1 มี.ค.ได้ฤกษ์ธุรกิจเทคโนฯ ยื่นจัดเรตติ้งแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน

1 มี.ค.ได้ฤกษ์ธุรกิจเทคโนฯ ยื่นจัดเรตติ้งแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน

สวทช. จับมือ บสย. พัฒนาระบบประเมินจัดลำดับเทคโนโลยีไทย (TTRS) จัดเรตติ้งเอสเอ็มอีกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มช่องทางเข้าถึงแหล่งทุน พร้อมตั้งศูนย์ระบบประเมินเทคโนโลยี ตั้งเป้าประเมิน 50 ธุรกิจในปีแรก คาด 5 ปีเป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

หลังจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าร่วมโครงการในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาระบบการประเมินมูลค่าและเทคโนโลยีและออกแบบระบบการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากโคเทค (KOTEC) ที่เรียกว่า KTRS (Korea Technology Rating System) โดยใช้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี ผ่านทาง The Export-Import Bank of Korea (Korea EXIMBank) ในปี 2557 จากนั้นในช่วงปลายปี 2558 บสย. ลงนามกับ Korea EXIMBank เพื่อรับการถ่ายทอดความรู้เพื่อให้ไทยสามารถพัฒนาต้นแบบ “กลไกการประเมินจัดอันดับเทคโนโลยีไทย” ที่เรียกว่า Thailand Technology Rating System (TTRS) ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

“การเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่สถาบันการเงินหรือธนาคารต่างๆ ซึ่งกระบวนการพิจารณาต้องการสินทรัพย์ที่จับต้องได้เป็นหลักประกัน ในขณะที่ทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ จับต้องยาก ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนได้น้อย” นายณรงค์ ศิริฤกษ์วรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว 

ทั้งนี้  KTRS เป็นระบบประเมินที่เป็นที่นิยมในเกาหลี และสามารถใช้เข้าถึงแหล่งทุนได้จริง การที่ไทยจะมีระบบประเมินในลักษณะนี้ เพื่อเสริมศักยภาพ และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย จึงเป็นความร่วมมือครั้งนี้ โดยที่บสย. ดูตลาดและการเงิน ในขณะที่ สวทช. ดูแลเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม  สำหรับต้นแบบ “กลไกการประเมินจัดอันดับเทคโนโลยีไทย” หรือ Thailand Technology Rating System (TTRS) จึงเกิดขึ้น โดยเริ่มจากการเก็บข้อมูลจากกรณีศึกษาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย 16 บริษัทด้านการผลิตและไอซีที ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว เป็นเวลา 2 ปี (2559-2560) มาพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่มีเกณฑ์การประเมินเบื้องต้น (guideline) และ 40 ตัวชี้วัด (indicator) เพื่อกำหนดเรตติ้งของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตั้งแต่ AAA ไปจนถึง D


“แบบประเมินนี้ จะครอบคลุม 4 ด้านคือ ประเมินผู้บริหารทั้งอายุ ประสบการณ์ และความสำเร็จหรือล้มเหลว, ประเมินเทคโนโลยีว่า เป็นไปได้หรือไม่ ทันกับความต้องการของตลาดหรือไม่, ประเมินตลาด ว่าตอบความต้องการและจะมีผลตอบแทนกลับมาหรือไม่ และประเมินการเงิน สถาบันการเงินส่วนมากประเมินจากการตลาดและการเงินเป็นหลัก อาจจะดูผู้บริหารเสริมบ้างเพียงเล็กน้อย แต่ TTRS จะเป็นการประเมินที่ครบทุกมิติ โดยเฉพาะเทคโนโลยี" 


ปัจจุบัน การประเมินจัดอันดับเทคโนโลยีไทยหรือ TTRS พร้อมสำหรับการประเมินผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อให้เรตติ้งสำหรับยื่นสถาบันการเงินเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อหรือทุน โดย บสย. ได้ประสานกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้ข้อมูลของ TTRS และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ข้อมูลเรตติ้งประกอบการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งปัจจุบัน มีธนาคารพาณิชย์ 2-4 รายที่แสดงความสนใจเป็นพิเศษ  อีกทั้งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 บสย.จะจัดทำข้อมูลระบบประเมินนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าค้ำประกันและค่าชดเชยกรณีหนี้เสียที่เกิดจากธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยผู้ประกอบการจะใช้เรตติ้งค้ำประกันได้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย 


นอกจากนี้ วันที่ 1 มี.ค.นี้ จะเปิดศูนย์ระบบประเมินเทคโนโลยี (Technology Rating System Center) ที่จะรับคำขอจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยื่นของพิจารณาเรตติ้ง และทำการประเมินในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ และสำหรับใน 1 ปีแรก ตั้งเป้ารองรับผู้ยื่นพิจารณา 50 บริษัท  กลุ่มเป้าหมายของ TTRS มีทั้งผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ต้องการการประเมินเทคโนโลยีในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือกลไกการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐ และนักลงทุน บริษัท หน่วยงาน หรือสถาบันการเงิน ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ต้องการผลการประเมินเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทยเพื่อประกอบการพิจารณาสนับสนุนเงินลงทุน การค้ำประกัน หรือการรับรองจากภาครัฐและเอกชน

“KTRS ซึ่งเป็นต้นแบบของเกาหลีนั้น ใช้เวลากว่า 7 ปีในการสร้างระบบประเมินที่เสถียรและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เราหวังว่า TTRS หากได้รับการส่งเสริมจะทำได้เร็วกว่านั้น โดยเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกของเกาหลี คาดว่าภายใน 5 ปีจะทำได้  หากทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้ โอกาสที่จะเกิดการเข้าถึงแหล่งทุนต่างชาติที่เชื่อในระบบประเมินนี้ เช่นเกาหลี ก็อาจเกิดขึ้นได้” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว