วอนกสทช.ฝนตกทั่วฟ้า ช่วยทีวีดิจิตอล-ราคาประมูลคลื่น

วอนกสทช.ฝนตกทั่วฟ้า ช่วยทีวีดิจิตอล-ราคาประมูลคลื่น

วงการสื่อสารกระทุ้ง กสทช.ฝนตกให้ทั่วฟ้า หลังตั้งแท่นเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ขณะประมูลคลื่น 900 และ 1800 ยังคงตั้งเกณฑ์ราคาสูงลิ่ว

รายงานข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอเลื่อนโรดแม็พการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) จำนวน 5 เมกะเฮิร์ตซ์ออกไปจนกว่าผลการศึกษาของจุฬาฯต่อกรณีจัดสรรคลื่น 900 MHz ที่กสทช.จัดสรรให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อใช้ในระบบสื่อสารรถไฟฟ้าจะมีความชัดเจน รวมทั้งยังเสนอให้ปรับปรุงเงื่อนไขการประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ใหม่จากเดิมที่แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาตๆละ 15 เมกะเฮิรตซ์เป็น 9 ใบอนุญาตๆละ 5 เมกะเฮิรตซ์เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่ต้องการใช้คลื่นเพียง 5 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้นว่า การขอเลื่อนโรดแม็พประมูลคลื่นความถี่ หรือปรับเกณฑ์การจัดสรรและออกใบอนุญาตใหม่นั้นสำหรับผู้คนโดยทั่วไปคงไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้ หากกสทช.มีเหตุผลเพียงพอ

แต่ที่หลายฝ่ายยังตะขิดตะขวงใจก็คือ เหตุผลที่กสทช.อ้างเหตุที่ต้องซอยย่อยคลื่น 1800 MHz จาก3 ใบอนุญาตๆละ 15 เมกะเฮิร์ตซ์ เป็น 9 ใบอนุญาตๆละ 5 เมกกะเฮิร์ตซ์นั้นเพื่อเปิดทางให้รายย่อยเข้ามาแข่งขันนั้น น่าจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่

รายงานข่าวกล่าวว่า สิ่งที่กสทช.ควรจะทบทวนนั้น ไม่ใช่แค่การซอยย่อยใบอนุญาต แต่สมควรต้องทบทวนตั้งเกณฑ์ราคาประมูลขั้นต่ำที่อิงฐานราคาประมูลในครั้งก่อน คือ 37,457 ล้านบาท/ใบอนุญาต (15เมกะเฮิร์ตซ์) ก่อนจะทอนลงมาเป็น 12,500 ล้านบาท/5 เมกะเฮิร์ตซ์ เพราะกสทช. ต่างรู้อยู่เต็มอกว่าราคาประมูลครั้งก่อนไม่ได้เป็นราคาพื้นฐานตามราคาตลาด แต่เกิดจากบริษัทสื่อสารรายหนึ่งดั้นเมฆเคาะราคาประมูลเกินจริงเพื่อหวังใบอนุญาตก่อนจะทิ้งผลประมูลไปจนทำเอา กสทช.งานเข้า ต้องวิ่งรอกไปร้องขอให้นายกฯงัด ม.44 ผ่าทางตันให้

“ราคาตั้งต้นประมูลที่สูงเกินจริงดังกล่าว เป็นราคาที่กล่าวได้ว่าแพงเกินราคาตลาด เกินกว่าที่ผู้ประกอบการจะแบกรับไหว จึงเป็นเรื่องที่ กสทช.ควรจะมีการทบทวน เพราะแม้แต่ 2 ค่ายมือถือที่ได้ใบอนุญาตไปอย่างเอไอเอสและทรูมูฟ ยังดิ้นขอให้รัฐและกสทช.ยืดเวลาการจ่ายค่าธรรมเนียมให้ถึง 7 ปี ซึ่งล่าสุด กสทช.มีมติจะขยายให้ราว 3-5 ปี ดังนั้นการจะคาดหวังจะมีผู้ประมูลรายใหม่ หรือรายเล็กเข้าร่วมประมูลนั้นจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน”

นอกจากนี้ หากพิจารณาสภาพตลาดปัจจุบัน ผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่ว่าจะเอไอเอส ดีแทคและทรูมูฟต่างมีคลื่นความถี่อยู่ในมือมากพอจะรองรับการดำเนินธุรกิจไปได้อีกหลายปี โดยทรูมูฟและเอไอเอสมีคลื่นความถี่ในมือไม่น้อยกว่ารายละ 55 เมกะเฮิร์ตซ์ ส่วนดีแทคนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะเพิ่งบรรลุข้อตกลงรับเซ็งลี้คลื่น 2300 มาจากบริษัททีโอทีอีกกว่า 60 เมกะเฮิร์ตซ์รองรับธุรกิจไปได้อีก 7-8 ปี ส่วนรายใหม่ ส่วนรายเล็กที่ กสทช.คาดหวังไว้น้ันยังไม่มีวี่แววว่าจะมีรายได้เข้ามา แม้แต่บริษัททีโอทีและกสท โทรคมนาคมของรัฐเอง