มธ.ปั้นไซรัปกล้วยหอมทองแจ้งเกิด

มธ.ปั้นไซรัปกล้วยหอมทองแจ้งเกิด

“ไซรัปกล้วยหอมทอง” ปทุมธานี ผลิตภัณฑ์เป้าหมายจากการวิจัย มธ.สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกล้วยหอมทองตกเกรดพร้อมแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภค


ข้อดีของไซรัปกล้วยหอมทองที่พัฒนาจากงานวิจัยคือ เป็นน้ำเชื่อมกล้วยที่ไม่มีการปรุงแต่งรสชาติ สี กลิ่น จากการทดสอบเบื้องต้นพบว่ามีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ ที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ในลำไส้ และในเนื้อกล้วยยังมีสารอาหารสำคัญอย่างธาตุโพเตสเซียม ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ดูดซึมง่าย จึงเหมาะกับผู้ที่เล่นกีฬา


วิจัยเพิ่มค่าสินค้าตกเกรด


รศ.เทพปัญญา เจริญรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประมาณ 30% ของผลผลิตกล้วยหอมทองในปทุมธานีจะมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานส่งออก เนื่องจากปัญหาการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว จึงเกิดแนวคิดในการบูรณาการความร่วมมือด้านงานวิจัยภายในมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการ สมาร์ท ฟู้ด อินโนโพลิส@ ธรรมศาสตร์และจังหวัดปทุมธานี เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปกล้วยหอมทองตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน


“เราตั้งเป้าให้ปทุมธานีเป็นจังหวัดนวัตกรรมต้นแบบ ในการพัฒนาพืชเศรษฐกิจให้มีคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม โดยได้รับงบสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 8 ล้านบาท”


เริ่มจากการนำกล้วยหอมทองตกเกรดมาตรฐานการส่งออกมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม จากราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 10-25 บาท โดยมีเป้าหมายการพัฒนาคือ บานาน่าไซรัปของปทุมธานี ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในแวดวงโรงแรม หวังทดแทนเมเปิลไซรัปหรือน้ำผึ้งที่นิยมเสิร์ฟให้กับลูกค้า แต่ระหว่างกระบวนการผลิตไซรัปกล้วยจะได้น้ำกล้วยหอมทอง 100% ซึ่งยังไม่เคยมีในตลาด จึงผลิตออกมาวางจำหน่ายในรูปแบบน้ำกล้วยหอมทองพร้อมดื่ม เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในตลาดน้ำผลไม้ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง


“ส่วนไซรัปกล้วยหอมทองมีรสชาติแตกต่างจากไซรัปกล้วยตาก เพราะเป็นกลิ่นกล้วยหอมทองผสมคาราเมล รสหอมหวาน จากนั้นนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมและเครื่องดื่มได้อีก ดังนั้น จึงต้องการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้คนไทยมีโอกาสรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากไซรัปกล้วยหอมทองมากขึ้น จากที่ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะนำไซรัปไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง”


ยกระดับสินค้าเกษตรขึ้นห้าง


ในการพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์ไซรัปกล้วยหอมทองนี้ ได้ประสานความร่วมมือกับคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำไปพัฒนาเป็นขนมขบเคี้ยว 2 รายการ คือ เยลลี่และกราโนลาซึ่งนิยมรับประทานมื้อเช้ากับโยเกิร์ตหรือนม และเครื่องดื่มจะเป็นโปรตีนเวย์จากกล้วยหอมทองไม่ได้แต่งกลิ่นรส ส่วนอีกผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องดื่มกล้วยหอมผสมวิตามินซี


“เหตุผลที่ส่งต่องานวิจัยให้ทางทีม สจล. เนื่องจากเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว แค่เห็นไซรัปรู้แล้วว่าต้องนำไปพัฒนาต่อยอดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง ให้มีอายุการเก็บได้นานและนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ จะทำให้การต่องานวิจัยทำได้รวดเร็วส่งผลดีในวงกว้างต่อเกษตรกร อีกทั้งเพิ่มปริมาณความต้องการในตลาด สร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร จึงเปิดกว้างให้กับผู้ที่เชี่ยวชาญนำไปขยายผลต่อและแล้วเสร็จภายใน 1 ปี”

ปัจจุบันภาพรวมงานวิจัย กล้วยหอมทองปทุมธานี ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% คาดว่าภายใน ต.ค.นี้จะเปิดโอกาสให้เอกชนที่สนใจเข้ามารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยการมาซื้ออนุสิทธิบัตรงานวิจัยในมหาวิทยาลัยและพันธมิตร ขณะเดียวกันก็จะวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมานำเสนอ อาทิ นมอัดเม็ดรสกล้วยหอมทองผสมแคลเซียม ครีมซอสกล้วยหอมทองสำหรับผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เป้าหมายโครงงานวิจัยนี้เพื่อชุมชนโดยนำงานวิจัยในหิ้งลงมาแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรสู่ห้างได้จริง