เมื่อสตาร์ทอัพ กลายร่างเป็นเอสเอ็มอี ‘ซอฟต์เอฟเวอร์’

เมื่อสตาร์ทอัพ กลายร่างเป็นเอสเอ็มอี ‘ซอฟต์เอฟเวอร์’

อาจไม่สวยงามตามท้องเรื่อง ทำให้ในปัจจุบัน “ซอฟต์เอฟเวอร์” ต้องหันมาเลือกเดินบนเส้นทางของ “เอสเอ็มอี” ไม่ใช่ “สตาร์ทอัพ” อย่างที่ฝัน

"เราอยากทำโปรดักส์ต่อซึ่งก็ทำกันมา 4 ปีแล้ว แต่ทุนไม่มี เราเองก็หาลูกค้าไม่เป็นขายโปรดักส์ไม่ได้ อาจเพราะยังไม่มีประสบการณ์ธุรกิจทุกคนล้วนเป็นดีเวลลอปเปอร์ ทั้งสายป่านก็ยาวไม่พอ แล้วเราจะอยู่กันได้อย่างไร"


“นพพล พิลึกเรืองเดช” ซีอีโอ และ“อนวัช จาตุประยูร” ผู้จัดการโครงการ บริษัท ซอฟต์เอฟเวอร์ จำกัด ( Softever) บอกถึงสาเหตุที่ทำให้เกิด “จุดเปลี่ยน” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพวกเขาก็พยายามวิ่งหาทุน แต่เวลานั้นวีซีอาจยังไม่สนใจเอ็ดดูเทคทั้งโปรดักส์ที่พวกเขาทำก็ไม่ใช่คอนซูมเมอร์ แต่ประจวบเหมาะที่เวลานั้นบริษัทได้รับงานซึ่งเป็นโครงการใหญ่ เป็นเงินก้อนใหญ่จากบริษัทพลังงานแห่งหนึ่งพอดิบพอดี


"เป็นการตัดสินใจที่ลำบาก ว่าเราจะทิ้งการพัฒนาโปรดักส์ที่พัฒนาขึ้นมาแล้วไปทำซอฟท์แวร์ตามสั่งของลูกค้าจริง ๆหรือ ซึ่งโปรดักส์ที่ทำตามคำสั่งเราก็ไม่สามารถเอาไปขายที่อื่นได้ และเราต้องทำแบบนี้ เหนื่อยแบบนี้ คือพอจบงานหนึ่งก็ต้องไปรับงานใหม่ เหนื่อยใหม่ไปเรื่อย ๆ มันผิดไปจากที่ความตั้งใจของเราตั้งแต่แรก แต่สุดท้ายก็ต้องรับเพื่อจะสามารถมีเงินมาเลี้ยงทุกคนในทีม มีเงินเดือนมาจ่ายทุกคน"


นพพลยอมรับว่า ถ้าไม่มีโครงการของลูกค้าบริษัทพลังงานมาเป็นตัวเลือกให้ตัดสินใจ ตอนนั้นก็คงมืดแปดด้านว่าจะไปต่ออย่างไร และเมื่อตัดสินใจรับงานใหญ่เขาก็เลยดึงเพื่อนเก่าอีกคนก็คือ “ศีลภัทร ชาญเชี่ยว ” มารับหน้าที่เป็น System Analysist


ย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ฟาวเดอร์ของซอฟต์เอฟเวอร์ได้พัฒนาโปรดักส์ชื่อว่า “โอลีฟ” ( OLIV: Online Learning Innovative Vision) เพื่อส่งเป็นโปรเจ็คเรียนจบปริญญาตรี วิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี


"อธิบายคร่าวๆ โอลีฟจะเป็นระบบบันทึกการเรียนการสอนอัตโนมัติ เหมือนเป็นไทม์แมชชีนให้นักศึกษาหรือผู้เรียนทุกคนสามารถกลับไปดูคลาสเรียนที่ตัวเองเรียนย้อนหลังไปเมื่อไหร่ก็ได้ มันเป็นทั้งเลคเชอร์แคปเจอร์ คือมีคนจดให้เพราะทุกอย่างที่อาจารย์พูดหรือเขียนจะถูกบันทึกทั้งภาพและเสียงในวิดีโอ นักศึกษาแค่นั่งฟังทำความเข้าใจกับสิ่งที่อาจารย์สอนอย่างเดียว และยังเป็นคลาสรูมออนดีมานด์ ให้ได้กลับมาเรียนอีกเมื่อไหร่ก็ได้ เกิดเป็นอีเลิร์นนิ่งที่ครบวงจรขึ้นมา"


