หุ่นจำลองชีวิต กับพิพิธภัณฑ์เตาเผาถ่าน

หุ่นจำลองชีวิต กับพิพิธภัณฑ์เตาเผาถ่าน

พิพิธภัณฑ์เตาเผาถ่าน จำลองชีวิตชาวเลกับอาชีพเผาถ่านด้วยไม้โกงกางที่สูญหายไปแล้วในปัจจุบัน เพื่อการอนุรักษ์ป่าชายเลน

เมื่อวันที่ 30 ม.ค.61 ที่พิพิธภัณฑ์เตาถ่าน หมู่ที่ 11 ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง นักท่องเที่ยวต่างฮือฮากับการปั้นหุ่นจำลองเท่าตัวคนจริง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของชาวเลที่อาศัยอยู่ริมฝั่งชายฝั่งทะเล ลุ่มน้ำปะเหลียน เกี่ยวกับวิถีชีวิต และกรรมวิธีผลิตถ่านไม้จากป่าโกงกางในสมัยโบราณ เนื่องจากหุ่นที่มีมากกว่า 30 ตัว ได้ปั้นขึ้นจากรูปร่างหน้าตาของคนงานทั้งชาย - หญิง และเด็กๆที่มีอยู่จริงในอดีต โดยในที่นี้คนงานชาย เป็นกำลังหลัก คนงานหญิงช่วยสามีทำงานในส่วนที่ผู้หญิงทำได้ ส่วนเด็กๆ ก็หิ้วปิ่นโตมาส่งข้าวให้พ่อแม่ที่รับจ้างเป็นคนงาน โดยได้จากภาพถ่ายและคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่

ซึ่งนายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วน จ.ตรัง ได้สร้างพิพิธภัณฑ์เตาถ่านขึ้นมาในปี 2549 หลังจากที่รัฐบาลมีการยกเลิกสัมปทานป่าชายเลนในปี 2539 หลังจากพบว่า มีการตัดไม้ทำลายป่า โกงกาง เพื่อนำมาเผาถ่านกันเป็นจำนวนมาก จนทรัพยากรร่อยหรอ กระทบต่อสัตว์น้ำที่ไม่แหล่งวางไข่และขยายพันธุ์ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมจากการถูกตัดทำลาย เพื่อนำมาเผาถ่าน ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งสัตว์น้ำทะเลของเยาวชนรุ่นลูกหลานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมื่อมีการยกเลิกสัมปทานป่าชายเลนดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถออกไปตัดไม้โกงกางมาเผาถ่านได้ ส่งผลให้ธุรกิจเตาถ่านทั่วประเทศต้องปิดตัวลง เตาถ่านหลายสิบเตาในอำเภอปะเหลียน จึงถูกทุบทิ้ง เพื่อขายก้อนอิฐให้กับพ่อค้าคนกลาง โดยเหลืออยู่เพียง 1 ลูก ซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมพร้อมๆกับคนงานที่มีมากกว่า 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคนและวัยชรา ได้ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว เหลือเพียงนายสงัด เสียมไหม อายุ 72 ปี เพียงคนเดียว ที่ยังทำหน้าที่เฝ้าพิพิธภัณฑ์เตาถ่านในอำเภอปะเหลียน

องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง จึงต้องการอนุรักษ์เตาถ่านดั้งเดิมเอาไว้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตทางประวัติศาสตร์ของคนรุ่นก่อน เพื่อบอกเล่าลูกหลาน จึงได้ทำการปรับปรุงใหม่ พร้อมขอให้ครอบครัวของคนเคยเผาถ่าน ช่วยกันบริจาคสิ่งของที่ใช้ในอาชีพผลิตถ่านไม้โกงกางในอดีตเพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เตาถ่าน บนเนื้อที่ 5 ไร่

โดยการปั้นหุ่นจำลอง ทั้งหัวหน้าคนงาน และคนงานไว้เป็นที่ระลึกตามหน้าที่จริงของแต่ละคนด้วย เพื่อบอกเล่าวิถีชีวิตของคนเผาผ่านในอดีตไว้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ก่อนออกเรือไปตัดไม้ เพื่อให้คลื่นลมเปิดทาง ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น การลงเรือไปตัดไม้การแบกไม้ขึ้นจากเรือ การนำไม้โกงกางมาตากแดดแล้วให้คนงานผู้หญิง ซึ่งเป็นภรรยาของคนงานผู้ชายทุบไม้โกงกาง เพื่อลอกเอาเปลือกไม้ออก เหลือเพียงแก่นไม้โกงกางเพื่อนำเข้าเตาเผาการช่างน้ำหนักไม้ การนำไม้โกงกางมาเลื่อย การเรียงไม้เข้าเตา การนำถ่านออกจากเตา การรับค่าแรง และเถ้าแก่เตาถ่าน รวม 11 ขั้นตอน

ซึ่งนายสงัด เสียมไหม เล่าว่า ตนมีหน้าที่งัดท้ายเรือ และมีภาพตนขณะทำงานอยู่ด้วย ซึ่งทุกคนล้วนเคยมีชีวิตและทำงานอยู่ในเตาถ่านแห่งนี้ โดยในสมัยนั้นตนเข้ามาทำงานตั้งแต่อายุ 15-16 ปี ถือว่าอายุน้อยที่สุดในเตาถ่านของเถ้าแก่ (คนจีนซึ่งมีเงิน จะเป็นเถ้าแก่)แต่ปัจจุบันผู้คนทั้งหมดเสียชีวิตแล้ว ส่วนหุ่นเด็กที่เป็นลูกหลานของคนงานซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ ก็ได้แยกย้ายกันไป เหลือที่มีชีวิตอยู่คือตนเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวและเยาวชนแวะเข้าไปศึกษาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันโดยไม่มีวันหยุดตั้งแต่เวลา 09.00น.-17.00 น. และยังไม่เคยมีเรื่องหลอนใดๆเกิดขึ้น