'ธรรศพลฐ์'สู้ศึกราคา รักษาเบอร์1‘แอร์เอเชีย’

'ธรรศพลฐ์'สู้ศึกราคา รักษาเบอร์1‘แอร์เอเชีย’

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา "แอร์เอเชีย" กลุ่มสายการบินรายใหญ่ประจำภูมิภาค มีความเคลื่อนไหวใหญ่ 2 เรื่องซึ่งเป็นที่จับตามอง

เมื่อ ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ซื้อหุ้นของ บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ในสัดส่วน 36.3% คิดเป็นมูลค่ารวม 8,279 ล้านบาท คืนจากครอบครัวศรีวัฒนประภา กลุ่มคิงเพาเวอร์ ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 41.3%

ส่วน โทนี เฟอร์นานเดส ผู้ก่อตั้งแอร์เอเชีย ประกาศการเคลื่อนแผนจัดตั้ง บริษัทโฮลดิ้ง รวบรวมทุกสายการบินในเครือข่ายเข้ามาอยู่ในร่มการลงทุนเดียวกัน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แม้จะการโยงใยว่า การซื้อหุ้นคืนของเขาและการปรับโครงสร้างของกลุ่มแอร์เอเชียเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ตนเองยืนยันว่า “ไม่เกี่ยวข้อง” เพราะการตัดสินใจของเขามีขึ้นเพื่อทำให้การบริหารสายการบินมี "ความคล่องตัวมากขึ้น" เท่านั้น

“ต้องแยกเป็น 2 เรื่องก่อน ที่เราซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชียคืนมา เพื่อต้องการความคล่องตัวในการบริหาร แล้วก็ให้ความมั่นใจพนักงาน เพราะเมื่อเราเป็นคณะกรรมการด้วยและบริหารด้วย ถ้าคิดอะไรก็สามารถทำได้เลย เพราะรู้อยู่แล้ว แต่เมื่อบุคคลนอกเข้ามาก็ต้องเรียนรู้ แต่การบินมันเป็นธุรกิจที่เร็ว ซับซ้อน คู่แข่งก็มาก จึงพูดคุยกับผู้ถือหุ้นทางนั้นว่าขอซื้อคืนเถอะ เพราะจะได้มีความคล่องตัว ยืนยันว่าไม่ได้โกรธกัน ในช่วงปีครึ่งทุกอย่างไปได้ดี แต่เราขอทำเองดีกว่า และอนาคตระยะยาวก็คงอยู่ต่อไป ไม่มีการขายให้ใครแล้ว ชื่อของธรรศพลฐ์จะอยู่กับแอร์เอเชียจนกว่าจะไม่มีลมหายใจ”

ส่วนการปรับโครงสร้างที่มาเลเซียนั้น ธรรศพลฐ๋ แจงว่าเป็นเรื่อง "ความฝัน" ของ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย ที่อยากจะมีบริษัทเหมือนสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งทุกสายการบินมาถือหุ้นอยู่ในที่เดียวกันเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ไม่ว่าจะเป็นไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, อินเดีย เพื่อจะได้มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน

แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการบริหารของเครือข่าย แต่กฎหมายไทยอาจจะยังไม่เอื้ออำนวย และต้องใช้เวลา ซึ่งเขามองว่า อย่างน้อยถ้าไม่เริ่มเขี่ยบอล ก็จะไม่ไปไหน ขณะนี้เริ่มมีการขยับในหลายประเทศแล้ว เช่น แอร์เอเชีย อินโดนีเซีย เริ่มจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่นเดียวกับ แอร์เอเชีย อินเดีย ที่มีแผนเข้าตลาดเร็วๆ นี้เช่นกัน

ส่วนกรณีที่บางบริษัทในเครือมีผลประกอบการที่เข้มแข็งไม่เท่ากัน อาทิ ไทย ที่พิจารณาจากผลงานแล้วอาจจะโดดเด่นกว่าแอร์เอเชียในประเทศอื่นๆ ซึ่งการรวมตัวครั้งนี้อาจทำให้มองเป็นความเสียเปรียบหรือไม่นั้น ผู้บริหาไทยแอร์เอเชีย ยังเชื่อว่าทุกคนยังได้การแบ่งปันเท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน หรือกระทั่งผู้ถือหุ้นรายย่อย และยังมองในแง่บวกเพราะมีมาร์เก็ตแคปใหญ่มากขึ้น

