เคทีบีคาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ 'ผันผวน'

เคทีบีคาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ 'ผันผวน'

บล.เคทีบี มอง "หุ้นไทยสัปดาห์" นี้ (22-26 ม.ค.) แกว่งตัวผันผวน upside หุ้นเริ่มมีไม่มาก มองกรอบดัชนีสัปดาห์นี้ที่ 1,800-1,840 แนะลงทุนเน้นหุ้นที่มีปัจจัยบวก กลุ่มเด่นได้แก่ พลังงาน โทรศัพท์

ดร.วิน  อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KTBST ประเมินทิศทางตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ (22-26 ม.ค.) ว่า ดัชนีฯมีแนวโน้มผันผวนสูง ช่วงที่ผ่านมาปัจจัยถ่วงตลาดมีเข้ามาน้อยทำให้ตลาดเดินหน้าจนขึ้นไปทำ high ถึง 1,837 จุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ด้วยตัวแปรที่ทำให้มีการชะลอการลงทุน ตั้งแต่กำหนดการเลือกตั้งของไทย การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เงินบาทแข็ง กอรปกับ upside ของราคาหุ้นหลักๆนั้นเหลือน้อยจึงมีแรงขายทำกำไรเข้ามาในตลาด และยังจะทำให้ตลาดมีความผันผวนต่อมาถึงสัปดาห์นี้ ส่วนตัวแปรอื่นๆ ที่มีผลต่อตลาดในสัปดาห์นี้ คือ ค่าเงินดอลล่าร์ , ตัวเลขส่งออกและยอดขายรถของไทย รวมถึงการประชุม ECB ในสัปดาห์นี้

ส่วนกลยุทธ์ลงทุนคาดการณ์กรอบดัชนีสัปดาห์นี้ที่ 1,800-1,840 จุด แม้ตลาดจะมีการ rebound ขึ้นมา แต่เรายังแนะนำให้นักลงทุนลดพอร์ต หรือเลือกขายหุ้นบางส่วนที่เริ่มไปต่อเพื่อรอความชัดเจนของทิศทางตลาด  การเข้าลงทุนในสัปดาห์นี้ คงต้องเน้นกลุ่มที่มีความปลอดภัย รวมถึงมีปัจจัยบวกหรือราคาปรับลงมามาก และเลือกเป็นรายตัว กลุ่มที่เป็น Top pick มองว่าเป็นกลุ่มพลังงาน  PTTEP, TOP,LANNA  กลุ่มโทรศัพท์ DTAC กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ TK, MBK ขณะที่กลุ่มธนาคารคงต้องเลือกตัวที่กำไรดีเช่น TMB และหุ้นที่ราคาลงมาลึกเก็งผลบวกจาก EV Car ที่ขยายตัว เช่น DELTA  ส่วนหุ้นแนะนำเชิงเทคนิคได้แก่ COM7, HUMAN, PM

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การรายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ของสหรัฐฯ ในวันที่ 26 มกราคม คาดว่าจะออกมาที่ 3% (QoQ) ลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 3.2% และตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนคาดว่าจะออกมาที่ +0.8% (MoM) ชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 1.3% (MoM)

ขณะที่ตลาดยุโรป ติดตามการประชุม ECB ในวันที่ 25 คาดว่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0% และจะมีการปรับประม าณการ GDP 2018-2019 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องติดตามในการประชุมรอบนี้คือแนวทางการดำเนินนโยบายของ ECB หลังจากในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ตลาดเริ่มมีการคาดการณ์ว่าจะเริ่มมีการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากยิ่งขึ้น ส่วนวันที่ 23 จะมีการรายงานตัวเลข ZEW Economics sentiment จากทางเยอรมัน ที่คาดว่าจะออกมาที่ 18% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้า 17.4% ส่วนในวันที่ 25 ม.ค. จะมีการรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากทางเยอรมันคาดว่าจะออกมาทรงตัวที่ 10.8% และในวันที่ 26 ม.ค. จะมีการรายงาน GDP ไตรมาส4 จากทางยุโรป คาดว่าจะออกมาที่ 1.8% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ 1.7%

ด้านเอเชีย ในวันที่ 23 ม.ค. จับตาการประชุม BOJ คาดว่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ -0.1% และการประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจของปีหน้า คาดว่าจะมีการปรับประมาณการ GDP 2018 – 2019 เพิ่มขึ้น ส่วนในวันที่ 24 ม.ค. จะมีการรายงานการส่งออกและนำเข้าของไทย คาดว่าส่งออกจะออกมาที่ 10.65% ชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 16.2% และตัวเลขนำเข้าคาดว่าจะออกมาที่ 10.35% ลดลงจากก่อนหน้าที่ 13.7% และทางญี่ปุ่นจะมีการรายงานตัวเลขการส่งออกเช่นกัน คาดว่าจะออกมาที่ 10.1% ลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 16.2% ในขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะออกมาที่ 12.3% ลดลงจากก่อนหน้าที่ 17.2% ส่งผลให้ดุลการค้าคาดว่าจะออกมาเกินดุลที่ 530 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ เกินดุล 113 พันล้านเยน ในวันที่ 25 ม.ค. จะมีการรายงาน GDP ไตรมาส4  ล่วงหน้าจากทางเกาหลีใต้ คาดว่าจะออกมาที่ 4.5% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ 3.8% และในวันที่ 26 ม.ค. จะมีการรายงานเงินเฟ้อจากทางญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะออกมาที่ 0.3% ลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 0.6%