แต่เรื่องที่กล่าวมายังเป็นเรื่องใหม่ในเวลานั้น อีกทั้งพวกเขาเจาะจงมุ่งลูกค้าที่เป็นมหาวิทยาลัยเป็นหลัก และเท่าที่ได้สำรวจก็พบว่าแทบไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งไหนที่ใช้ระบบแบบนี้เลย เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูงและไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงไร ตรงกันข้ามที่แต่มหาวิทยาลัยในอเมริกา อย่างเช่น สแตนฟอร์ดและเอ็มไอที ระบบพวกนี้ถือว่าเป็นพื้นฐานที่ต้องมีติดตั้งไว้ในทุก ๆห้องเรียน


"จุดเด่นของซอฟท์แวร์ตัวนี้ ก็คือ มันสามารถซัพพอร์ตงานให้แอดมินคนเดียวสามารถดูแลห้องสอนเป็นร้อย ๆห้องได้ ระบบเราจะช่วยตั้งแต่ขั้นตอนการอัด ตัดต่อ มันตัดเวลาในช่วงพักได้โดยอัตโนมัติทั้งหมด และรองรับการอัพขึ้นเว็บไซต์ หรือยูทูป หรือกูเกิลด้วย ขึ้นกับว่าลูกค้าต้องการแบบไหน เพราะเราทำเองตั้งแต่ต้นจะดีไซน์ให้ทำแบบไหนก็ได้ ซึ่งมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยคือถ้าต้องใช้คนก็ต้องใช้คนเป็นร้อย คิดดูว่าจะต้องจ่ายเงินเดือนเท่าไหร่"


แต่เมื่อโปรดักส์ไปได้ไม่ค่อยสวยและตัดสินใจรับจ้างเขียนซอฟท์แวร์ (โปรแกรมวิเคราะห์การลงทุน) นพพลบอกว่าตอนนั้นก็ได้เริ่มแบ่งหน้าที่กันชัดเจน โดยให้อนวัชออกจากงานเขียนโปรแกรมเพื่อไปรับรีไควร์เมนท์ ดูและและเข้าประชุมกับลูกค้า


นพพลบอกว่าในความเห็นของเขา การให้ซอฟท์แวร์เอ็นจิเนียร์เป็นเซลล์จะช่วยสร้างความได้เปรียบ เพราะสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ตรงประเด็น รู้ว่าแบบไหนทำยากแบบไหนทำง่าย รู้ว่าสิ่งที่ลูกค้าร้องขอสามารถทำให้ได้หรือไม่ได้


และภายหลังที่รับงานโครงการนี้ ซอฟต์เอฟเวอร์ ก็ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ารายใหญ่ตามมาอีกหลายๆเจ้า รวมถึงได้จับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทไอทียักษ์ใหญ่สัญชาติไทยไปร่วมทำงานในโครงการต่าง ๆอีกด้วย เรียกได้ว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทอยู่ในจังหวะขาขึ้น นพพลเลยไปชวนดีเวลลอปเปอร์อีกคนหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าเยี่ยมยุทธ์ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการเข้ามาร่วมในทีม


อย่างไรก็ดี แผนในใจที่เขาวางเอาไว้ก็คือ จะไม่รับคนเยอะ แม้ว่าบริษัทโดยส่วนใหญ่พอถึงจุดหนึ่งก็จะสเกลและประกาศรับคนเยอะๆ เพื่อรับงานที่ใหญ่ขึ้น


"ก่อนหน้าเราเคยทำธุรกิจเอาท์ซอร์ส แต่พอต้องรับคนเยอะ ปัญหาก็มีเยอะ เราต้องรับคนที่เป็นใครก็ไม่รู้ คนที่รับเข้ามาจะไว้ใจได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ไม่ใช่กลัวเขาโกง แต่ไม่รู้เขาจะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน เพราะมีเคสที่เข้ามาทำงานแค่สามวันก็ไปเลย โทรมาสี่ทุ่มว่าพรุ่งนี้ผมไม่ไปทำงานแล้วนะ ทำให้งานไม่ต่อเนื่อง และอะไรที่เราลงทุนกับเขาไปซึ่งอย่างน้อยก็ต้องสอนงานให้เป็นเดือน ๆ เราก็เสียฟรี" อนวัชกล่าว


ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาโปรแกรมเมอร์ขาดแคลนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโลกยุคนี้ที่คนมีทางเลือกว่าจะไปทำงานบริษัทใหญ่ หรือบริษัทไหนก็ได้ หรือไปทำสตาร์ทอัพเองก็ได้


“ความเป็นจริงก็คือ ที่บอกว่าโปรแกรมเมอร์ขาดนั้น เป็นการขาดโปรแกรมเมอร์เก่ง ๆ แม้ในแต่ละปีจะมีเด็กจบออกมาหลายพันคน แต่คนที่ทำงานจริง ๆมีแค่ 10-20% เท่านั้น”


เมื่อถามถึงแผนในอนาคต นพพลบอกว่า เวลานี้ซอฟต์เอฟเวอร์ค่อนข้างมีเสถียรภาพ มีความมั่่นคงพอสมควร ทำให้มีความคิดจะกลับมาโฟกัสในเรื่องของโปรดักส์อีกครั้ง


"ผมจะคุยกับทุกคนที่เข้ามาทำงานด้วยกันตั้งแต่แรกว่าเขาอยากให้บริษัทเป็นอย่างไร เพราะผมอยากให้ทุกคนมารับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งตอนนี้ก็มีเสียงเรียกร้องมาว่าพวกเรามาทำโปรดักส์กันอีกทีดีไหม เพราะเราเริ่มมีทุนและมีเวลาแล้ว และพอดีที่มีโครงการหนึ่งของลูกค้าองค์กรที่น่าจะมาแมตซ์ได้กับโปรดักส์โอลีฟตัวเดิมของเราซึ่งเป็นระบบอีเลิร์นนิ่ง"


เพราะเทรนด์ในเวลานี้ก็คือ องค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานหมุนเวียนเข้าออกกันเป็นจำนวนมากล้วนต้องมีการเทรนงาน โดยปกติก็ต้องใช้คนหรือหัวหน้างานทำหน้าที่อบรมหรือเทรนงาน ถือเป็นการเสียทั้งเวลา เสียทั้งคน เสียทั้งเงิน แน่นอนว่าทุกๆองค์กรต้องการลดต้นทุนตรงส่วนนี้ให้ได้มากที่สุด แต่ต้องมีประสิทธิภาพมากที่สุด


"ปีที่แล้วมีหลายองค์กรสนใจมาคุยกับเราเยอะมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีมันพร้อมแล้ว พนักงานทุกคนมีมือถือ แต่ถ้าจะทำอีเลิร์นนิ่งธรรมดาไปแปะไว้บนยูทูปหรือเฟสบุ๊ค องค์กรจะรู้ได้อย่างไรว่าพนักงานเรียนอะไรไปแล้วบ้าง เรียนไปแล้วผลลัพท์จากการเรียนเป็นอย่างไร แต่เราจะทำระบบทำข้อสอบและวัดผล มีการมอนิเตอร์ผู้เรียนทุกคน ทั้งระบุด้วยว่าพนักงานคนไหนควรเรียนอะไรบ้าง ซึ่งก็มีโปรดักส์ต่างประเทศแบบเดียวกันในตลาดแต่มีราคาสูงกว่าของเรามาก" อนวัชกล่าว


ฝันของซอฟต์เอฟเวอร์ใหญ่แค่ไหน? นพพลบอกว่า ความตั้งใจของตัวเขาก็คือ ในอนาคตอันใกล้บริษัทต้องสร้างรายได้เป็นตัวเลข 30-40 ล้านต่อปี และมีคนทำงานในทีมประมาณ 10 คน ซึ่งไม่ใช่ฝันที่ยิ่งใหญ่แต่ออกเป็นแนวพอเพียงและเพียงพอ เขาไม่คิดจะขยายบริษัทให้ใหญ่โตหรือเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็ไม่แน่ว่าความคิดในวันข้างหน้าอาจเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกัน


"แต่เวลานี้ผมอยากให้บริษัทเดินไปแบบนี้ และใช้ความสามารถของคนเก่ง ๆที่เรามีอยู่ ผมอยากให้เงินซึ่งไม่ใช่เพียงแค่รายได้แต่เป็นกำไรที่ต้องเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ปันผลและจ่ายเงินเดือนพนักงานที่สูงขึ้น ขณะที่ตัวงานจะต้องลดลงเรื่อย ๆโดยอาศัยการออกแบบซอฟแวร์ให้ดี ที่ผ่านมาเรารับงานลูกค้าก็มีงานที่ซ้ำๆกัน และรียูสมันได้โดยไม่ต้องทำใหม่ตั้งแต่ต้น อย่างเช่นโครงการแรกที่รับจากบริษัทพลังงานตัวคอร์หลัก ๆของมันก็คือ เวิร์คโฟร์ ตลอดจนองค์ความรู้ที่ใช้ เอกสารที่เคยทำกันมาเราก็เอามารียูสได้ ที่สุดก็จะทำให้งานมันลดลงเรื่อยๆ"