“เขาไม่ได้ไดลูทเรา เราก็ไม่ได้ไดลูทเขา เมื่อก่อนต่างคนจดทะเบียนในตลาด ก็จะต่างคนต่างเล็ก ผิดกับเมื่อรวมตัวกันแล้วจะเป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก วันหนึ่งเราอาจจะไปจดทะเบียนในแนสแด็ก (ตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐ) ก็ได้ ใครจะรู้”

ส่วนการที่ผลประกอบการยังไม่เสมอกันนั้น ยืนยันว่าต้องลองทำดู ไม่ต่างอะไรกับในเออีซี หากประเทศที่ดีกว่าและด้อยกว่าจะอยู่ในระดับเดียวกัน ประเทศที่ด้อยกว่าก็ต้องรีบพัฒนาขึ้น ประเทศใหญ่ก็ต้องช่วยประเทศเล็กขึ้นมา

“เชื่อว่าเราไม่ต้องแบกใคร เพราะทุกสายการบินจะโตทันกันหมด อย่าลืมว่าอินโดนีเซียมีประชากรเกือบ 300 ล้านคน ฟิลิปปินส์ก็พอๆ กับเรา เพียงแต่เกิดช้าในภาวะที่คู่แข่งเยอะ ทำให้โตช้า แต่วันหนึ่งความสามารถในการทำกำไรของเขาอาจจะดีกว่าเราก็ได้ ขณะที่เราเองก็มั่นใจว่าตลาดไทยยังแข็งแรง และรักษาอันดับหนึ่งไว้ได้”

ส่วนโครงสร้างการทำงานที่จะปรับเปลี่ยนตามมาก็คือ ความกระชับ ทำตัวให้เล็กลง เพื่อประหยัดต้นทุนมากขึ้น การทำงานด้านใดที่ไทยทำได้ดี อาจจะเข้าไปช่วยประเทศอื่นๆ แต่อะไรที่ประเทศอื่นทำได้ดี ก็อาจให้ต่างประเทศทำก็ได้เช่นกัน

ขณะที่อีกสายการบินในเครือที่มีในไทยคือ "ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์" ซึ่งจะได้อานิสงส์เต็มที่จากการปลดธงแดงนั้น ธรรศพลฐ์ ย้ำว่า ต้องจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 2-3 ปีนี้แน่นอน และต้องรีบเข้าเพราะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ทุนจำนวนมาก เนื่องจากเครื่องบินลำใหญ่กว่า ราคาแพงกว่า หากจดทะเบียนแล้วมีเรตติ้งดี ก็สามารถออกบอนด์เพื่อซื้อเครื่องบินได้ ไม่สามารถพึ่งเงินทุนจากผู้ถือหุ้นมาคอยใส่อย่างเดียวไม่ได้ เพราะขนาดที่เติบโตขึ้นทำให้ต้องใช้เงินทุนเยอะขึ้นมาก

แม้ว่าแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ของมาเลเซีย ที่เป็นต้นแบบของการบินระยะไกลจะขลุกขลักในช่วงหลายปีก่อน แต่ผู้บริหารไทยมองว่า ความต่างที่จะทำให้ไทยประสบความสำเร็จ ไม่ซ้ำรอยเดิมนั้น เพราะสามารถนำบทเรียนจากมาเลเซียที่ไปลองผิดลองถูกมามากแล้ว มาวางโมเดลที่ถูกต้องได้ สังเกตได้จากผลประกอบการของแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มาเลเซียเองที่มีกำไรดีขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา

ส่วนไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ก็มีความหวังในการเดินหน้าจดทะเบียนในตลาด และบรรจุลงในบริษัทโฮลดิ้งตามเป้าหมายเช่นกัน เนื่องจากเริ่มมีกำไรน้อยๆ มาตั้งแต่ปี 2559 และมากำไรอีกครั้งในปี 2560 ซึ่งหากทำกำไรได้ 3 ปีติดต่อกันในปีนี้ ก็จะมองการระดมทุนด้วยการเข้าตลาดตามแผนได้

ยอมสู้ราคารักษาเบอร์หนึ่ง

ธรรศพลฐ์ ย้ำด้วยว่า การขับเคลื่อนทุกก้าวหลังจากนี้ ยังมีเป้าหมายมุ่งมั่นในการ "รักษาอันดับ 1" ของส่วนแบ่งตลาดในทุกเส้นทางที่บินเข้าไป โดยจะยอมสู้กับคู่แข่งที่เข้ามาอย่างถึงที่สุด แม้ว่าจะใช้กลยุทธ์ "ตัดราคา" ดุเดือดขนาดไหน ก็พร้อมจะเข้าแลกทันที

