ก.วิทย์ผุดย่านนวัตกรรมทั่วปท.ดันสตาร์ทอัพไทยสู่เวทีโลก

ก.วิทย์ผุดย่านนวัตกรรมทั่วปท.ดันสตาร์ทอัพไทยสู่เวทีโลก

ก.วิทย์เร่งสร้างอีโคซิสเต็มผลักดันกรุงเทพฯ เมืองแห่งการเริ่มต้นสตาร์ทอัพพร้อมดึงซีพี เบทาโกร ปูนซิเมนต์ไทย และปตท.หนุนสตาร์ทอัพไทยก้าวสู่เวทีโลก ตามเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0

เคเอ็กซ์ ( มจธ.) ,ทรู อินคิวบ์ , วีโคซิสเต็ม ตัวอย่างของอีโคซิสเต็มที่ช่วยผลักดันกรุงเทพฯ เมืองแห่งการเริ่มต้นสตาร์ทอัพ เล็งขยายย่านนวัตกรรมในแนวระเบียงเคเอ็กซ์ ( มจธ.) ,ทรู อินคิวบ์ , วีโคซิสเต็ม ตัวอย่างของอีโคซิสเต็มที่ช่วยผลักดันกรุงเทพฯ เมืองแห่งการเริ่มต้นสตาร์ทอัพ เล็งขยายย่านนวัตกรรมในแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก -ภูมิภาคทั่วประเทศพร้อมดึงซีพี เบทาโกร ปูนซิเมนต์ไทย และปตท.หนุนสตาร์ทอัพไทยก้าวสู่เวทีโลก ตามเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0

2 ปีของการพัฒนาสตาร์ทอัพ ในฐานะนักรบใหม่ทางเศรษฐกิจที่จะสามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเป็นตัวจักรสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยให้ก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางปัจจุบันมีจำนวนสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงพัฒนาแนวคิดกว่า 8 พันราย สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและเริ่มดำเนินธุรกิจจริงกว่า 1.5 พันราย ทำให้เกิดการจ้างงานใหม่ในธุรกิจสตาร์ทอัพไม่น้อยกว่า 7.5 พันอัตราหรือมากกว่า 4 หมื่นคน

 จูงใจธุรกิจสตาร์ทอัพ

ในขณะเดียวกัน ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยมีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 150% โดยเฉพาะในภาคเอกชนที่หันมาจัดตั้งกองทุนเพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยมีมูลค่ากองทุนที่จัดตั้งขึ้นใหม่เฉพาะปีที่ผ่านมา สูงถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการสนับสนุนภาครัฐอาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี สำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ การยกเว้นภาษี 8 ปีสำหรับโคเวิร์คกิ้งสเปซ การจูงใจให้เกิดกิจการร่วมลงทุน (VC) ขึ้นในประเทศไทย ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกิจการร่วมลงทุน เป็นเวลา 10 ปี

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในปีนี้จะเป็นการต่อจิ๊กซอว์ตัวสำคัญของประเทศโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)จะพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ และการพัฒนาสตาร์ทอัพต้องขยายพื้นที่ออกไปสู่ภูมิภาคเพื่อพัฒนาย่านนวัตกรรม 27 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกับทุกภาคส่วน ให้เป็นพื้นที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีโอกาสเติบโต และใช้ศักยภาพของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน ในการสร้างธุรกิจที่สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด เริ่มจากการผลักดันให้กรุงเทพฯ เมืองแห่งการเริ่มต้นสตาร์ทอัพ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนสร้างระบบนิเวศรองรับการเติบโตของสตาร์ทอัพโดยย่านนวัตกรรมกรุงเทพฯ ได้แก่ โยธี ปทุมวัน คลองสาน รัตนโกสินทร์ กล้วยน้ำไท ลาดกระบัง ปุณณวิถีและบางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์กลางพื้นที่นวัตกรรมธุรกิจคนรุ่นใหม่

จากการสำรวจที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เป็นอันดับ 1 ของเมืองที่ดีที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพในเอเชีย และเป็นอันดับ 7 ของโลก แซงฮ่องกงและสิงคโปร์ที่ถือว่าเป็นสถานที่อันดับต้นที่เหมาะสมกับการเริ่มต้นธุรกิจ และมีความสามารถในการแข่งขันสูง เนื่องจากตัวเลขของการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้รับความสนใจในกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงิน เหมาะสมสำหรับการผลักดันธุรกิจดังกล่าวสู่ภูมิภาคอาเซียน  จากนั้นจะขยายไปสู่ย่านนวัตกรรมในแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก 4 ย่าน ได้แก่ บางแสน ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา-บ้านฉาง ก่อนจะขยายไปสู่
กลุ่มเครือข่ายย่านนวัตกรรมภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ตและฉะเชิงเทรา หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาย่านนวัตกรรมบางพื้นที่ ทั้งมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการ รวมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชนไทยรายใหญ่ จำนวน 10 ราย อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เบทาโกร ปูนซิเมนต์ไทย ปตท. ฯลฯ ร่วมขับเคลื่อนสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวสู่ระดับโลก

มุ่งเป้าอสังหาฯและสมาร์ทซิตี้

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ และบริษัทพัฒนาเมืองชั้นนำ 9 จังหวัด พัฒนาสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์และเมือง เนื่องจากมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากมาย อาทิ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทพัฒนาเมือง, ธนาคาร, ผู้ประกอบการ, ผู้รับเหมา, ผู้ค้าวัสดุ, ที่ปรึกษาต่างๆ มีมูลค่า 4.5-5 แสนล้านต่อปี นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ ในการยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมในระดับย่านนวัตกรรม เพื่อยกระดับโลคัล อีโคโนมีด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและ นวัตกรรม

พร้อมกันนี้ได้ขยายโอกาสการเข้าสู่สตาร์ทอัพในกลุ่มนักเรียนอาชีวะ มุ่งผลักดันการสร้างวิธีคิด การสร้างทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อสร้างนักรบใหม่ทางเศรษฐกิจ ด้วยการจัด ไทยแลนด์ พิทชิง ชาเลนจ์ “อาชีวะ R-League” ในลักษณะเดียวกับมหาวิทยาลัย กำหนด 1 พันทีมตั้งต้น จัดประกวด 3 รอบ คัดให้เหลือ50 ทีมสุดท้าย เพื่อเข้าค่ายอบรม เสริมสร้างความรู้ด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบ่มเพาะการก้าวเป็นสตาร์ทอัพรายใหม่ จากนั้นแข่งขันคัดเหลือ 10 ทีมสุดท้ายเข้าร่วม ในงาน สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2018 พร้อมทั้งเร่งพัฒนาระบบบ่มสตาร์ทอัพให้มีความสามารถในการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ ในรายสาขาที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาทิ สุขภาพ ภาครัฐ เกษตร อาหาร และท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น