‘แม่กำปอง’ร้องทุกข์

‘แม่กำปอง’ร้องทุกข์

ในวันที่การท่องเที่ยวชุมชนเป็นทั้งนโยบายและเทรนด์ ชุมชนผู้ถูกท่องเที่ยวกลับตกเป็นฝ่ายรับ(ไม่ไหว)

รถยนต์ต่อแถวกันยาวร่วมสิบกิโลเมตรบนถนนสู่ชุมชนแม่กำปอง คือสถานการณ์ส่งท้ายปลายปีที่หลายคนยังหวาดผวา ทว่าหลังขึ้นศักราชใหม่ ขยะกองโตคือของแถมจากนักท่องเที่ยวที่ชาวบ้านหนักใจยิ่งกว่า

เรื่องแบบนี้กำลังกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากโลกโซเชียลอย่าง ‘บ้านแม่กำปอง’  จังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการมาเกือบ 20 ปี

“บ้านแม่กำปองเริ่มทดลองรับท่องเที่ยวมาตั้งแต่ ปี 2542 พร้อมกับการทำวิจัยถึงรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับสถานการณ์การเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขณะนั้น ซึ่งผมและชาวบ้านเป็นผู้วิจัยเพื่อหาเครื่องมือที่เหมาะสมกับบริบทชุมชน จากต้นทุนทรัพยากรที่เรามี จนได้รูปแบบของโฮมสเตย์ที่มีการจัดสรรและกระจายผลประโยชน์ภายในชุมชนอย่างทั่วถึง ปัจจุบันบ้านแม่กำปองเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น วันเสาร์-อาทิตย์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่าพันคน หรือช่วงวันหยุดยาวมีนักท่องเที่ยวหลายพันคนถึงหมื่นคน ทั้งในลักษณะของการมาเที่ยวแบบ ไป-กลับ และพักค้างคืนในชุมชน”

“แต่ในระยะหลังยอมรับว่า สถานการณ์นักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนไม่มามารถจัดการและตั้งรับกับนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ต่างไปจากเมื่อก่อนที่เข้ามาเพื่อพักผ่อนและศึกษาเรียนรู้วิถีชุมชน นิเวศน์ป่าต้นน้ำ มาเป็นแบบ Walk in หรือ ไป-กลับ บางคนมาพร้อมกับคำถาม...มาบ้านแม่กำปองต้องเช็คอินที่ไหน ต้องกินอะไรแค่นั้น” ธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์ อดีตพ่อหลวงบ้านแม่กำปอง ชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

จากสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีการสำรวจย้อนหลัง 10 ปี พบการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือระหว่างปี 2549-2554 บ้านแม่กำปองมีนักท่องเที่ยวประมาณ 2,780 คน ต่อมาในปี 2555-2559 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 7,585 คน ซึ่งสถานการณ์นี้ส่งผลให้ชุมชนเริ่มรับมือไม่ไหว

ในงานศึกษาวิจัยเรื่อง ‘การจัดการขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) การท่องเที่ยวโดยชุมชนของบ้านแม่กำปอง’ ในปี 2557 ได้มีการประเมินผลกระทบทั้ง 4 ด้าน คือ กายภาพ สิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม และสุขภาพ พบว่าชาวบ้านบางกลุ่มไม่เข้าใจเรื่องการท่องเที่ยว ขณะที่นักท่องเที่ยวก็ขาดความเข้าใจในวิถีชุมชน ไม่ติดต่อสื่อสารกับชุมชน ไม่จองที่พักล่วงหน้า ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของชุมชน

เมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ที่จอดรถกลายเป็นของหายาก อุบัติเหตุจากความไม่ชำนาญในการขับรถบนพื้นที่สูงของนักท่องเที่ยวเกิดบ่อยครั้งขึ้น คนนำเที่ยวก็ไม่เพียงพอ นักท่องเที่ยวมักไปแออัดตามจุดที่แนะนำในสื่อโซเชียล ชาวบ้านเองเริ่มมีการขายที่ดินให้กับคนภายนอกมากขึ้น มีการรุกล้ำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การใช้ทรัพยากรไม่เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดนี้ชุมชนไม่สามารถบริหารจัดการได้เช่นเดิม

“ช่วงปลายปี 2559 มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะช่วงลองวีคเอนท์ จอดรถไม่ได้เลย ปลายปีผมขึ้นไปรถแทบขยับไม่ได้ ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือเรื่องที่จอดรถ แล้วก็มีจำนวนร้านค้าทั้งที่เป็นเจ้าของในพื้นที่เองกับคนนอกชุมชนที่เข้าไปอยู่ไปเช่ามากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นพวกร้านอาหารกับร้านกาแฟ ซึ่งร้านเหล่านี้จะได้รับการโปรโมททั้งที่หลายๆ ร้านก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชุมชนเลย” ดร.ฐิติ ฐิติจำเริญพร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยพายัพ ให้ข้อมูล

ด้วยเหตุนี้ในปี 2560 งานวิจัยชุมชนจึงได้ถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชนแม่กำปองเพื่อรับมือกับวิกฤติที่กำลังก่อตัวขึ้นอีกครั้ง ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง ‘การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้พลวัตของการเปลี่ยนแปลง : บ้านแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่’ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน และมหาวิทยาลัยพายัพ

ดร.ฐิติ ฐิติจำเริญพร ผู้ทำวิจัยเรื่องนี้กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับบ้านแม่กำปอง ถือว่ามีความเสี่ยง ที่ผ่านมาได้เคยทำการวิจัยเรื่องการจัดการขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยว ของบ้านแม่กำปอง พบว่าในช่วงปี 2553-55 ชุมชนแม่กำปองมีบ้านพักโฮมสเตย์ประมาณ 22 หลัง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 132 คนต่อคืน แต่ปัจจุบันชุมชนมีบ้านพักกว่า 40 หลัง จำนวนนักท่องเที่ยวที่พักค้างคืนประมาณ 400 คน เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว ในจำนวนนี้ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวแบบ Walk in ทำให้เกิดความแออัดและส่งผลกระทบต่อสังคมวัฒนธรรมในชุมชน

“สถานการณ์เปลี่ยน ปัญหาก็เปลี่ยนตาม ชุมชนไม่สามารถจัดการได้ เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากจนเกินจำนวนที่ชุมชนจะรองรับได้ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเทศกาล หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ นำมาสู่ข้อสงสัยและต้องค้นหาความจริงว่า ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้หรือไม่ และรูปแบบการจัดการที่เหมาะสมของชุมชนคืออะไร เพราะหากไม่มีการดูแลทรัพยากรอันเป็นต้นทุนของชุมชน มนต์เสน่ห์และภาพประทับใจของบ้านแม่กำปองอาจเกิดภาวะวิกฤต ซึ่งจะส่งผลไปทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือผู้ประกอบการ” ดร.ฐิติ กล่าว

เพื่อให้ชุมชนบ้านแม่กำปองที่เคยเข้มแข็งและเป็นตัวอย่างของการจัดการหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จกลับมายืนหยัดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน งานวิจัยครั้งนี้จึงน้อมนำ ‘แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง’ มาเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อน โดยชักชวนชุมชนให้ร่วมกันคิดร่วมกันหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม พลิกสถานการณ์จาก ‘ตั้งรับ’ มาเป็นฝ่ายรุก ออกแบบกฎกติกามารยาทเพื่อรักษาฐานทรัพยากรและฐานทางวัฒนธรรมของชุมชนให้มั่นคง ดำรงคุณค่าและอัตลักษณ์ของชุมชนต่อไป

หลังจากพูดคุยระดมความคิด ชุมชนต่างเห็นพ้องว่าถึงที่สุดปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการจราจร ขยะ การสูญเสียที่ดิน หรืออื่นๆ ชาวบ้านต้องร่วมกันแก้ไข ยกตัวอย่างกรณีรถติดบริเวณทางขึ้นหมู่บ้านในช่วงเทศกาล ที่ผ่านมาคณะกรรมการหมู่บ้านและองค์การบริหารส่วนตำบลได้หารือร่วมกันและวางแผนในการแก้ปัญหา โดยเตรียมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน อาสาสมัครกว่า 20 นายช่วยกันจัดการจราจร และกำหนดจุดจอดรถในสถานที่ที่เตรียมไว้ เช่น โรงเรียนแม่กำปอง ลานวัดแม่กำปอง และโครงการหลวงตีนตก เพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น

“ในเรื่องของการยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อความยังยืนนั้น ทางทีมวิจัยได้ดำเนินการจัดทำแบบสอบถามแก่นักท่องเที่ยว ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อนำข้อมูลและความต้องการของนักท่องเที่ยวมาปรับการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน โดยอยู่ระหว่างรวบรวมละวิเคราะห์ข้อมูล พร้อมกับการพูดคุยความพร้อมของชุมชนถึงการพัฒนาแนวทางการจัดการท่องเที่ยวบ่นแม่กำปองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่

ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องจราจรติดขัดช่วงวันหยุดยาวนั้น ทางทีมวิจัยได้เสนอให้คณะกรรมการชุมชนบ้านแม่กำปอง นำระบบขึ้น-ลงรถเช่นเดียวกับดอยสุเทพมาใช้ โดยการจัดจุดจอดรถให้กับนักท่องเที่ยวที่บริเวณธารทอง ทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ของป่าไม้ จากนั้นจัดรถรับส่งนักท่องเที่ยวคนละ 50 บาท โดยเงินที่จ่ายไปนี้สามารถนำไปเป็นส่วนลดค่ากาแฟหรือค่าที่พัก ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของชุมชน” ดร.ฐิติ เล่าถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหา พร้อมทั้งเสนอแนะให้มีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวด้วย

“สิ่งที่ทางทีมวิจัยคิดว่าบ้านแม่กำปองควรจะมี คือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เช่น การนำคิวอาร์โค้ดมาติดไว้ในสถานที่สำคัญ เช่น ประวัติความเป็นมาวัดกลางน้ำ เส้นทางเสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร. 9 และพระราชินี ดอกแม่กำปอง สัญลักษณ์ของชุมชนที่น้อยคนจะรู้จัก รวมถึงเส้นทางการท่องเที่ยวของชุมชน ร้านค้า ร้านอาหาร บ้านพักโฮมสเตย์”

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวที่เกินขีดจำกัดนั้น ชาวบ้านและทีมวิจัยได้ยึดเอา “ศาสตร์พระราชา” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักการสำคัญว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องรักษาสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ที่สำคัญต้องคำนึงถึงคุณภาพและความสุขของประชาชนด้วย

ผศ.ดร.ชูพักตร์ สุทธิสา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. แสดงทัศนะว่า ประชาคมโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพยากร และความต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร เนื่องจากทรัพยากรมิได้มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ตลอดจนความสำคัญในเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน ชุมชนท้องถิ่น และบ้านแม่กำปองเป็นชุมชนท่องเที่ยวหนึ่งที่ สกว.มองว่า จะต้องใช้กระบวนการวิจัยเข้าไปสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการดูแลบริหารจัดการการท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน

“พระราชดำริของในหลวง ร.9 ที่ว่า การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนา ถือเป็นแนวทางสำคัญอีกประการที่ สกว.มุ่งน้อมนำพระราชปณิธานมาใช้ในงานวิจัยเพื่อให้ชุมชนเกิดความยั่งยืน และเป็นแนวทางแก่ชุมชนท่องเที่ยวอื่นๆ โดยเริ่มจากการทำให้ชาวบ้านได้รู้จักตัวเอง กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

การรู้จักตัวเองก็คือ การรู้ว่าทรัพยากรที่ดีและโดดเด่นในพื้นที่มีอะไร ควรรักษาไว้อย่างไร เพราะการดูแลรักษาต้นทุนทรัพยากรหรือสิ่งที่ตัวเองมี เปรียบได้กับการรักษาต้นทุนของชีวิต ซึ่งรายได้หลักของชาวชุมชนบ้านแม่กำปองมาจากการท่องเที่ยว ถ้าทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้ง ดิน น้ำ ป่า และ อัตลักษณ์ของชุมชนยังคงอยู่ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และรายได้ของชุมชนก็จะยังคงอยู่เช่นเดิม แต่สิ่งที่หาคำตอบคือจะดูรักษาอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องชวนชาวบ้านคิดและทำ

ที่สำคัญการดูแล ดิน น้ำ ป่า เป็นการน้อมนำพระราชปณิธานของในหลวง ร.9 ซึ่งต้องขีดเส้นใต้หนาๆ ว่า เป็นพระราชปณิธานที่พระองค์ท่านได้ทรงวางรากฐานไว้แก่ประเทศชาติและพสกนิกรตลอดการครองราชย์” ผศ.ดร.ชูพักตร์ กล่าว

ความเปลี่ยนแปลงที่แม่กำปอง อาจจะไม่ต่างจากชุมชนผู้ถูกท่องเที่ยวอื่นๆ แต่สิ่งที่แตกต่างคือกลวิธีในการต้านทานกระแสการท่องเที่ยวที่ถาโถมเข้ามา ซึ่งคนที่นี่ใช้งานวิจัยเป็นกลไกในการระดมพลสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสะสมของชุมชน

และถ้าทำสำเร็จ หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งนี้จะกลายเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ได้ลุกขึ้นมาจัดการบ้านของตัวเองให้สมดุลและมีความสุขทั้ง’คนอยู่’และ’คนเที่ยว’