เมืองย่า ซิลเค่น สืบทอดกี่ทอผ้ารุ่น 5

เมืองย่า ซิลเค่น สืบทอดกี่ทอผ้ารุ่น 5

ทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลทอผ้าแห่งอ.ปักธงชัย ของดีเด่นแห่งโคราช สืบสานศูนย์ทอผ้า ฟื้นการฟอกย้อมสีแบบธรรมชาติให้มีคุณค่าเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมเพื่อเป็นของที่ระลึก

ทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลทอผ้าแห่งอ.ปักธงชัย ของดีเด่นแห่งโคราช สืบสานศูนย์ทอผ้า ฟื้นการฟอกย้อมสีแบบธรรมชาติให้มีคุณค่าเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมเพื่อเป็นของที่ระลึก

เบิร์บ..ทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลทอผ้าแห่งอ.ปักธงชัย ของดีเด่นแห่งโคราช เข้ามาสืบสานศูนย์ทอผ้า โดยการแปรงการฟอกย้อมสีแบบธรรมชาติ ที่ให้คุณค่าและมูลค่า จนยกระดับเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมเพื่อเป็นของที่ระลึกหลา

อำเภอปักธงชัยเป็นตำนานอันเลื่องชื่อแห่งการทอผ้าไหมลายพื้นเมือง จนกลายเป็นหนึ่งของดีเด่นประจำจังหวัดนครราชสีมา ตามคำขวัญแห่งเมืองโคราชที่ว่า “ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน” คนทอผ้าในอำเภอนี้พื้นเพบรรพบุษอพยพจากลาว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้นที่มีกบฏเจ้าอนุวงศ์ เข้ามายึดเมืองโคราช จึงมีไพร่พลจากลาว มาตั้งรกรากทอผ้าไหมที่อำเภอปักธงชัย ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านเก่าแห่งโคราช

สาเหตุที่ทำให้ปักธงชัยเป็นแหล่งผลิตผ้าไหม ที่แม้แต่ผ้าไหมจิม ทอมป์สัน ยังมาตั้งศูนย์ผลิตไข่ไหมจำหน่ายให้สมาชิกเกษตรกร

นั่นคือหนึ่งในเรื่องราวต้นตระกูลของ “พี่แจ๋ว” ลักษมี สนิทกลาง ผู้จัดการฝ่ายการผลิต บริษัท เมืองย่า ซิลเค่น (ประเทศไทย) จำกัด ทายาทผู้รับสืบทอดศิลปะการฟอกย้อมผ้า ทอผ้าไหม รุ่นที่ 5 ของตระกูลทอผ้าไหม ซึ่งมีตาทวดที่เป็นนายฮ้อย รับซื้อผ้าไหม เส้นไหมมาจากจีน และลาวมาตั้งฟอกย้อมและทอส่งขายในปักธงชัย ที่ยุคนั้นเป็นจุดซื้อขายกระจายผ้าไหมอีกแห่งทางภาคอีสาน

ศิลปะการทอผ้าไหมของตระกูลของถูกส่งต่อมายังรุ่นพี่แจ๋ว เป็นรุ่นที่ 5 หลังจากซึมซับและสืบทอดวิธีการฟอกย้อม ทอผ้ามาตั้งแต่ยังจำความได้ตอนอายุ 3 ขวบ ก็วิ่งเล่นบนกองผ้าไหมในบ้าน จึงถูกใช้งานให้ทบไหม (กลอเส้นด้ายไหมม้วนเก็บ) ตั้งแต่ ยังเล็กๆเมื่อหยิบจับอะไรได้ก็ทำไปก่อน

ผ้าไหมสำหรับตระกูลตอนนั้นแม่ทอเก็บไว้บ้านเป็นจำนวนมาก แต่เป็นในรูปแบบของพอเพียงทำเฉพาะกำลังที่แม่มีแรง เมื่อถึงเวลาก็รวบรวมผ้าผืนหลายสิบหลาขนไปขายในกรุงเทพ เช่น วังหลัง หรือตลาดต่างๆ เพราะผ้าไหมของแม่มีมูลค่าค่าไม่ต่างจากทอง หรือเพชร นิล จินดา 

