์ก็รู้ศักยภาพเรา โดยให้ยืนเฉยๆ แล้วโยนลูกให้เพื่อให้เราตบ ก็เลยรู้ว่า เราสามารถใช้ร่างกายช่วงบนได้ หลังจากนั้นก็เลยคิดว่า เราน่าจะเล่นแบดมินตันได้ โดยมือข้างหนึ่งถือไม้แบด มืออีกข้างถือไม้เท้า

แบบนี้จะเรียกว่า ใจเต็มร้อยได้ไหม

ไม่ใช่แค่ใจ คนรอบข้างช่วยเราด้วย ครอบครัวให้เวลาเรา ขับรถพาเราไปฝึก ทำโน้นทำนี่ ก่อนที่ตัวเราจะตัดสินว่า ทำไม่ได้หรอก เพื่อนๆ ก็เปิดโอกาสให้เราลอง ไม่อยากให้เรานั่งเล่นอยู่คนเดียว 

เห็นบอกว่า ขับรถยนต์ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ด้วย ?

ก่อนหน้านี้เคยไปสอบใบขับขี่เอาไว้ ไม่ได้คิดว่าจะขับรถ แต่เมื่อมีโอกาส ก็ลองขับรถไปเรียนที่มหาวิทยาลัย ทำมาปีกว่าๆ แล้ว เป็นรถธรรมดาๆ ที่ติดเกียร์เพิ่ม

เวลาออกไปข้างนอก ธันย์ใช้ชีวิตอย่างไร

      ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตปกติเกือบทุกที่ ปรับเปลี่ยนไปตามสถานที่ เวลาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เราเดินไกลๆ ไม่ได้ ที่นั่นมีวีลแชร์ไฟฟ้าให้ยืม

แม้ตอนนี้ธันย์จะพ้นจากตำแหน่งผู้สำรวจความสุข ก็อยากให้เล่าที่มาที่ไปสักนิด ?

ก่อนหน้านี้ธันย์ทำกิจกรรมเยอะ ตอนนั้นมีคนส่งรายละเอียดมาให้สมัคร เราก็คิดว่า น่าสนใจและจินตนาการได้ว่าต้องทำอะไรบ้าง เหมือนสิ่งที่เราทำตอนที่รักษาตัวในโรงพยาบาลที่สิงคโปร์ ตอนนั้นเรายังเด็ก ก็ใช้วีลแชร์ไปตามแผนกต่างๆ เพราะอยู่โรงพยาบาลเกือบครึ่งปี จึงรู้จักตั้งแต่พยาบาล หมอ แม่บ้าน นักกายภาพ ก็ตามเขาไปเล่น พอย้ายมาอยู่โรงพยาบาลบ้านเราก็ทำแบบเดิม เราก็คิดว่า ตำแหน่งที่สมัคร ก็น่าจะทำเหมือนที่เรานอนโรงพยาบาล เมื่อสมัครแล้วก็เข้ารอบ 12 คน

เป็นผู้สมัครอายุน้อยที่สุด ?

     ใช่คะ ตอนนั้นอายุ 20-21 ผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน

ตอนนั้นคิดว่า มีโอกาสที่จะได้ตำแหน่งไหม 

จุดประสงค์ที่สมัครคือ เราอยากได้เงินจำนวนนี้มาทำขาเทียม แต่เราไม่ได้คิดว่าจะต้องได้ เพราะเรายังไม่มีวุฒิการศึกษา และคิดว่า พี่อีกคนที่ทำงานอาสาหลายอย่าง พูดได้หลายภาษา มีคอนเนคชั่น น่าจะมีโอกาสมากกว่า

โชคดีที่ได้เข้ารอบ 1 ใน 12 คน ก็ดีใจแล้ว และเป็นจังหวะที่เราต้องไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่แคนาดา แต่ผู้ใหญ่เห็นศักยภาพของเรา และไม่อยากให้ทิ้งการเรียน ยังให้โอกาสเรียนที่แคนาดาหนึ่งเดือน แล้วค่อยมาทำงาน

การสำรวจความสุขคนไข้เป็นอย่างไรบ้าง

ก็ใช้วีลแชร์ไปเยี่ยม พูดคุยกับคนป่วย บางคนก็คุยนานเป็นชั่วโมง บางคนก็แค่ทักทาย จากนั้นก็เอาเรื่องราวมาเขียนในเฟซบุ้ค และจะทำเป็นหนังสือ ชื่อเรื่องยังไม่มี เราอยากเก็บไว้ในหนังสือไม่อยากให้หายไปกับโลกออนไลน์

โครงการที่เราทำจะจบลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561 และวันนั้นจะมีงานวิ่งที่ธันย์จัดเองชื่อ วิ่งให้ทัน รายได้มอบให้สามมูลนิธิ มีผู้ใหญ่หลายคนช่วยสนับสนุนและพี่ๆ หลายคนมาช่วย ตั้งใจว่าจะวิ่งประมาณ 4 กิโลเมตร โดยใช้วีลแชร์ ถ้าไม่มีภาระกิจอะไรอาจจะวิ่ง 10 กิโลเมตร

ตอนที่เดินทางไปต่างประเทศ เจออุปสรรคเยอะไหม

มีอยู่ทุกจุด แต่ละประเทศคาดเดายากว่า จะเจออะไรบ้าง เราทำได้แค่เตรียมความพร้อม เผชิญหน้ากับสิ่งที่จะเจอ อย่างในประเทศเรา การขึ้นลงรถไฟฟ้า ใช้ลิฟท์ช่วงขาขึ้น แต่ไม่มีลิฟท์ลง ก็ต้องรอให้คนมาช่วยยก หรือให้เขาช่วยเปลี่ยนจากบันไดเลื่อนขึ้นเป็นบันไดเลื่อนลง และอีกอย่างทางเท้าในบ้านเราขรุขระมาก หรือจะข้ามเรือไปเกาะเกร็ด ไม่มีทางลาดที่จะเข็นรถลงได้เลย ต้องให้คนช่วยยกอีก

เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจตั้งแต่เมื่อไหร่

ตอนอายุ 15 ไปเป็นวิทยากรแห่งแรกที่สยามพารากอน ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่า การเป็นวิทยากรคืออะไร ต่อมาก็ฝึกไปเรื่อยๆ เมื่อมีคนเชิญไปพูดก็มีความสุข และหาเวลาไปเรียนเรื่องการพูด การสื่อสารเพิ่มเติม เคยพูดให้นักเรียนประถมจนถึงมหาวิทยาลัยฟัง รวมถึงองค์กรเอกชนและภาครัฐ และเคยไปบรรยายให้น้องๆ ที่ปฎิบัติธรรมฟัง ส่วนใหญ่น้องๆ ชอบถามเรื่องการเรียน

เวลารู้สึกท้อแท้ ธันย์ทำอย่างไร

ถ้าทำงานมาทั้งวัน เหนื่อยมาก ก็จะหาเวลาอยู่กับตัวเองพักหนึ่ง หรือหาอะไรทำให้มีความสุข หรือไปเที่ยว

ในชีวิตนี้ มีความฝันเรื่องใดบ้าง

อยากเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจที่สามารถไปพูดได้ทั่วโลก ได้แลกเปลี่ยนกับคนต่างชาติ และอยากเรียนสูงๆ เพื่อกลับมาทำงานให้สังคม ส่วนอีกความฝันอยากเป็นที่ปรึกษาด้าน Positive Thinking ช่วยแก้ปัญหาในการใช้ชีวิตให้คนไทย อยากเปิดมูลนิธิของตัวเอง และทำเรื่องการคิดบวกที่มีความสำคัญมากขึ้น ธันย์คิดคร่าวๆ นะ เพราะเรายังไม่มีวุฒิภาวะมากพอ ทำให้มองภาพยังไม่ชัด