แท็กทีมพันธมิตร เพื่อท้องเด็กไทย

แท็กทีมพันธมิตร เพื่อท้องเด็กไทย

ตั้งต้นนวัตกรรม “ไบโอเว็กจี้” ผักอัดเม็ด หวังปลดล็อกปัญหาคนไม่กินผัก สอดคล้องกับอุดมการณ์ “ฟู้ด ฟอร์ กู้ด” โครงการส่งเสริมเด็กไทยเข้าถึงอาหารครบคุณค่า จุดร่วมความร่วมมือนำอาหารคุณภาพ เสิร์ฟอนาคตชาติ

ด้วยเจตนารมณ์ของการอยากเข้าไปมีส่วนทำให้คนไทยทุกเพศ ทุกวัย ได้ทานผักผลไม้ ตามเกณฑ์ของโภชนาการทั่วไปที่ต้องทานผักปริมาณ 450 กรัมต่อวัน ขัดแย้งกับผลสำรวจพฤติกรรมทานอาหารคนไทยส่วนใหญ่ทานผักผลไม้น้อยกว่าปริมาณดังกล่าว

กลายเป็นเหตุผลที่่ วิริยา พรทวีวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมผักอัดเม็ด “ไบโอเว็กกี้” (Bioveggie) นำผัก-ผลไม้ที่เหลือเกษตรกรในโครงการหลวง มาแปรรูปอัดเม็ดเสิร์ฟ ให้คนไทยที่รักความสะดวกสบาย ได้คุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยต่อสารเคมี โดยเฉพาะเด็กที่เห็นผักแล้วเบือนหน้าหนี หรือผู้ป่วยที่ทานผักสดยาก ก็ยังได้คุณค่าจากนวัตกรรมที่บริษัทคิดค้น

หลังจากซุ่มวิจัยตั้งแต่ปี 2554 เปิดตลาดจนถึงปัจจุบันมียอดขายไม่ต่ำกว่า 5,000 กล่องต่อเดือน แบ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศ 80% และส่งออก 20% มีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 20-30 %ต่อปี

นั่นคือความสำเร็จในมิติทางธุรกิจที่เริ่มจากการคิดนวัตกรรมให้คุณค่าทางอาหาร 

ทว่า โจทย์ใหญ่ของสังคมไทยที่ยังมีเด็กไทยที่อยู่ห่างไกลมีภาวะ ทุพโภชนาการ หรือขาดสารอาหารกว่า 3 ล้านคน หมายถึงได้รับคุณค่าจากอาหารไม่สมดุล มากบ้างน้อยบ้าง ตามกำลังทรัพย์ ตามกำลังการเข้าถึงของอาหาร โดยเฉพาะนักเรียนในท้องถิ่นห่างไกล และเด็กที่ได้รับการอนุเคราะห์ในมูลนิธิต่างๆเพราะเห็นปัญหาเดียวกัน จึงขับเคลื่อนมูลนิธิ ยุวพัฒน์ ภายใต้โครงการ “Food4Good” (ฟู้ด ฟอร์ กู้ด) พี่อิ่มท้อง น้องอิ่มด้วย โครงการที่กำลังแสวงหาพันธมิตรธุรกิจเข้าไปร่วมมือกันแก้โจทย์ให้เด็กไทยเหล่านี้ได้มีเข้าถึงอาหารเพียงพอ และถูกหลักโภชนาการ โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย หักเปอร์เซ็นต์จากโครงการที่จำหน่ายอาหารไปแบ่งให้น้องในพื้นที่ห่างไกลเป็นค่าอาหาร

กิจกรรมของโครงการมูลนิธิ “ฟู้ด ฟอร์ กู้ด” มีจุดยืนตรงกับสิ่งที่ไบโอเว็กกี้กำลังขับเคลื่อน และยังสร้างแรงบันดาลใจ ปลุกหัวใจเมตตาที่อยากลุกขึ้นมาส่งต่อคุณค่าด้านโภชนาการให้เด็กไทยได้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง สมองแจ่มใส่ ตั้งใจเล่าเรียน เป็นกำลังหลักพาอนาคตไทยพัฒนาความเจริญในยุคถัดไป

จึงเป็นการผนึกกำลังกันระหว่าง 2 พันธมิตร คือ โครงการ ฟู้ด ฟอร์ กู้ดกับ ไบโอเว็กกี้ ร่วมโครงการจัดหาอาหารให้กับเด็กไทย

กิจกรรมที่มูลนิธิทำตรงกับโจทย์ของผลิตภัณฑ์ของไบโอเว็กกี้ ซึ่งต้องการให้เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ได้ประโยชน์จากผัก โครงการฟู้ด ฟอร์ กู้ด จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของก้าวเล็กๆ ที่จะหักรายได้นำเงินไปสนับสนุนค่าอาหารกลางวัน อุปกรณ์ทำครัว และการปลูกผักไว้เพื่อเป็นวัตถุดิบมาปรุงอาหารเอง

วิริยา เข้าไปหารือกับประภาพรรณ บรรลุศิลป์ ผู้จัดการโครงการ ฟู้ด ฟอร์ กู้ด ซึ่งเป็นคนอุดมการณ์และความคิดคล้ายกัน คุยกันถึงวิธีการสนับสนุนหลายรอบ ก่อนตกผลึกบันทึกความตกลง (MOU) ร่วมกัน

