หอยเบี้ยแก้ใหญ่

หอยเบี้ยแก้ใหญ่

พบกับนักเขียน คอลัมภ์เท่าฝาหอย (ตอน8) เขาจะเล่าถึงเรื่องเปลือกหอยที่สัมพันธ์กับโลกและมนุษย์ทั้งมุมละเมียดละไมและมุมที่หลายคนไม่รู้

.................

หอยเบี้ยแก้ใหญ่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mauritia mauritiana (L., 1758) มีเปลือกที่หนามาก และสร้างเคลือบทับซ้อนลายหลายชั้น เนื่องจากอาศัยในแก่งโตรกหินที่มีคลื่นซัดชายฝั่งตลอดทั้งปี หอยจึงต้องเพิ่มความคงทนด้วยการสร้างความหนา เพื่อกันการแตกร้าวจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ในแหล่งอาศัย 

โดยรวมแล้วหอยชนิดนี้มีเปลือกสีโดำเข้ม มีลายดอกสีขาวขุ่นใหญ่น้อยพราวไปทั้งเปลือก เพื่อพรางตัว ทรงเปลือกจะโค้ง โก่ง และมีส่วนโค้งหลังนูนสูงมากคล้ายหลังเต่านา ลายดอกจะมีวงใหญ่กว่าหอยเบี้ยแก้เล็ก  และดอกจะสร้างอย่างมีระยะห่างจากกัน

 หอยเบี้ยแก้ใหญ่ เคยถูกใช้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของมนุษย์เผ่าทะเลยุคก่อนประวัติศาสตร์ไทยเป็นต้นมา 

  ผู้เขียนเคยได้ยินมาว่า มีการใช้หอยชนิดนี้อยู่สองรูปแบบด้วยกัน 

รูปแบบแรกคือ ช่างปูนโบราณใช้ในการก่ออิฐถือปูน เพื่อสร้างพระอุโบสถในวัดหรือในปราสาทราชวังที่สำคัญมาแต่โบราณ ครูช่างมักนำหอยเบี้ยแก้ใหญ่ (อาจรวมถึงหอยเบี้ยเสือซึ่งก็มีขนาดใหญ่) มาพันผ้าจนแน่น แล้วอาศัยสรีระหอยด้านปากที่มีความหนาและแบนระนาบราบกว่าส่วนอื่นชุบน้ำพอหมาดแล้ว “ตบ” เนื้อปูนที่ผสมมวลสารชั้นดี และฉาบก่อเข้ารูปให้แน่นก่อนจะฉาบทาสีลงรักปิดทองเคลือบทับ นัยว่าวิธีนี้เป็นการตบเพื่อไล่ฟองอากาศออกจากเนื้อปูน โดยทุบให้ส่วนผสมนั้นเข้ากัน

 ว่ากันว่าอาจมีการอ่านหรือร่ายพระเวทย์มนตรากำกับความศักดิ์สิทธิ์เพื่อกันและแก้ “ของร้าย” ที่จะพัดมาผ่านไป แทรกผ่านตัวอาคารเข้าทำร้ายผู้ที่อาศัยหรือใช้สถานที่อันสำคัญนั้น ๆ 

เรื่องนี้จะจริงเท็จประการใด ไม่ทราบได้

 หอยเบี้ยแก้ใหญ่รูปแบบที่สองที่ผู้ใหญ่ใจดีเล่าให้ฟัง คือ มีบูรพมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงให้รื้อสร้าง รวมถึงบูรณะ “พระปรางค์วัดอรุณฯ” ซึ่งเป็นพระปรางค์ทรงขอมขนาดใหญ่ที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

พระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะเสมอมา จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ ซึ่งก็คือแบบที่เห็นในปัจจุบัน องค์พระปรางก่ออิฐถือปูน ประดับด้วย “ชิ้นเปลือกหอย” กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่างๆ เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน 

ในส่วนของเปลือกหอยที่นำไปประดับตกแต่งพระปรางค์นี้ มีเปลือก “หอยเบี้ยแก้ใหญ่“ จำนวนมาก และมีเปลือกหอยเบี้ยใหญ่น้อยชนิดอื่น ๆ ตามที่หาได้ในแต่ละสมัย

บ้างเชื่อกันว่าในช่วงวัยเยาว์ของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้น (พระราชวังกรุงธนบุรีของพระเจ้าตากสินแต่เดิม ซึ่งเป็นจุดบรรจบสุดท้ายก่อนจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามายังพระราชวังแห่งใหม่) โดยวัตถุดิบในการสร้างประดับตกแต่งองค์พระปรางค์องค์นี้ อาจหมายรวมถึงเสริมและสร้างองค์ประธานที่มี “เกราะเวทย์” เพื่อปกป้อง คุ้มกัน และ “แก้” ภัยจากอริราชศัตรู เพื่อนบ้านในเบื้องทิศตะวันตกของเรา ผู้มักส่งกองทัพมารุกล้ำย่ำยีบีฑาเขตแดนแห่งสยามประเทศอยู่เนือง ๆ ในยุคสมัยนั้น

ทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นเพียงเรื่องเล่าด้วยการสันนิษฐานบ้าง จากปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่นบ้าง หาเค้ามูลความจริงและที่ไปที่มาได้ไม่ชัดเจน

แต่อย่างน้อยๆ “หอยเบี้ยแก้เล็กและใหญ่” ล้วนเคยมี และยังคงมี “ส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ชาติไทยของเราอย่างทั่วถึงและกว้างขวาง” ใช้กันมานาน จากที่ลึกลงถึงรากแก้วจนขึ้นสู่ยอดไม้ เคยใช้ประดับประดาทั้งดอกและใบแห่งสยามประเทศครับ!

 ....................

(ที่มาของประวัติโดยย่อของพระปรางค์วัดอรุณฯ ผู้เขียนค้นคว้าและเรียบเรียงใหม่ด้วยข้อมูลส่วนหนึ่งจากเว็ปไซต์ “วิกิพีเดีย”)

 ..................

ตีพิมพ์ในนสพ.กรุงเทพธุรกิจ กรีนไลฟ์ คอลัมภ์เท่าฝาหอย ฉบับวันที่ 11 มค. 61