เครื่องสำอางมะไฟจีน วิทย์เพิ่มค่าพืชท้องถิ่น

เครื่องสำอางมะไฟจีน  วิทย์เพิ่มค่าพืชท้องถิ่น

เครื่องสำอางจากสารสกัดมะไฟจีน เป็นต้นแบบของนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชท้องถิ่นบนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งยังจุดประกายไอเดียให้กับคนรุ่นใหม่เหลียวมองทรัพยากรท้องถิ่น

เครื่องสำอางจากสารสกัดมะไฟจีน เป็นต้นแบบของนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชท้องถิ่นบนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทั้งยังจุดประกายไอเดียให้กับคนรุ่นใหม่เหลียวมองทรัพยากรท้องถิ่นในแง่มุมใหม่ก่อนนำมาต่อยอดใช้ประโยชน์ในรูปแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างจากการแปรรูปเดิมๆ


จ.น่านเป็นแหล่งปลูกมะไฟจีนใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกประมาณ 70 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกตามสวนหลังบ้าน แม้ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้หลักแต่ก็เป็นผลไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของน่าน ทั้งยังถูกนำมาแปรรูปเป็นของฝากประจำจังหวัดในรูปแบบผลไม้เชื่อมแห้ง บ๊วย แยม น้ำผลไม้พร้อมดื่มและไวน์


เซรั่มจากสารสกัดมะไฟจีน


วิสาหกิจชุมชนขวัญธารา จ.น่าน เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบและต้องการกลับมาพัฒนาท้องถิ่นบ้านเกิด จึงรวมตัวกันจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางสมุนไพรแบรนด์ “ขวัญธารา”


ธารารัตน์ ศรีจันทร์ดี ผู้ร่วมก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนขวัญธารา มองเห็นโอกาสที่พัฒนาผลไม้เอกลักษณ์ของน่านให้เป็นเซรั่มบำรุงผิวหน้า ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางรูปแบบอื่นๆ ที่สร้างความแปลกใหม่และมีคุณค่าแตกต่างโดยมีงานวิจัยรองรับ แทนที่จะนำไปแปรรูปเป็นผลไม้เชื่อมแห้งและบ๊วย ซึ่งจำหน่ายในราคา 3 กล่อง 100 บาท สามารถเพิ่มมูลค่าเป็น 690 บาทต่อขวดขนาด 30 มิลลิลิตร


“ขวัญธาราจึงเป็นแบรนด์แรกที่ทำเครื่องสำอางจากมะไฟจีน โดยสกัดสารสำคัญทั้งจากใบและผลแล้วแต่งกลิ่นด้วยน้ำมันหอมระเหย ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเป็น มูสโฟมล้างหน้า แชมพู ครีมนวดและสบู่เหลว”


1 ปีที่ผ่านมาหลังจากทดลองทำตลาดผ่านทางออนไลน์ พบว่า ได้รับการตอบรับอย่างดี คาดว่าปีนี้จะมีรายได้เดือนละ 2 แสนบาทพร้อมเน้นการสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่รวมทั้งผู้บริโภคในประเทศเป็นหลัก ด้วยการนำเสนอจุดขายที่เป็นวัตถุดิบจากพืชท้องถิ่นที่นำมาสร้างคุณค่าและมูลค่าจากนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานทัดเทียมกับต่างประเทศ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มาจากภูมิปัญญาไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการถ่ายทอดความรู้ด้านงานวิจัย


นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์เจลว่านหางจระเข้ ใบบัวบกสเปรย์น้ำแร่ผสมว่านหางจระเข้ สบู่ว่านหางจระเข้ สบู่รังไหม สบู่นมแพะ มาร์คมะขาม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า ขณะเดียวกันนี้ยังรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์แบรนด์อื่นเพื่อลดความเสี่ยง ปัจจุบันมีสัดส่วน 50% จากเดิมสัดส่วนของการรับจ้างผลิต 70% แต่หลังจากที่เริ่มสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองสัดส่วนการรับจ้างผลิตลดลง


ปลุกสำนึกกลับบ้านเกิด


ธารารัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิก 12 คนที่เข้ามาร่วมลงทุน 1 ล้านบาทใช้สร้างอาคาร 7 แสนบาทที่เหลือ 3แสนบาทเป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยมีแนวคิดที่จะสร้างจุดขายด้วยนวัตกรรมซึ่งแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด พร้อมกันนี้ยังนำเรื่องราวของวัตถุดิบในจังหวัดมาเป็นจุดขายทำให้ผลิตภัณฑ์ดูมีเสน่ห์เมื่อลูกค้าได้สัมผัสถึงเรื่องราวเหล่านั้น รวมถึงกระแสท้องถิ่นนิยมหรือสำนึกรักบ้านเกิดที่เข้ามาช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ของขวัญธาราได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในจังหวัด ส่งผลให้สามารถนำเข้าไปวางจำหน่ายตามโรงแรม รีสอร์ท ทำให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสทดลองใช้ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดมะไฟจีน


“ทางห้างเซ็นทรัลติดต่อมาให้นำไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าที่เชียงใหม่ แต่ยังไม่ตัดสินใจเนื่องจากกังวลว่าทุนจะจม เพราะเรามีนโยบายไม่กู้เงินเพื่อทำธุรกิจ แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการจีนและเวียดนามติดต่อเข้ามา เนื่องจากมีแนวคิดว่า ต้องการสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ในจังหวัดน่านแล้วขยายไปในประเทศไทยก่อน จึงยังไม่ขยายตลาดไปต่างประเทศที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก”


ทั้งนี้ เนื่องจากเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการให้ชุมชนอยู่ได้ คนในชุมชนมีงานทำ มีรายได้ จากการเป็นฐานผลิตวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์แบรนด์ขวัญธารา ที่สร้างมูลค่าและคุณค่าเพิ่มได้มากกว่าการแปรรูปในแบบเดิมๆ เพื่อส่งเสริมเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ในจังหวัดให้เกิดความภาคภูมิใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากชุมชน และพร้อมที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดในอนาคต