อำนาจคำโต! ของ 'โตมร ศุขปรีชา'

อำนาจคำโต! ของ 'โตมร ศุขปรีชา'

ถึงเวลาตั้งคำถามและหาคำตอบอย่างท้าทายต่อสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาแต่ว่ามีอยู่จริง ที่เรียกว่า “อำนาจ”

“สังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะ Social Stratification คือมีลำดับชั้นทางสังคม แต่เราไม่ค่อยยอมรับกัน ซึ่งโครงสร้างของสังคมที่มีลักษณะเป็นแบบนี้จะมีการทำงานของอำนาจ ทั้งกด ทั้งดัน ทั้งยกย่อง ทั้งเหยียดกัน ตลอดเวลา” นี่เป็นถ้อยคำที่ โตมร ศุขปรีชา นักเขียนนักคิด สะท้อนถึงสภาวะที่สังคมไทยเคยเป็น เป็นอยู่ และอาจจะเป็นต่อไป

            จึงเป็นที่มาของการที่ทำให้เขาต้องตั้งคำถามต่ออำนาจ รวมทั้งบริบทต่างๆ ซึ่งมีทั้งบทบาทส่งเสริมให้อำนาจเติบใหญ่ และบางอย่างเป็นปกปักษ์กับอำนาจอย่างกระด้างกระเดื่อง แต่ทุกอย่างล้วนเกี่ยวพันกับอำนาจในสังคมไทยและสังคมอื่นทั่วโลก กระทั่งทำให้เกิดเหตุการณ์มากมายในหน้าประวัติศาสตร์

            หนังสือชื่อว่า POWERISM คือผลงานรวมคอลัมน์ในสำนักข่าวออนไลน์ The MATTER ที่โตมรเขียนถึงอำนาจและพลังบางอย่าง แม้ไม่เชิงท้าทาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตั้งคำถามของเขาพร้อมกับคำอธิบายที่ลุ่มลึกและเต็มไปด้วยตรรกะ กระตุ้นเตือนผู้อ่านให้ได้เฉลียวใจถึงสิ่งที่ชาวเราและชาวโลก ‘ชินชา’ ไม่มากก็น้อย

การเกิดขึ้นของหนังสือ POWERISM ?

            “เป็นรวมคอลัมน์ใน The MATTER ที่เขียนมาราวๆ หนึ่งปี แล้ว แชมป์ - ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ซึ่งเป็นบรรณาธิการของ The MATTER ก็ช่วยเลือกว่าจะเอาบทความไหนบ้าง แล้ว กาย – ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน ก็จะให้ไกด์ทิศทาง เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องเฉพาะไปเลย เป็นเหตุการณ์ตอนนั้นซึ่งจะเอามารวมไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องที่กว้างกว่าและไม่เก่า ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับช่วงเวลามากเท่าไร”

ทำไมถึงสนใจเรื่องพลังและอำนาจในหลากหลายบริบท?

            “เริ่มจากเมื่อก่อนเคยมี GENDERISM (สำนักพิมพ์ a book / พ.ศ.2556) ก็เป็นเรื่องที่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ โดยใช้เรื่องเพศสภาวะ เพศวิถี แล้วพอมาเริ่มเขียนงานให้ The MATTER ก็ถามแชมป์ว่าอยากให้เขียนเรื่องอะไร เขาก็อยากให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับอำนาจ ก็คล้ายกับ GENDERISM ในแง่ที่มันอธิบายเรื่องต่างๆ ทางสังคมผ่านอำนาจ ซึ่งอำนาจก็มีตั้งแต่อำนาจอย่างเป็นทางการ อำนาจที่มองไม่เห็น อำนาจที่อยู่รอบตัว อำนาจทางวัฒนธรรม และอีกมากมาย”

ได้โจทย์ก็พร้อมเขียนทันที เพราะมีของอยู่แล้ว?