โดยไบโอเว็กกี้ ตกลงที่จะแบ่งรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์ 10 บาท ต่อ 1 กล่องที่มีมูลค่า 535 บาท

สำหรับยอดขายออนไลน์ไบโอเว็กกี้เฉลี่ยจำหน่ายได้ 200 กล่องต่อเดือน โดยที่ผ่านมามีสัดส่วนการขายผ่านออนไลน์ 20% ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งปีนี้เป็นปีเริ่มต้นของการรุกกลยุทธ์ออนไลน์จริงจัง โดยหวังเพิ่มสัดส่วนเป็นช่องทางออนไลน์ต่อออฟไลน์สัดส่วน 50/50 หรือมียอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดด เริ่มต้นที่เพิ่มเป็น 300 กล่องต่อเดือน และหวังจะปิดการขายให้ถึง 1,000 กล่องภายในสิ้นปีนี้้

ยอดขายการตลาดออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น หมายถึงกำลังสำคัญในการส่งต่อคุณค่าทางโภชนาการไปยังน้องๆ กว่า 976 คน ใน 4 มูลนิธิ ได้แก่ สหทัยมูลนิธิ มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ มูลนิธิบ้านนกขมิ้น และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กตลอดจนกระจายกำลังไปสู่น้องๆ ในโรงเรียนที่ห่างไกล ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เราเริ่มต้นจากการแบ่งเม็ดเงินจากยอดขายออนไลน์เติบโตขึ้น น้องๆ ก็ได้รับยอดเงินในการซื้ออาหารเข้าครัวเพิ่มขึ้น ซึ่งคนบนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่ ชอบซื้อผลิตภัณฑ์ โดยที่มีส่วนร่วมกับการมีบทบาทช่วยเหลือสังคม นอกจากผู้ซื้อได้ดูแลสุขภาพแล้ว ยังได้ช่วยกันส่งคุณค่าโภชนาการให้น้องๆด้วย”  วิริยา เล่า

อนาคตเมื่อธุรกิจเติบโต และหารือพันธมิตรที่ช่วยเหลือเด็กไทยในพื้นที่ห่างไกลได้ลงตัวขึ้น อาจจะเพิ่มการสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ เช่น การนำผักอัดเม็ดไปให้เด็กได้ทานกันทุกเดือน

ไบโอเว็กกี้ ไม่ใช่เพียงการแสวงหาพันธมิตรเพื่อมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม แต่ยังเพิ่มดีกรีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ตอบโจทย์สุขภาพคนไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมยั่งยืน และบริษัทก็เติบโตอีกด้วย อาทิ การนำวัตถุดิบที่ผลิตจากโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ผ่านโครงการป่าสร้างรายได้ ในโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกลุ่มธุรกิจเข้าไปให้ความรู้ตั้งแต่การทำมาตรฐานการผลิต เก็บเกี่ยวผลผลิต และรับซื้อผลิตผลจากป่าไปแปรรูป เช่น มะขามป้อม สมอไทย สมอพิเภก พัฒนาเป็นผลไม้แห้งหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มสมุนไพรมะขามป้อม และเครื่องดื่มสมุนไพรผักเชียงดา พืชสมุนไพรที่มีสารอาหารสูงมีสรรพคุณทางยา เช่น ช่วยลดความดันและน้ำตาลในเลือด ลดระดับคลอเรสเตอรอล และมีวิตามินซีสูง

สำหรับแผนระยะยาวเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ และปลดล็อกปัญหาสังคม ในด้านโภชนาการไบโอเว็กกี้วางตัวเองให้เป็นแบรนด์ที่คนนึกถึงว่าดีต่อสุขภาพ ทั้งปลอดสารเคมี มีผักจากธรรมชาติ ที่ใช้นวัตกรรมทานง่ายสะดวก และได้คุณค่า นั่นคือโจทย์ที่สอดคล้องกันกับเทรนด์โลก ที่ผู้บริโภคต้องการสิ่งที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย

วิริยาจึงเชื่อว่า หากพัฒนานวัตกรรมไปเรื่อยๆ ย่อมส่งผลทำให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกันกับกระแสและเทรนด์โลกที่ต้องการสินค้าแนวนี้อยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนทำงาน สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือ การให้พัฒนาสินค้าที่ให้เด็ก และผู้สูงอายุ ผู้ป่วย กลุ่มที่ต้องการสารอาหารได้เข้าถึงและรับประทานง่าย

ตราบใดที่กลุ่มธุรกิจพัฒนานวัตกรรมต่อเนื่อง ผู้บริโภคก็ตอบรับ เพราะคนยุคนี้แสวงหาอาหารปลอดภัย และสะดวก ไม่ต้องใช้เวลาปรุงแต่งนาน วิริยาให้แนวคิดความยั่งยืนที่มาจากจุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ส่วนแนวทางการปลดล็อกปัญหาสังคมที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนในธุรกิจ ที่ต้องส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงสารอาหารให้ครบถ้วน โดยการเข้าไปให้ความร่วมมือมูลนิธิต่างๆ หรือการเข้าไปจัดกิจกรรมเอง ให้คนทั่วไป และคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้เข้าถึงข้อมูล รวมถึงเข้าถึงอาหารปลอดภัย ได้คุณค่า โจทย์ใหญ่ที่ต้องค่อยๆ ทำจากเล็กและขยายไปในวงกว้างมากขึ้น