“แม่ทอขนผ้าไหมไปขายเมื่อรวบรวมได้มากก็ขนไปขายต่างจังหวัดบ้าง กรุงเทพฯ บ้าง ออกงานทีก็ขนเงินกลับมาเป็นนับหมื่นนับพันบาท ผ้าไหมยุคนั้นก็เหมือนทอง ที่เก็บไว้มูลค่าก็เพิ่ม ถือว่าเลี้ยงครอบครัวและส่งลูกเรียนมาได้ หรือเวลาไม่มีเงิน แม่ก็จะเอาผ้าไหมในบ้านไปขาย” นี่คือคุณค่าผ้าไหมต่อตระกูลที่พี่แจ๋ว ลักษมีจำความได้

แม้ผ้าไหมจะมีมูลค่าสูง แต่แม่และครอบครัว รวมถึงตัวพี่แจ๋วเองก็ยังไม่มีความคิดที่จะทำในรูปแบบธุรกิจเต็มตัว หลังจากเรียนจบพี่แจ๋วก็ยังไปเป็นลูกจ้างในกรุงเทพฯ เมื่อกลับมาเยี่ยมบ้านจึงช่วยเหลืองานของแม่บ้าง จนกระทั่งเห็นโอกาสที่น่าจะไปต่อได้เพราะตลาดผ้าไหมขยายกลุ่มลูกค้าทุกปี จึงไปเปิดร้านขาผ้าไหมที่จ.ชลบุรี กิจการก็เดินไปได้ด้วยดี มีลูกค้าเฉพาะกลุ่มแวะเวียนมาซื้อผ้า รวมถึงนักท่องเที่ยว

จนกระทั่งปี2550 พี่แจ๋วอายุได้ 39 ปีพ่อป่วยและจากไป จึงคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องกลับมาช่วยแม่ทำงานที่บ้าน พร้อมกันกับคิดยกระดับคุณค่าผ้าไหมของตระกูลให้เลื่องชื่อ มีแบรนด์ “ย่าซิลค์” ได้รับการยอมรับมากขึ้น

“เรารู้สึกรักและผูกพันกับผ้าไหมของแม่มาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเมื่อเห็นว่าแม่เริ่มอายุมากแล้ว และมองเห็นโอกาสตลาดกำลังขยาย จึงอยากเข้ามาช่วยยกระดับงานผ้าไหมของบ้านให้มีมูลค่าเพิ่ม” พี่แจ๋ว ลักษมี เล่า ถึงการลาออกจากงานกลับมาอยู่บ้านในวัย 39 ปี

พี่แจ๋วเริ่มต้นต่อยอดผ้าไหม จากการไปเติมเต็มความรู้ โดยการไปอบรมกระบวนการฟอกย้อมผ้าสีแบบธรรมชาติจากกรมหม่อนไหม อยู่เกือบปีจึงได้กรรมวิธีผลิตเส้นใยผ้าไหมเงางามอย่างเป็นธรรมชาติ สีดำจากมะเกลือ สีแดง ชมพูอ่อนจากเปลือกงิ้วผา สีเขียวจากต้นเพกา สีเขียวเข้มจากใบขี้เหล็ก หรือสีดำเทา จากลูกกระบก สีน้ำตาลจากผลคูน

สีสวยเงางามบนผ้าไหมที่ผ่านการย้อมเป็นธรรมชาติเหล่านี้เป็นเทรนด์ ที่ปลอดภัยไร้สารเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ตลาดกำลังขยาย จึงปรับปรุงกระบวนการผลิตเป็นผ้าไหม ของเมืองย่า เป็นผ้าที่มีสียอมธรรมชาติตั้งแต่ปี 2550

จากนั้นไม่นานในปี 2552 จึงได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเภทผลิตสิ่งทอขนาดเล็ก พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมกันกับได้รับการรับรองมาตรฐานผู้ผลิตผ้าไหมคุณภาพจาก “ตรานกยูงพระราชทาน”

พอเปิดร้านเราก็ต้องศึกษามาตรฐานเพื่อให้ได้คุณค่าผ้าไหม จนได้รับตรานกยูงพระราชทาน รับรองผ้าไหมคุณภาพ เป็นจุดเริ่มที่ทำให้มีชื่อคนรู้จักมากขึ้น” หน่วยงานภาครัฐเริ่มเข้ามาเชิญไปร่วมงานแฟร์ และเปิดพื้นที่ให้ในตลาดนัด