            “ใช่ครับ เพราะผมสนใจเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว แต่อาจจะไม่มีของมากเท่าไร แต่เพราะผมคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะ Social Stratification คือมีลำดับชั้นทางสังคม แต่เราไม่ค่อยยอมรับกัน ซึ่งโครงสร้างของสังคมที่มีลักษณะเป็นแบบนี้จะมีการทำงานของอำนาจ ทั้งกด ทั้งดัน ทั้งยกย่อง ทั้งเหยียดกัน ตลอดเวลา แต่สังคมไทยไม่ค่อยยอมรับว่าเราเป็นแบบนั้น เราก็จะคิดว่าเราอยู่กันแบบเป็นพี่เป็นน้อง มีวัฒนธรรมที่ดีงาม

            คือเรื่องแบบนี้บางทีจะมองเห็นยาก บางเรื่องซ่อนอยู่ลึกๆ เช่น อำนาจที่ผ่านมากับครอบครัว ความรักที่พ่อแม่มีต่อลูกก็มีการทำงานของอำนาจ เช่น พ่อแม่บอกให้ลูกไปกอดป้าคนนั้นสิ คำถามคือถ้าลูกไม่อยากกอดป้าคนนั้น ใครเป็นคนมีสิทธิ์ในร่างกายของลูก เวลาตั้งคำถามแบบนี้คนไทยจะรู้สึกว่าเป็นคำถามที่ทำไมเราจะต้องพูดเรื่องนี้กันด้วย ซึ่งจริงๆ มันเป็นเรื่องการไม่เห็นว่าสิทธิอำนาจในร่างกายของเรามันเป็นของเรา ซึ่งมันเป็นการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก หรือในครอบครัวก็จะเป็นทำนองว่า บทบาทของผู้ชายกับผู้หญิงชัดเจน เช่น ผู้ชายต้องเป็นแบบนี้ ต้องปลูกฝังผ่านพ่อ ลูกสาวต้องเป็นแบบนี้ ผู้หญิงต้องปลูกฝังผ่านแม่ มันเป็นเรื่องพื้นฐานมากเพราะว่าทุกคนเกิดมามีพ่อกับแม่

            เรื่อง POWERISM จึงพูดถึงเรื่องใหญ่ๆ ด้วย คือเรื่องอำนาจที่เป็นทางการด้วยในบางที และพูดถึงเรื่องอำนาจเล็กๆ เหล่านี้ด้วย”

เรื่องอำนาจที่ว่าไม่ได้เกิดแค่ในสังคมไทย ?

            “ใช่ครับ บางทีก็ขยายไปดูสังคมอื่นๆ เช่น เรื่องมะเขือเทศ (จากบทแรก เรื่องการเมืองมะเขือเทศ) มะเขือเทศก็ถูกทำให้เป็นปีศาจบ้างอะไรบ้าง ก็เห็นการทำงานของอำนาจ เช่น มะเขือเทศเป็นเรื่องของศาสนาด้วย ที่คนเคยบอกว่ามะเขือเทศมันชั่วร้าย จะเห็นว่ามันเปลี่ยนไปได้ คือถ้าเราอยู่ในยุคนั้นเราก็อาจจะคิดว่ามะเขือเทศชั่วร้าย เพราะเราถูกปลูกฝังมาว่ามันแย่ แต่ตอนนี้เราหัวเราะมันว่ามันประหลาดที่คิดกันแบบนั้น”

ความคิดแบบนั้นต่อมะเขือเทศเคยทำให้คนฆ่ากันได้เลย ?

            “ใช่ ซึ่งในปัจจุบันนี้เราก็อาจจะไม่รู้ว่าอะไรคือมะเขือเทศของเรา เพราะเรามองไม่เห็น แต่มันก็น่าจะมีอยู่”

ยกตัวอย่างเรื่องมะเขือเทศที่คนไม่ได้นึกเกินกว่าเป็นพืชผัก ทำไมถึงเลือกที่จะขุดคุ้ย ?

