อพท.ชูจ้างงาน‘สูงวัย’หนุนท่องเที่ยวชุมชน

อพท.ชูจ้างงาน‘สูงวัย’หนุนท่องเที่ยวชุมชน

อพท.ลงพื้นที่กระตุ้นจ้างงานกลุ่มผู้สูงวัยรับเทรนด์สังคมชรา หลังพบเกณฑ์จ้างงานภาคท่องเที่ยวต่ำ สบช่องดูแลพื้นที่เพิ่ม 38 จังหวัดเพิ่ม ปูพรม “ทัวริสซึ่มฟอร์ออล” สร้างแหล่งท่องเที่ยว-กิจกรรมรองรับ

นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า หลังจาก อพท.นำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) ที่ให้ความสำคัญกับการจ้างงานในผู้สูงวัยและผู้พิการเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาใช้ประยุกต์กับพื้นที่พิเศษ ได้ร่วมมือกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยการจ้างแรงงานในพื้นที่พิเศษในปี 2560 เพื่อประเมินผลความสำเร็จ

หากเทียบธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นภาคีเครือข่ายและที่ไม่ได้เป็นภาคีเครือข่าย พบว่า การจ้างแรงงานท้องถิ่นในกลุ่มที่เป็นภาคีเครือข่ายมีอัตราสูง 62.46% หรือเติบโต 33%  คิดเป็นจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นจาก 1,095 คน เป็น 1,456 คน  เพิ่มขึ้นสวนทางการจ้างงานในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่เครือข่ายมีอยู่ในอัตรา 34.25% ลดลง 30% จากที่เคยสูง 5 หมื่นคนในปี 2559 ลดลงเหลือ 4.17 หมื่นคน

หากพิจารณาประเภทแรงงานในพื้นที่พิเศษปีที่ผ่านมาแรงงาน 100 คน มีการจ้างแรงงานท้องถิ่น 34คน ผู้พิการ 1 คน ผู้สูงอายุ 6 คน แต่พื้นที่พิเศษที่เป็นภาคีเครือข่ายมีการจ้างงานท้องถิ่น 62 คน ผู้พิการ 1 คน แต่ผู้สูงอายุจะต่ำกว่าที่ 1 คน

“มีแผนที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนช่วยเสริมแรงงานด้านท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษมากขึ้นในระดับ 5-6% ของผู้สูงอายุทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของชุมชนและความเหมาะสมของประเภทกิจกรรมด้วย"

อพท.มองว่าเครื่องมือที่จะใช้ส่งเสริมการทำงานของคนสูงวัยได้คือการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์(ครีเอทีฟทัวริสซึ่ม) นำร่อง 39 กิจกรรม สอดคล้องกับภูมิปัญญาและความเชี่ยวชาญของผู้อาวุโสหรือ ปราชญ์ท้องถิ่น โดยพื้นที่ที่เห็นผลเร็ว เช่น จ.น่าน ที่มีบริบทด้านการท่องเที่ยวในวิถีพุทธบูชา

ในปีนี้ อพท. จะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด“ทัวริสซึ่มฟอร์ออล”หรือการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล นำร่องสร้างแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุผู้พิการที่พัทยา จากการร่วมพัฒนาของภาคธุรกิจเอกชนที่เห็นโอกาส หลังจากนี้ เมื่อ อพท.ได้ผ่านกระบวนการรับมอบให้ขยายการดูแลจากพื้นที่พิเศษ 6 แห่ง เป็น 9 คลัสเตอร์ 38 จังหวัด ได้เข้าไปเตรียมความพร้อมรองรับกลุ่มประชากรเหล่านี้

สำหรับการสำรวจในไทย มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 14 ล้านคน คิดเป็น 17% ภายในปี 2568 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบขณะที่กลุ่มผู้พิการมีกว่า 1.8 ล้านคน

นายธีระสิน เดชารักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีและอาจารย์ประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาวะการมีงานทำของประชากรสูงอายุของไทยมีค่าเฉลี่ย 38-40% แต่ภาพรวมด้านการจ้างงานผู้สูงอายุภาคท่องเที่ยวมีเพียง 5-6% จึงมีช่องว่างอีกมากให้เร่งพัฒนาศักยภาพหรือหาที่ว่างในตลาดแรงงานส่งเสริมผู้สูงวัยมีส่วนร่วม  โดยมี 2 ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการ คือ หางานให้สอดคล้องกับความเหมาะสมภาวะร่างกายหรือจิตใจของผู้สูงวัย และให้จ้างแบบพาร์ทไทม์ เพราะยืดหยุ่นและลดต้นทุนจากการมีภาระจ้างพนักงานประจำของธุรกิจ