เผยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนยังขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง!!

เผยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนยังขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง!!

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" เผยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนยังขยับสูงขึ้นตามแนวโน้มสินเชื่อ - ทิศทางเศรษฐกิจ ห่วงคนรุ่นใหม่ก่อหนี้เร็วขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีโอกาสขยับลงมาอยู่ที่กรอบประมาณ 77-78% ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจไทยปี 61 ขยายตัวในกรอบ 3.5-4.5% โดยแม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 61 มีโอกาสลดต่ำลงต่อเนื่องเป็นปีที่สาม เนื่องจากอัตราการขยายตัวของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจประจำปี (Nominal GDP ซึ่งมีผลของราคาสินค้าที่มีทิศทางขยับขึ้น) ยังมีสัดส่วนที่่สูงกว่าการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน 

อย่างไรก็ดี ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่ยังคงขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามแนวโน้มสินเชื่อและทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม ยังคงเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า ภาระหนี้สินยังเป็นประเด็นที่เปราะบางของครัวเรือนบางกลุ่ม โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีภาระผูกพันกับหนี้หลายก้อน รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่มีการก่อหนี้เร็วขึ้น ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในบริบทนี้ ต้องพึ่งพาความร่วมมือจากหลายฝ่ายเข้าด้วยกัน

"สินเชื่อรายย่อยหลายประเภท ที่มีสัญญาณขยายตัวได้ดีในช่วงไตรมาส 4/ 60 อาจช่วยหนุนให้ยอดคงค้างของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) ในไตรมาส 4/60 ขยายตัวได้ประมาณ 4.0% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ไตรมาส หลังจากที่เติบโต 3.7% หากเทียบในไตรมาสที่ 3/ 60 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 60 มีโอกาสทรงตัว หรือขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่กรอบประมาณ 78.3-78.5% จากระดับ 78.3% ต่อจีดีพีในไตรมาสที่ 3/60"

อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจภาระหนี้ที่ผ่านพบว่า ประมาณ 78% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม เป็นบุคคลที่มีภาระหนี้ “อย่างน้อย” 1 ประเภท และสัดส่วนประมาณ 35.6% ของประชาชนในกลุ่มที่มีภาระหนี้ ระบุว่า มีภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนเพิ่มขึ้น ขณะที่ 49.7% มีภาระผ่อนชำระหนี้เท่าเดิม และมีเพียง 14.6% เท่านั้นที่มี ภาระการผ่อนชำระหนี้ลดลง