“ทุกวันนี้ราคาตั๋วโดยสารปรับดีขึ้น คงเพราะตัดราคากันไม่ไหวแล้ว เพราะถึงใครจะตัดมาแค่ไหน เราก็จะลงราคาต่ำสู้ ที่ผ่านมาเราสู้ตลอด แต่ก็ยังมีกำไร ปีที่ผ่านมาคนอื่นขาดทุนหมด บอกได้เลยว่าไม่มีจุดไหนที่เราคิดว่าไม่เอาแล้ว จะไม่ลงไปสู้ มีแต่ขาดทุนก็ยอม เพื่อรักษาเบอร์ 1 ให้ได้”

เพราะการเป็นเบอร์ 1 หมายถึงการเป็นผู้ชี้เกมในตลาด เช่น การกำหนดราคาตั๋วโดยสาร ซึ่งเขาเปรียบเทียบว่า “เหมือนใครหยอดเหรียญก็มีสิทธิเลือกเพลง” เนื่องจากเมื่อมีวอลลุ่มมาก คนจดจำแบรนด์ได้ดี ก็ปรับราคาดีขึ้น ส่งผลให้กำไรเพิ่มขึ้น ดังนั้น แม้ว่าการเป็นแชมป์ จะได้มาด้วยการทำราคาต่ำเพื่อรักษาที่มั่นในบางครั้ง ผลตอบแทน ยังถือว่าคุ้มค่า เพราะแม้จะลดราคาลงก็ยังได้วอลลุ่มที่ดีมาทดแทน

สำหรับการเข้ามาของคู่แข่งหน้าใหม่มาแรงอย่าง "ไทย ไลอ้อน แอร์" นั้น แม้ว่า ธรรศพลฐ์ ออกตัวเสมอว่า "ไม่คอมเมนต์" คู่แข่งร่วมธุรกิจ แต่เขาชี้ให้เห็นว่า การจะวัดผลว่าสายการบินใดประสบความสำเร็จนั้น ไม่สามารถดูได้จากจำนวนฝูงบิน หรือ มาร์เก็ตแชร์ อย่างเดียวได้ สุดท้ายควรดูที่ปลายทางคือ "กำไร" ที่จะสะท้อนถึงการใช้เครื่องบินและบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างเช่น ไทยแอร์เอเชีย มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ 30% ถ้าคู่แข่งได้ส่วนแบ่งไป 18% ก็ควรจะได้กำไรอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของไทยแอร์เอเชีย แต่หากยังขาดทุนอยู่ ก็หมายถึง ส่วนแบ่งตลาดนั้นไม่ได้แข็งแรง แต่เป็นการซื้อส่วนแบ่งมาด้วยการขายตั๋วราคาถูก

ประกาศทวงแชมป์อีสานคืน

“คู่แข่งที่เติบโตขึ้น อาจเป็นเพราะอีกสายการบิน (นกแอร์) อ่อนแอลงไปเอง จึงได้ส่วนแบ่งจากตรงนั้นไปราว 15% ซึ่งหากวันไหนนกแอร์ไปฟื้นฟูจนแข็งแกร่งขึ้นมา ก็จะไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ขณะที่ส่วนแบ่งที่ได้ไปจากไทยแอร์เอเชียน่าจะอยู่ราว 4-5% จากเส้นทางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเราปล่อยไปเอง แต่นับจากปีนี้ไป เราพร้อมแล้วที่จะกลับไปยึดอีสานคืนมา เพราะตอนที่คู่แข่งรายใหม่เข้ามา เราไปสู้ศึกรอบด้านไม่ได้ เมื่อดูแล้วว่าภาคใต้และภาคเหนือน่าจะทำเงินได้ดีกว่า เราก็ถอนไฟลต์จากอีสานไปยึดสองแห่งนั้นก่อน พอเต็มที่แล้ว ในวันนี้เราจะขยับจากที่ 2 กลับไปที่ 1 เหมือนเดิม”

ส่วนเส้นทางต่างประเทศนั้น ธรรศพลฐ์ มองว่าการเป็นที่หนึ่งยัง “ฉลุย” เนื่องจากคู่แข่งเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ขณะที่ไทยแอร์เอเชีย มีแผนการสร้างการเติบโตที่เน้นความเข้มแข็ง และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป

โดยเฉพาะ “จีน” ที่ทุกสายการบินกำลังมุ่งหน้าไปอย่างหนัก แต่ไทยแอร์เอเชียกลับมองสวนทางออกไป

