จาก 'วิคตอเรียฯ' ถึง 'นาตารี' ส่วยสีกากีลอยนวล?

จาก 'วิคตอเรียฯ' ถึง 'นาตารี' ส่วยสีกากีลอยนวล?

จับประเด็นร้อน! จาก "วิคตอเรียฯ" ถึง "นาตารี" ส่วยสีกากีลอยนวล?

การบุกทลาย "อาบอบนวดในตำนาน" อย่าง "วิคตอเรีย ซีเครท" ย่านพระรามเก้า หลังพบหลักฐานว่ามีเด็กสาวอายุแค่ 12 ปี ถูกบังคับให้ค้าประเวณี มีประเด็นที่ต้องจับตาไม่แพ้ขบวนการค้ามนุษย์

เพราะหลังปฏิบัติการบุกจับไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็มีการเปิด "บัญชีลับ" ที่ระบุถึงการเข้ามาใช้บริการ "นวดพาเพลิน" โดยผู้ที่ถูกพาดพิงมีตั้งแต่นายตำรวจระดับผู้กำกับโรงพักในท้องที่ ไปจนถึงตำรวจชั้นประทวน

แม้หลักฐานชิ้นนี้จะไม่ใช่สิ่งยืนยันว่ามีการ "รับ-จ่ายสินบน" ระหว่างตำรวจกับสถานบริการ หรือที่เรียกง่ายๆว่า "ส่วย" จนทำให้ทุกครั้งที่มีการบุกทลายโรงนวด เจ้าหน้าที่แทบไม่สามารถเอาผิดใครได้เลย แต่การดูแลในรูปแบบ "ให้ใช้บริการฟรี" แบบชวนสงสัยนี้ ทำให้มีการตั้งคำถามว่า "แล้วมันต่างจากส่วยตรงไหน"

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาอนุ กมธ.ปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ มองว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการเปิดสถานบริการโรงนวด อาบน้ำ และซื้อบริการจากหญิงสาวได้อย่างโจ๋งครึ่ม ทั้งๆ ที่กฎหมายไม่ได้อนุญาตให้ค้าประเวณี ฉะนั้นจึงชัดเจนว่าหากโรงนวดเหล่านี้เปิดให้บริการได้ทั้ง "นวดและนาบ" ย่อมต้องมีการจ่ายส่วยให้กับตำรวจในท้องที่อย่างแน่นอน

“อัตราการส่งส่วยที่ผมเคยได้ยินมา จะขึ้นอยู่กับขนาดความใหญ่โตของสถานบริการ หากขนาดใหญ่ก็จะอยู่ที่ระดับแสนบาทหรือมากกว่านั้น ซึ่งพื้นที่ที่มีสถานบริการลักษณะนี้ ถือว่าเป็นแหล่งเป้าหมายที่ตำรวจหลายคนอยากจะมาทำงาน เพราะถือเป็นท้องที่ทองคำของตำรวจ แต่เป็นความเลวร้ายของสังคม และแน่นอนว่า เมื่อเกิดเรื่องราวเหล่านี้ เรื่องก็จะหายเงียบไป เคยได้ยินมีตำรวจถูกไล่ออก ปลดออกจากราชการจากการรับส่วยจากบ่อนหรือสถานบริการหรือไม่ ทั้งๆ ที่สถานบริการเหล่านี้เป็นช่องทางที่ก่อให้เกิดกระบวนการค้ามนุษย์ไปยังต่างประเทศด้วย”

อดีตตำรวจที่มีบทบาทผลักดันให้เกิดการปฏิรูปวงการสีกากี ยังบอกอีกว่า แม้สังคมคาดหวังว่า ควรจะมีบทลงโทษตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไปทุกที เพราะคนที่หน้าที่สอบสวนในคดี ก็คือตำรวจในท้องที่นั้นๆ เอง

“การจะไปตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกไว้ตามวันเวลาที่มีการระบุในบัญชีรับรอง น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะภาพที่บันทึกได้อาจจะถูกทำให้หายไปหรือสถานบริการแห่งนั้น อาจจะบอกว่าไม่มีกล้องวงจรปิดก็ได้ ฉะนั้นมันก็ล้มเหลวหมด แน่นอนว่าสถานบริการเหล่านี้จะมีการเคลียร์กับตำรวจระดับสูงแล้ว หากไม่มีการเคลียร์แล้วจะเปิดให้บริการได้อย่างไร” พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุ

คำกล่าวที่ว่า "หากไม่จ่ายส่วยให้ตำรวจ สถานบริการผิดกฎหมายจะเปิดอยู่ได้อย่างไร" นั้น แม้จะเป็นตรรกะที่คนทั้งประเทศเข้าใจและซาบซึ้งดี แต่ดูเหมือนการดำเนินคดีและเอาผิดตามกฎหมายจะไม่ใช่เรื่องง่าย

หากย้อนกลับไปเมื่อปี 59 มีการบุกจับสถานบริการชื่อดังย่านรัชดาฯ ชื่อว่า "นาตารีอาบอบนวด" ครั้งนั้นมีการพบ "บัญชีส่วย" ที่ทางผู้ประกอบการจ่ายให้กับตำรวจหน่วยต่างๆ ตั้งแต่ระดับโรงพัก ไปถึงหน่วยปฏิบัติการพิเศษต่างๆ แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาสอบสวนเอาผิด กลับไม่สามารถดำเนินคดีใครได้เลย โดยมีการอ้างเหตุผลว่า ในบัญชีส่วยระบุเป็น "ชื่อเล่น" ไม่ใช่ "ชื่อจริง" และไม่มีใครยืนยันได้ว่าบัญชีส่วยนี้เป็น "ของจริง"

“ล่าความจริง” ได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ปปง.ว่า กรณี "ส่วยนาตารี อาบอบนวด" เอาผิดใครไม่ได้เลยจริงๆ เพราะ 1.ผู้รับส่วย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ รับเป็นเงินสดทั้งหมด 2.ไม่มีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร ทำให้ตรวจหาเส้นทางเงินไม่ได้ 3.เมื่อรับเป็นเงินสดแล้ว ก็นำไปส่งต่อให้ "นาย" หรือ "ผู้บังคับบัญชา" ตามลำดับชั้น

4.เจ้าหน้าที่ที่ไปเก็บส่วยจะเป็นคนเดิม คุ้นหน้ากัน แถมยังใช้ชื่อเล่น ทำให้ระบุตัวตนไม่ได้ชัดๆ 5.เฉพาะนาตารี อาบอบนวด มีหน่วยตำรวจกว่า 10 หน่วยที่มีชื่ออยู่ใน "บัญชีส่วย" ยอดรวมเดือนละ 5 แสนบาท นี่คือสถานบริการแห่งเดียวเท่านั้น 6.เจ้าหน้าที่ที่รับส่วย มีการเปิดธุรกิจบังหน้า เพื่อฟอกเงิน

ทั้งหมดนี้ นำไปสู่ปัญหาการ "ซื้อขายตำแหน่ง" เพราะในพื้นที่ที่มีสถานบริการมาก ก็จะเก็บส่วยได้มาก รวมๆ แล้วส่งผู้บังคับบัญชา และหักเปอร์เซ็นต์ลงมาให้ลูกน้อง จึงมีการวิ่งเต้นไปลงพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งเรียกว่า "ทำเลทอง" แลกกับเงินสดที่ต้องจ่าย หรือทำยอดส่วยส่งผู้บังคับบัญชาระดับสูง