นี่คือจุดเริ่มรับออเดอร์ขนาดใหญ่ระดับประเทศ บริษัทไปรษณีย์ไทย มีโครงการผลิตแตมป์ผ้าไหมแห่งแรกของโลก 1 ล้านดวง ในรูปนกยูงสี 4 แบบ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระเกียรติ สมเด็กพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 ส.ค. 2553

ผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติของบริษัทเมืองย่าฯ จึงได้รับเลือกเป็นผู้ผลิตออเดอร์ผ้าธรรมชาติแบบธรรมดา 7-8,000 เมตร ในราคาเมตรละ 400 บาท และผ้าไหมพรีเมี่ยม (Limited Edition) อีก 1-200 เมตร ในราคาเมตรละ 2,000 บาท การได้รับเกียรติผลิตสแตมป์ครั้งนี้ใช้เวลาผลิตทอมือและเครื่อง 5 เดือน

ความหมายของออเดอร์ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่รายได้ที่เข้ามา แต่หมายถึงชื่อเสียง การยอมรับการผลิตระดับประเทศที่จะมีโอกาสต่อยอดในอนาคต

ปี 2556 ได้รับเกียรติในการผลิตผ้าไหม โดยมีดีไซน์เนอร์คนไทย ยูกิ -อุณาวรรณ ตั้งคารวคุณ เจ้าของแบรนด์ ยูนา (YUNA) ผู้ออกแบบผ้าไหมจากเมืองย่า ให้กับเซเรน่า วิลเลียมส์ และวิคตอเรีย อซาเรoกา ซุปเปอร์สต์วงการเทนนิสระดับโลกได้เดินแบบที่ หัวหิน ในงาน”Made in Thailand Night with Serena & Victoria”

ปีล่าสุด 2560 ที่ผ่านมา เมืองย่า ซิลเค่น ได้รับออเดอร์จากการบินไทย ที่ผลิตเป็นLimited Edition จำนวน 30 ผืน ในราคาผืนละ 13,800 บาท

เราเน้นที่สินค้าพรีเมี่ยม ทำด้วยมือแม้จะออเดอร์มากๆ ก็ต้องรอ จึงมีองค์กรเริ่มสั่งเป็นสินค้าพรีเมี่ยมเป็นที่ระลึกในโอกาสต่างๆ”

พี่แจ๋ว ลักษมี เล่าว่า ด้วยความเป็นคนในตระกูลที่สืบทอดผ้าไหมมาตั้งแต่เด็ก จึงต้องเป็นผู้ออกงานแสดงสินค้าเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นช่องทางไปหาลูกค้า ที่มีทั้งลูกค้าประจำเข้ามาซื้อประจำ และลูกค้าใหม่ที่นิยมผ้าไหมไทยอยู่แล้ว ซึ่งตัวพี่แจ๋วเองต้องเป็นคนอธิบายเล่าเรื่องความเป็นมาของตระกูลผ้าชิ้นพิเศษ และกรรมวิธีการทอ การฟอกย้อมเหล่านี้ด้วยตัวเอง ลูกค้าจึงจะเชื่อถือ และเป็นโอกาสในการบอกต่อไปสู่ลูกค้าระดับองค์กร

เป้าหมายในอนาคตของการขยายกิจการและการส่งต่อธุรกิจ ยังมีลูกหลานในตระกูลที่เห็นคุณค่า และมีความรู้ทางธุรกิจกำลังศึกษาและเชื่อว่าจะเข้ามาสานต่อและสืบทอดให้ผ้าไหมของตระกูลยกระดับไปอีกขั้น สร้างแบรนด์ไปสู่ระดับโลก มีออเดอร์ส่งออก รวมถึงการมีหน้าร้าน

ขณะที่ปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 5 คิดต่อยอดศูนย์อนุรักษ์ผ้าไหมที่เปิดมานานแล้ว เริ่มต่อยอดในการรองรับนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง เพื่อรองรับกลุ่มคนที่อยากเข้ามาชม และดูงานกรรมวิธีการผลิตฟอกย้อมธรรมชาติ และการทอผ้าลายเอกลักษณ์ประจำอำเภอปักธงชัย

-----------------

 สูตรต่อยอด ตำนานผ้าไหมรุ่น5

-ทายาทแท้เดินเรื่องตำนานผ้าไหมไทย

-ยกระดับการผลิตตามเทรนด์

-หาตลาดผ่านงานแสดงสินค้า

-เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรเกรดพรีเมียม

-ศูนย์อนุรักษ์ผ้าไหม ต่อยอดท่องเที่ยว