“จีนยังมีจีดีพีเติบโตที่ดี คนจีนชื่นชอบเดินทางมาไทย ถือว่าตลาดยังไปได้อีกสบาย แต่ถ้าเราปล่อยไปเรื่อยๆ อาจจะครองส่วนแบ่ง 50% ของธุรกิจได้ ซึ่งถ้าวันไหนฟองสบู่จีนแตก เราก็แตกไปด้วย จึงต้องสร้างสมดุลให้อยู่แค่ 30% เท่านี้ เป้าหมายจริงต้องการเพียง 25% ด้วยซ้ำ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ขยายเมืองจีนเพิ่ม แต่ถ้าเปิดเพิ่มก็ต้องเปิประเทศอื่นๆ ด้วย เพื่อให้คงสัดส่วนเดิมไว้”

เมื่อถามว่าเสียดายโอกาสที่อาจจะสูญเสียในช่วงกอบโกยหรือไม่ ในเมื่อทุกสายการบินน่าจะไปได้ดีในเส้นทางดังกล่าว ธรรศพลฐ์ กล่าวว่า “ตามสบาย” เพราะที่ผ่านมาทุกแห่งอาจยังไม่เคยเข้าไป ก็ต้องปล่อยไปก่อน แต่ไทยแอร์เอเชียเข้าไปเป็นสิบปีแล้ว จึงเห็นทุกอย่างปรุโปร่ง บางสายการบินมุ่งทำแต่เช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ล้วนๆ พอถึงช่วงปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ ก็ต้องจอดเครื่องบินไว้เลย บินออกไม่ได้แม้แต่ไฟลต์เดียว จึงไม่อยากเป็นเช่นนั้น

“เราไม่เสียดายโอกาส เพราะโอกาสนั้นเราได้ไปก่อนใครแล้ว”

สำหรับหนึ่งในตลาดที่จะเข้ามากระจายความเสี่ยงในระยะยาวนั้น มองไปที่ “อินเดีย” แต่ทั้งนี้ ยังเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะจีดีพียังไม่แข็งแกร่งเท่าจีน ประชากรยังไม่มีเงินในกระเป๋าพร้อมจับจ่ายเท่า อีกทั้งยังไม่มีการเปิดน่านฟ้าเสรี ต้องอาศัยการเจรจาแบบทวิภาคีเพื่อเพิ่มที่นั่งในเส้นทางระหว่างประเทศ ในปีนี้จึงอยู่ระหว่างการขอเปิดจุดบินอีก 2-3 แห่ง โดยต้องเข้าไปเพื่อเรียนรู้ตลาด และรอการสุกงอมก่อน

ทั้งนี้ แม้ว่าจะยอมรับว่าตั๋วโลว์คอสต์ของไทย โดยเฉลี่ยยังต่ำที่สุดในกลุ่มอาเซียน และยังต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นราว 15-20% ซึ่งถือว่าหนักหนาสาหัสอยู่ ซึ่งหากไม่มีการกดดันราคาจากคู่แข่งมากเกินไป ไทยแอร์เอเชียก็พร้อมจะดันราคาขึ้นให้ ในฐานะที่เป็นผู้กำหนดราคา

“ถ้าจะทำให้ธุรกิจสุขภาพแข็งแกร่งในระยะยาว รักษากำไรที่ดี ทุกเส้นเราต้องเป็นเบอร์ 1 หรือไม่ก็เบอร์ 2 ไม่ว่าจะเส้นทางในหรือต่างประเทศ แค่นี้ก็อยู่ได้สบาย แม้ว่า ไทยแอร์เอเชีย ไม่อยากแข่งขันกับใคร แต่ถ้ามาแข่งก่อนด้วยการตัดราคาก็จำเป็นต้องสู้ ทุกเส้นทางที่เราบินอยู่ ใครที่จะเข้ามาก็ต้องถอยทั้งนั้น ฝากบอกด้วยว่า อย่าเข้ามาเลย เสียเวลาเปล่า”

ส่วนการเปิดเส้นทางในประเทศปีนี้ หลังจากเปิดตัวเส้นทางชุมพรล่าสุดแล้ว ถือเป็นจิ๊กซอว์ที่เกือบทำให้ครบทั้งประเทศแล้ว สำหรับสนามบินที่เครื่องบินแอร์บัส เอ320 สามารถลงจอดได้ โดยเฉพาะการเป็นสายการบินเดียวที่มีเที่ยวบินลงครบ 19 จุดหมายใน 55 เมืองรองที่มีสนามบินรองรับ ตามที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระจายรายได้ ภายในเร็วๆ นี้จะมีแคมเปญใหญ่ช่วยออกมาเขย่าตลาดอีกครั้งแน่นอน