'ทีโอที-แคท' สุดมึนแผนร่วมทุนเอกชนสะดุด!!

'ทีโอที-แคท' สุดมึนแผนร่วมทุนเอกชนสะดุด!!

"ทีโอที-แคท" สุดมึน!! แผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับเอกชนสะดุด ทำเส้นทางสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทานและแผนฟื้นฟูกิจการค้างเติ่ง

ขณะที่สองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศคือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังระส่ำและลุ้นระทึกกับอนาคตองค์กร หลังจากมีรายงานที่อ้างว่าเป็นผลศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงานถูกแจกจ่ายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา

ด้วยไส้ในของแผนแผนปฏิรูปดังกล่าวที่หากถูกขับเคลื่อนไปถึงขั้นบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาวแล้ว ทุกฝ่ายต่างกังวลว่าอนาคตของปตท -กฟผ.คงไม่ใช่แค่การลดบทบาทการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการผูกขาด แต่อาจถึงขั้นถูกบอนไซองค์กรลงไปทั้งยวงเพราะจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามแผนงานที่รัฐได้อนุมัติไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างคลังก๊าซ LNG แผนจัดหาและนำเข้า LNG ในระยะยาวเพื่อป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติ หรือที่กฟผ.จะนำเข้าก๊าซ LNG 1.5 ล้านตัน ลงทุนในโครงการไฟฟ้าชีวมวลและแสงอาทิตย์ร่วม 2,000 เมกะวัตต์ เพราะถูกตีความว่าเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อน แย่งซื้อก๊าซกับเอกชนที่เขาทำได้ดีอยู่แล้ว

หลายฝ่ายถึงกับข้อกังขาว่าเป็นรายงานศึกษาของ "คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน" แน่หรือ เหตุใดบทสรุปแห่งนโยบายบริหารจัดการพลังงานประเทศในระยะยาว มันถึงได้กลับตาลปัตรกับสิ่งที่ผู้คนในสังคมคาดหวังได้เช่นนี้

เช่นเดียวกับอนาคตของสองรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารของประเทศคือ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และกสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท ที่ยังคงลุ้นระทึกกับอนาคตขององค์กร หลังจากต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อความอยู่รอดมาหลายปี

แม้ล่าสุดในส่วนของทีโอทีเริ่มจะมีความหวังจากการที่บรรลุข้อตกลง ในสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์เพื่อให้บริการโทรคมนาคมและสัญญาการให้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี บนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ (โรมมิ่ง) กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่คาดว่าจะทำให้ทีโอทีมีรายได้ 3,600-3,900 ล้านบาทและยังมีแผนเซ็นสัญญาพันธมิตรธุรกิจกับดีแทค ไตรเน็ต ในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ 2300 MHz อีกสัญญาที่คาดจะทำรายได้ให้แก่องค์กรอีกไม่น้อยกว่า 3,600 ล้านบาท

แต่กระนั้น ทั้งทีโอทีและแคทต่างกำลังระส่ำกับแผนที่จะนำทรัพย์สินที่ได้รับมอบตามสัญญาสัมปทาน BTO ในอดีตไปจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับภาคเอกชน โดยในส่วนของทีโอทีนั้น นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า มีแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับเอไอเอส โดยการนำเสาโทรคมนาคมทีโอทีจำนวน 12,000 ต้นและเอไอเอส 13,000 ต้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

ขณะที่ในส่วนของแคทก็มีแผนนำเสาโทรคมนาคมที่มีอยู่กว่า 20,000 ต้นมาจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรูมูฟ โดยทั้ง ทีโอที และแคท จะถือหุ้นในสัดส่วน 49% และเอกชน 51% เพื่อความคล่องตัว เนื่องจากธุรกิจโทรคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว หากรัฐวิสาหกิจยังคงถือหุ้นเกิน51% ก็จะต้องปฏิบัติระเบียบขั้นตอนราชการที่ล่าช้า อาจทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจได้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อบริหารโครงข่ายเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคมดังกล่าวจ่อจะเผชิญปัญหาใหญ่ ต้องมาสะดุดกับบทบัญญัติมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติไว้ว่า หน่วยงานรัฐต้องเป็นเจ้าของโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐาน รัฐจะกระทำการใดๆให้ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า 51% ไม่ได้

บทบัญญัติมาตรา 586 นั้นบัญญัติไว้ว่า "รัฐต้องจัดหรือดําเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทําด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทําให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า51%มิได้ การนําสาธารณูปโภคของรัฐไปให้เอกชนดําเนินการทางธุรกิจไม่ว่าด้วยประการใดๆ รัฐต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรม โดยคํานึงถึงการลงทุนของรัฐ ประโยชน์ที่รัฐและเอกชนจะได้รับและค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากประชาชนประกอบกัน"

รายงานข่าวจากบริษัททีโอที เปิดเผยว่า จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ทำให้แผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนของทั้งทีโอทีและแคท ที่จะดำเนินการร่วมกับเอกชนในการใช้ประโยชน์จากเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อสร้างมูลค่าในทางเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลและแผนฟื้นฟูองค์กรที่ผ่านการพิจารณาเห็นชองจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ "ซูเปอร์บอร์ด" ต้องคาราคาซังอยู่

ล่าสุดผู้บริหารทีโอทีและแคท เตรียมเข้าหารือกับ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อหารือต่อประเด็นดังกล่าวหลังจากก่อนหน้านี้ ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วซึ่งได้ให้ความเห็นว่าควรส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าตามขั้นตอนแล้ว หน่วยงานใดต้องเป็นผู้นำเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ระหว่างทีโอที และแคท หรือกระทรวงดีอีต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาก่อน

"ไม่เพียงแต่โครงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนของทีโอทีและแคท เท่านั้นที่กำลังเผชิญปัญหา โครงการจัดหาเอกชนเข้ามาบริหารจัดการในกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอื่น ๆ ก็อาจเจอปัญหาเดียวกันและจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาล จะต้องเร่งผ่าทางตัน โดยอาจต้องใช้ม.44 แก้ไขปัญหาและผ่าทางตันให้"