            “จริงๆ ตอนนั้นไม่มีอะไรเขียน (หัวเราะ) เป็นสัปดาห์ที่ไม่มีเรื่องอะไรเด่น ก็เลยหาเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว คือจะเห็นว่ามันไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ ไม่ได้มีเรื่อง current อะไร ก็เลยเขียนเรื่องที่เคยอ่าน เคยรู้มา สมมติเวลาอ่านหนังสือก็จะจับได้ว่ามีเรื่องแบบไหนอยู่บ้าง แต่พอจะเขียนจริงๆ ก็ต้องไปค้น เราอาจจะจำฝังใจว่าคนเคยให้ความหมายกับเรื่องแบบนี้ แต่เราจำไม่ได้ในรายละเอียดว่าอย่างไรบ้าง พอจะเขียนจริงๆ ก็ต้องค้น ซึ่งข้อดีของหนังสือคือมันเป็นต้นทางความคิด แต่ข้อดีของอินเทอร์เน็ตคือมันช่วยลดระยะเวลาของการหาข้อมูล และเราอาจได้ข้อมูลใหม่เพิ่มขึ้น เพราะหนังสือเล่มหนึ่งข้อมูลจะนิ่งอยู่ตรงนั้น สถิตอยู่ตรงนั้น แต่ในอินเทอร์เน็ต ถ้าเรารู้ว่ามะเขือเทศเป็นแบบนี้ พอไปหาในอินเทอร์เน็ตเราจะเจอมากกว่าในหนังสือด้วยซ้ำ แต่ถ้าเราไม่มีหนังสือเป็นต้นทางแล้วเราไปค้นหาในอินเทอร์เน็ตเลย เราจะไม่มีวันค้นเรื่องที่เราไม่รู้มาก่อนได้ เพราะเราต้องพิมพ์มันลงไป แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าต้องพิมพ์มะเขือเทศชั่วร้ายในยุคนั้นก็ไม่มีทางเจอ จึงต้องทำสองทางมาประกอบกัน”

สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยตลอดหลายปี เป็นแรงกระตุ้นให้ลุกขึ้นมาบอกกล่าวเรื่องทำนองนี้หรือเปล่า ?

            “ก็มีส่วนนะครับ เพราะเราเห็นว่าสังคมไทยมันมี Social Stratification แล้วเราไม่ยอมรับกันว่าเรามีชนชั้น ไม่ยอมรับว่าเรามี class ก็อยากจะเขียนว่ามันมีการทำงานของอำนาจ แล้วการทำงานของอำนาจก็เป็นเครื่องยืนยันว่าเรามีชนชั้น คือ ถ้าเราไม่รู้จักตัวเองก่อน เราจะแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ สมมติเราพูดว่าเมตตา เมตตาเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน แต่พอเวลาคนพูดว่าฉันเมตตาเธอเหลือเกิน สงสารเธอเหลือเกิน ถ้ามันไม่ตระหนักว่าในเวลาเดียวกับที่เรามีสิทธิเมตตาคนอื่น แปลว่าเราอยู่ในสถานภาพที่สูงกว่าคนนั้น เช่น เราเกิดมารวยกว่าแล้วเราสงสารคนจนกว่า แล้วฉันให้เธอ 5 บาท 10 บาท เพื่อช่วยเหลือเธอ แต่ถ้าเรามองไม่เห็นว่าเพราะเราอยู่ในโครงสร้างทั้งหมดที่มันกด มันเบียดเบียนคนอื่น ช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ความจนไม่ใช่เรื่องที่คนจะบอกว่าเพราะเกิดมาโชคร้าย สมมติเกิดมาแล้วคนหนึ่งมีบ้านอยู่ พ่อแม่ร่ำรวย ก็ทำงานอะไรก็ได้ใช่ไหม แต่คนหนึ่งต้องเช่าบ้าน ต้นทุนก็ไม่เท่ากันแล้ว ในเวลาเดียวกันเราก็ไม่ได้อยู่ในสังคมที่มีภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ที่จะเปลี่ยนให้คนเท่ากันตั้งแต่ต้น แล้วเราก็มาบอกว่าเราดีใจจังเลยที่ได้เห็นคนนี้ที่มีต้นทุนสูงกว่าเมตตาคนจนกว่า แล้วบริจาคให้คนจนกว่าได้ โดยที่เราไม่ได้ตั้งคำถามว่า ความแตกต่างของความรวยความจนมันมาจากไหน

            ซึ่งมันก็ย้อนกลับไปที่ความเชื่อทางศาสนาด้วยว่าคนจนเพราะเป็นกรรม ชาติที่แล้วต้องทำอะไรมาไม่ดีแน่นอนเลยจนบ้าง พิการบ้าง หรือเกิดเป็นกระเทยบ้าง เหล่านี้เป็นความรุนแรงในเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมที่มันฝังลึก จนเรามองไม่เห็น แล้วเราก็ดีใจกับคนรวยกว่า มีสถานภาพสูงกว่า และที่แย่กว่านั้นคือมันทำให้เวลาที่เราคิดแบบนี้มันจะธำรงสถานภาพเดิมๆ ของคนพวกนี้เอาไว้ คือเราไม่ได้คิดว่าต้องไปทำลายกันแบบปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน แต่ว่าเราต้องหากลไกหรือเครื่องมือสร้างความเสมอภาคตามสมควร ทำให้คนมีโอกาสเติบโตไปได้เท่าๆ กัน เช่นคุณได้มรดกมากก็ต้องเสียภาษีนั้น เงินภาษีนั้นก็อาจจะกลายเป็นโรงพยาบาลโดยที่พี่ตูนไม่ต้องไปวิ่งมากขนาดนี้ คนที่จนกว่าก็จะได้รับบริการสาธารณสุขที่ดีพอสมควร คือเป็นการเกลี่ยอะไรบางอย่างเชิงโครงสร้างให้คนอยู่ได้เท่าๆ กัน

            พอเราย้อนกลับไปตอนต้นว่า คนเกิดมาไม่เท่ากันเพราะมีกรรมเก่า มันก็กลายเป็นว่า เราคงต้องอยู่กับกรรมเก่าตลอดไป ไม่ต้องคิดที่จะแก้ไขอะไร”

POWERISM ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมหรือไม่ ?

            “ไม่เลยครับ ก็แค่อยากตั้งคำถาม เขียนไปว่าคิดแบบนี้ ส่วนมันจะเปลี่ยนแปลงไหม...เมื่อก่อนมีคนเคยบอกว่าอยากเห็นผมไปเป็นผู้นำม็อบ อยากเห็นเราเป็น Activist (นักเคลื่อนไหว) แต่เราไม่ใช่ Activist และไม่มีทางทำได้ ไม่มีทางไปบอกผู้คนให้ทำนู่นทำนี่ ไม่ใช่คนแบบนั้น เพราะฉะนั้นการเขียนหนังสือกับการเป็น Activist เป็นคนละเรื่อง นี่ก็ทำหน้าที่เขียนเฉยๆ นำเสนอความคิดตัวเองไป

            การเป็น Activist เราต้องขลุกอยู่กับเรื่องหนึ่งเรื่องนานมาก เช่น คุณจะพูดเรื่องปัญหาของการสร้างเขื่อน คุณก็ต้องทำเรื่องเขื่อนอย่างเดียว อาจจะตลอดชีวิต แต่ผมไม่ใช่แบบนั้น ผมสนใจมั่วไปหมด”

ข้อเสียหลายอย่างของสังคมไทยทำให้อำนาจมีพลังมากขึ้น ?

            “ผมเชื่อในคนรุ่นใหม่นะว่าจะตั้งคำถามมากขึ้น มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเองมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การด่ากันในอินเทอร์เน็ตเนี่ย พูดแบบโลกสวย มองโลกแบบแง่ดีว่ามันน่าจะทำให้เวลาเราเขียนอะไรบางอย่างจะต้องคิดแล้วว่าเราเขียนอะไรพล่อยๆ ไม่ได้ เราต้องรัดกุมหน่อยไหม หรือถ้าเราเขียนไปแล้วถูกด่าไม่ว่าจะด่าโง่ๆ หรือด่าอย่างฉลาดๆ มันก็ช่วยเช็คเรา ต่อไปเราจะได้นำเสนอความคิดอย่างรัดกุมมากขึ้น”

            ความหวังที่โตมรเชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่จะตั้งคำถามและวิพากษ์เชิงสร้างสรรค์มากขึ้น อาจเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่จะขุด เขี่ย เกลี่ย โครงสร้างสังคมอุดมอำนาจ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้

          เริ่มต้นตรงที่ตอนนี้ลองถามตัวเองกันก่อนว่า ยอมรับหรือยังว่าเรากำลังถูกอำนาจและความเหลื่อมล้ำล้อมไว้หมดแล้ว!