ชนะยังไง? พลิกตำรา 'บ้านล้อมป่า' ฉบับ 'แม่ทัพหาญ'

ชนะยังไง? พลิกตำรา 'บ้านล้อมป่า' ฉบับ 'แม่ทัพหาญ'

รำลึก พล.อ.หาญ ลีนานนท์ และผลงาน “ใต้ร่มเย็น” อันเป็นรูปธรรมแห่งนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” หรือ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23

การจากไปของ “แม่ทัพหาญ” หรือ พล.อ.หาญ ลีนานนท์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ทำให้สื่อหลายสำนักพูดถึงผลงาน “ใต้ร่มเย็น” อันเป็นรูปธรรมแห่งนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” หรือ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ตั้งแต่แม่ทัพหาญดำรงยศพลโท เข้ารับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อ ต.ค.2524 

ก่อนจะเป็นใต้ร่มเย็น และคำสั่ง 66/2523 ภายในกองทัพไทยมีการต่อสู้ทางความคิดกันอย่างหนักหน่วง ผ่านกระบวนการศึกษาและการทดลองในสมรภูมิสงครามแย่งชิงประชาชน  

ชนะยังไง?  พลิกตำรา “บ้านล้อมป่า”  ฉบับ “แม่ทัพหาญ”

 

ปี 2517-2519 ประชาธิปไตยไทยเบ่งบานสุดๆ สถานการณ์รอบบ้านมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ไล่มาแต่เขมรแตก เวียดนามแตก และลาวแตก

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะแม่ทัพภาคที่ 2 ต้องนำทัพทำสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เริ่มตระหนักว่าวิธีการปราบปรามอย่างเดียวไม่น่าจะได้ผล เพราะชาวบ้านไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ จำเป็นต้องใช้วิธีต่อสู้ทางความคิด และดึงเอาประชาชนมาเป็นฝ่ายเดียวกับราชการ จึงตั้งคณะทำงานชุดหนึ่ง และหนึ่งในนั้นก็มี พล.อ.หาญ ลีนานนท์ ที่ครองยศพันเอก รับผิดชอบงานด้านเสนาธิการ

เมื่อแม่ทัพเปรมได้ตกผลึกผลิตชุดความคิด “การเมืองนำการทหาร” และมอบนโยบายนี้ให้ “กรมผสมที่ 23” รับไปปฏิบัติเป็นหน่วยแรก โดยกรมผสมที่ 23 มี พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นผู้บังคับการ และ พล.อ.หาญ เป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ

กรมผสมที่ 23 ได้รับมอบภารกิจให้ปฏิบัติการกวาดล้างปราบปรามผู้ก่อการร้าย และอำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ในภาคอีสาน ตั้งแต่อีสานเหนือยันอีสานใต้

 

ชนะยังไง?  พลิกตำรา “บ้านล้อมป่า”  ฉบับ “แม่ทัพหาญ”

 ปี 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัสชมเชย พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ในฐานะผู้บังคับการชุดควบคุมกรมผสมที่ 23 ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนร่มเกล้า ที่บ้านหนองแคน อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร โดยมีพระราชดำรัสว่า 

"การปฏิบัติงานครั้งนี้ จะเป็นแผนใหม่ในการปฏิบัติจิตวิทยา และจะเป็นตำราเล่มใหม่ในอนาคต ความซื่อสัตย์สุจริตที่ทำนี้ ฉันพอใจมาก”

การปฏิบัติงานที่ว่านี้ หมายถึงการสร้างโรงเรียนในพื้นที่สีแดง ซึ่งอยู่ในเขต “อำนาจรัฐแดงภูพาน” ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ภาคอีสานเหนือ ได้เป็นผลสำเร็จ

นี่คือตำราเล่มใหม่ที่ชื่อ “การเมืองนำการทหาร” ซึ่งเวลานั้น พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 2 

ปี 2518 พล.อ.เปรมเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ได้จัดตั้งหน่วยผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 1718 (พตท.1718) มอบให้ พล.อ.อาทิตย์ เป็นผู้บัญชาการปราบคอมมิวนิสต์ภูซาง อีกด้านหนึ่งก็ทดลองใช้ทฤษฎีการเมืองนำการทหาร โดยเน้นยุทธวิธี “บ้านล้อมป่า” และจัดตั้ง "ไทยอาสาป้องกันตนเอง" (ทสป.) เพื่อต่อสู้ปกป้องหมู่บ้าน

จริงๆแล้ว การจัดตั้งราษฎรอาสาต่อต้านคอมมิวนิิสต์ทำกันมานานแล้ว แต่ไม่ได้ผล เพราะไม่มีการติดอาวุธทางความคิด ฉนั้น พล.อ.หาญที่รับบทมือทำงานมวลชน จึงต้องอธิบายคำว่า “บ้านล้อมป่า” คืออะไร? เพื่อลบล้างแนวทาง “ชนบทล้อมเมือง” ของคอมมิวนิสต์

 

ชนะยังไง?  พลิกตำรา “บ้านล้อมป่า”  ฉบับ “แม่ทัพหาญ”

 

ทีมงานของ พล.อ.หาญ สมัยโน้น ระหว่างการอบรม “ทสป.” วิทยากรต้องบอกกับชาวบ้านว่า เงื่อนไขความยากจน และการกดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบของข้าราชการเลว ก่อให้เกิดคอมมิวนิสต์ ในระดับชาติ ต้องส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ขจัดเผด็จการ 

จากผลงานอันโดดเด่นของ ทสป. พล.อ.เปรม ในฐานะ ผบ.ทบ. จึงผลักดันให้รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ยกระดับ ทสป. เป็นไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) ตั้งแต่ปี 2522 

“บ้านล้อมป่า” รูปธรรมของการเมืองนำการทหาร เป็นต้นทุนที่เก็บรับมาจากภาคอีสาน และแม่ทัพหาญ นำไปต่อยอดสมัยอยู่ภาคใต้ในชื่อ “ใต้ร่มเย็น” ที่ผู้คนยังจดจำ