กระดาษโน้ตปลูกผักได้

กระดาษโน้ตปลูกผักได้

กระดาษโน้ตใส่ไอเดีย ใช้เสร็จ จะทิ้ง รดน้ำทุกวัน ต้นกล้าก็จะงอกออกมา

..................

 

อีกไอเดียที่ต้องยอมรับว่า รักษ์โลก ตั้งแต่กระบวนการผลิต และไม่ใช่แค่นั้น แม้จะทิ้งเป็นขยะ ก็ยังมีประโยชน์

เพราะ จารุวรรณ และ ณฐพล คำเมือง เจ้าของหจก.ฟางไทย แฟคทอรี่ จ.ลำปาง ผลิตกระดาษโน้ตและสมุดโน้ตจากฟางข้าว โดยเพิ่มคุณค่าด้วยการใส่เมล็ดพันธุ์ผักในกระดาษ

แนวคิดแบบนี้ รักทั้งสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และสุขภาพ สนับสนุนให้คนหันมาปลูกผักกินเองด้วย

“เวลาเห็นเมล็ดผักงอกขึ้นมา นอกจากดิน ยังมีฟางข้าวเป็นองค์ประกอบช่วยอุ้มความชื้นได้ด้วย ก็เลยเอาเมล็ดพันธุ์มาใส่ไว้ในกระดาษโน้ตและสมุดโน้ตจากฟางข้าว” จารุวรรณ เล่าถึงจุดเริ่มผลิตภัณฑ์จากฟางข้าว เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 ก่อนหน้าที่จะกลับมาทำผลิตภัณฑ์ในบ้านเกิดที่ชุมชนบ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เธอเรียนจบจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(ABAC) เป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่สองปี และมีความคิดอยากจะกลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิด

ไม่ง่ายเลยที่ใครๆ จะสร้างธุรกิจให้ขายได้และรักษ์โลกด้วย แต่เธอเห็นฟางข้าวตั้งแต่เด็กและรู้สึกว่า ถ้ากองไว้เฉยๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์ ช่วงแรกๆ จึงนำมาดัดแปลงทำพวงกุญแจ และโคมไฟจนมาลงตัวที่กระดาษโน้ตและสมุดโน้ตที่มีเมล็ดพันธุ์ด้านในด้วย

“ผลิตภัณฑ์กระดาษชนิดนี้ เมื่อใช้เขียนแล้ว จะฉีกทิ้ง ก็แค่เอาไปรดน้ำหนึ่งสัปดาห์ต้นกล้าผักในกระดาษก็จะงอกออกมา”

ไอเดียแบบนี้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ทำยาก จากความคิดที่ว่า “กระดาษเป็นมากกว่าการขีดๆ เขียนๆ  ใช้ปลูกผักได้ด้วย เพราะกระดาษทำจากฟางข้าว”

 จารุวรรณ เล่าต่อว่า ในชุมชนของเธอ ส่วนใหญ่ทำนาปลูกข้าว ถ้าจะให้กลับมาทำนาก็ทำไม่เป็น สิ่งที่ทำได้ ก็คือ ต่อยอดจากสิ่งที่พ่อแม่ทำ

นั่นคือ จุดเริ่มต้นเมื่อปี 2557 เพราะเห็นว่า ฟางข้าวสามารถทำผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง

“ฟางข้าวใช้ทำกระดาษได้ทุกรูปแบบ ก็ลองศึกษาว่า จะนำมาย่อยสลายอย่างไร ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ แต่อยากสร้างธุรกิจในบ้านเกิด และอยากสร้างรายได้ให้คนในชุมชน เพื่อให้คนทุกวัยทำงานร่วมกันได้ ไม่ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น จะได้มีเวลาดูแลครอบครัวเหมือนเรา และที่นี่ก็มีชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นเกษตรอินทรีย์ และอยู่ในแหล่งต้นน้ำ “

กว่าจะเป็นกระดาษปลูกผักได้ เธอบอกว่า ตอนแรกๆ ความคิดก็ยังอยู่ในกรอบ คิดว่ากระดาษต้องเอาไว้เขียนอย่างเดียว แต่เมื่อได้ทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะดีไซน์เนอร์ที่ไม่ได้มองแค่กระดาษเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเหมือนเรา ยังฟอร์มรูปเป็นถ้วย โคมไฟ แจกันได้ ก็ทำให้เรามีความคิดว่ากระดาษไม่ใช่แค่แผ่นสี่เหลี่ยม จนได้ร่วมงานกับนักวิจัย สวทช. ทำงานเรื่องเมล็ดพืช

หากถามว่า กระดาษกับเมล็ดพืชมาเจอกันได้อย่างไร 

เมื่อเธอทดลองแล้ว ก็เห็นว่า เมล็ดผักสามารถเติบโตบนกระดาษฟางข้าวได้อย่างรวดเร็ว

“ก่อนหน้านี้เคยทดลองเรื่อง ปฎิทินกินได้ โดยแต่ละเดือนมีเมล็ดพันธุ์ผักแทรกไว้ในกระดาษ ตอนนั้นลองเอาเมล็ดผักกาดและมะเขือเทศมาใส่ในกระดาษแล้วรดน้ำ ปรากฎว่าเมล็ดผักงอกออกมาโดยไม่มีดิน ก็ประหลาดใจเหมือนกัน เป็นต้นอ่อนอยู่สิบวัน แล้วนำมาปลูกในดิน ก็มีความแข็งแรงเติบโตต่อได้”

ในกระดาษหนึ่งแผ่น เธอใส่เมล็ดพันธุ์ 3-5 เมล็ด อัตราการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์ก็เหมือนเมล็ดทั่วไป

“หลังจากใช้กระดาษโน้ตแล้ว นำมาวางบนดินแล้วรดน้ำ ไม่ต้องกลบด้วยดิน ไม่กี่วันเมล็ดพันธุ์ก็งอก จากนั้นย้ายต้นกล้าไปปลูกในดิน”

เธอเล่าเจตนารมณ์กระดาษเมล็ดพันธุ์ว่า ไม่ได้ตั้งใจให้คนที่ซื้อไปปลูกผักจากเมล็ดพันธุ์บนกระดาษทันที

“เป็นผลพลอยได้จากการใช้กระดาษ จากที่เคยโยนทิ้งเป็นเศษขยะ เราไม่อยากให้เป็นภาระ อยากให้ย่อยสลายแบบไม่สูญเปล่า เพราะกระดาษฟางข้าวเป็นปุ๋ยให้เมล็ดผักโตขึ้น"

แม้จะมีคำถามบ่อยๆ ว่า เมล็ดผักที่อยู่ในกระดาษจะงอกได้จริงหรือ

เธอ บอกชัดเจนว่า งอกได้แน่ ทำมาปีกว่าๆ แล้วและมีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

“ลูกค้าบางรายก็อยากได้เมล็ดกระเพราบ้าง มะเขือเทศบ้าง ซึ่งแนวคิดแบบนี้ คนยังไม่ทำ สามารถเลี้ยงครอบครัวและชุมชนได้ เราใช้ฟางข้าวทุกส่วนทำกระดาษ แม้จะมีส่วนปลายของฟางข้าวที่เหลือทิ้ง แต่ต่อไปจะนำมาใช้ทุกส่วน และในอนาคตจะขยายการผลิต เพราะตอนนี้มีกำลังคนที่ผลิตประมาณสิบกว่าคน”

"""""""""""""""""""""""""""""""""

หมายเหตุ : สอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์ 081 899 0394