ทีเซลส์เปิดพื้นที่ pitching เชื่อมนักวิจัย-นักลงทุน

ทีเซลส์เปิดพื้นที่ pitching เชื่อมนักวิจัย-นักลงทุน

ประเทศไทยมีงานวิจัยกว่า 3 แสนชิ้นต่อปี มีไม่มากที่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับองค์กรวิจัย ซึ่งรวมถึงศูนย์ทีเซลส์ที่จัดทำโครงการ pitching จับคู่นักวิจัยเจ้าของผลงานกับภาคธุรกิจเอกชนด้านชีววิทยาศาสตร์

นายนเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีแม้จะมีผลงานวิจัยที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ในรูปแบบของการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ส่งผลให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากนัก ทั้งที่มีผลงานวิจัยที่มีศักยภาพที่ก่อให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญาสามารถนำไปสู่การอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Technology Licensing) หรือการจัดตั้งบริษัทเริ่มใหม่ ขณะที่อีกด้านหนึ่งบริษัทเอกชนไทยจำนวนหนึ่งก็เริ่มเสาะแสวงหาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือยกระดับความสามารถของผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อสร้างความมั่นได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด


ทีเซลส์ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนให้เกิดธุรกิจชีวภาพจากนวัตกรรม ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ยา ชีวภัณฑ์ทางการแพทย์ อาหารเสริมทางการแพทย์ ชุดทดสอบและบริการวิเคราะห์ทดสอบด้านจีโนม ยีน และทุกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาศาสตร์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการจับคู่ระหว่างผลงานวิจัยกับภาคธุรกิจและนักลงทุน จึงได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดทำโครงการส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้วยการลงทุน ปีที่ 2 : Promoting Life Sciences Innovation with Investment “Promoting I with I” วันที่ 6- 7 มี.ค.นี้ ผลักดันให้งานวิจัยด้านชีวิวิทยาศาสตร์ที่คัดสรรแล้วจำนวนหนึ่ง มานำเสนอเป็นต้นแบบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน และพร้อมเข้าสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์โดยภาคเอกชนต่อไป


ทั้งนี้ โครงการเมื่อปีที่แล้วได้จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ 3 ครั้ง มีการเจรจาระหว่างนักวิจัยกับนักลงทุน 47 คู่ ปรากฏว่ามี 2 โครงการที่ประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดสิทธิ ได้แก่ กรรมวิธีการกระตุ้นการผลิตสารดีออกซีไมโรเอสทรอลจากกวาวเครือขาวด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์แขวนลอยของ รศ.วราภารณ์ ภูตะลุน นักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นกับบริษัท ไพฑูรย์สะพลี จำกัด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกวาวเครือขาวที่กักเก็บด้วยอนุภาคนาโนในรูปแบบอิมัลเจลสำหรับการนำส่งฮอร์โมนทางผิวหนัง ของ สุวิมล สุรัสโม นักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติกับบริษัท เกทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด แม้ว่าจำนวนการถ่ายทอดสิทธิบัตรไม่มาก แต่แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ เชื่อว่าจะสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุน รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มจากการต่อยอดงานวิจัยในวงกว้าง