เบี้ยแก้(เล็ก)ในเชิงไสยเวทย์

เบี้ยแก้(เล็ก)ในเชิงไสยเวทย์

พบกับนักเขียน คอลัมภ์เท่าฝาหอย (ตอน7) เขาจะเล่าถึงเรื่องเปลือกหอยที่สัมพันธ์กับโลกและมนุษย์ทั้งมุมละเมียดละไมและมุมที่หลายคนไม่รู้

........................

  เบี้ยแก้ ในความหมายเชิงอุดมคติของคนไทยโดยทั่วไป คือ เครื่องรางชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอุปเท่ห์ในการใช้หลายอย่าง ทั้งกันและแก้สิ่งชั่วร้าย เสนียดจัญไร คุณไสย คุณคน คุณผี ยาเบื่อ ยาเมายาสั่งทั้งหลาย

คณาจารย์ยุคเก่าที่สร้างเครื่องรางประเภทเบี้ยแก้มีอยู่หลายรูป แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมมากที่สุด มีเพียง 2 รูปเท่านั้น คือ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว และ หลวงปู่รอด วัดนายโรงนอก

โดยส่วนใหญ่คนไทยจะใช้“หอยเบี้ยแก้เล็ก” ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Monetaria caputserpentis (L., 1758) เนื่องจากมีขนาดเล็กเหมาะแก่การพกพาติดตัวไปตามที่ต่างๆ 

ในสมัยปลายอยุธยาหรือต้นรัตนโกสินทร์ เบี้ยแก้หาค่อนข้างยาก จึงอนุโลมให้ใช้เปลือกหอยเบี้ยจั๊กจั่น หุ้มด้วยตะกั่วแทนได้

เปลือกเบี้ยแก้เล็ก ส่วนใหญ่นำมาจากหมู่เกาะนิโคบาร์- อันดามัน โดยผ่านพ่อค้าชาวอินเดีย ปัจจุบันนำมาจากหมู่เกาะฟิลิปปินส์ (ทั้งหมู่เกาะสแปรตลีย์ หมู่เกาะตาวี ตาวี) และจากหมู่เกาะอินโดนีเซีย โดยพราหมณ์ใช้โรยหรือโปรย“ล้างพื้นที่และขอซื้อสิทธิ์การใช้พื้นที่จากเจ้าที่เจ้าทางผู้ดูแล” ก่อนสร้างชุมชนหรือหมู่บ้านต่าง ๆ ในไทย (ซึ่งมักใช้รวมไปกับหอยเบี้ยชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น หอยเบี้ยจั๊กจั่น หอยเบี้ยแก้ว เป็นต้น)

ถ้าจะใช้เบี้ยแก้ให้ได้ผลดี มีบ้ันทึกไว้ว่า

    “เมื่อยามศึกสงครามให้เอาไว้ด้านหน้า สารพัดศัตรูบีฑาย่ำรุกไล่ให้เอาไว้ด้านหลัง หากเจ้าฟ้ามหากษัตริย์เจ้าขุนมูลนายให้เอาไว้ด้านข้างขวา เมื่อหาหญิงหานางพญาให้ไว้ข้างซ้าย ...”

 ส่วนวิธีการสร้างเบี้ยแก้ เริ่มจากการหา“ตัวเบี้ยที่นับให้ได้ฟัน 32 ซี่ ปรอทหนัก 1 บาท ชันโรงใต้ดินแผ่นตะกั่ว” (บางรายก็หาผ้าแดงมาด้วย)แล้วจึงนำสิ่งของทั้งหมดใส่ถาด พร้อมดอกไม้ธูปเทียนมาถวายหลวงปู่ 

หลังจากที่หลวงปู่ท่านทำอุโบสถเช้าหรือเย็นเสร็จแล้ว ท่านจะปลุกเสกปรอท แล้วจึงบรรจุปรอทลงในหอยเบี้ย แล้วนำชันโรงมาปิดปากเบี้ย เพื่ออุดมิให้ปรอทไหลออกมาได้

การปิดปากเบี้ย เพื่อกันไม่ให้ปรอทไหลออกมาได้นั้น นิยมเอาชันโรงใต้ดินที่ปลุกเสกแล้วมาอุดใต้รองเบี้ยให้สนิทเรียบร้อย แล้วจึงหุ้มด้วยวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผ้าแดง แผ่นตะกั่ว แผ่นทองแดง

จากนั้นท่านก็บริกรรมพระเวท แล้วจึงนำไปหุ้มตะกั่วกับพระในวัด เสร็จเรียบร้อยจึงนำกลับมาให้ท่านลงอักขระอีกทีหนึ่ง 

วัสดุที่ใช้หุ้มหรือปิดนี้ ก็ต้องลงอักขระเลขยันต์และปลุกเสกกำกับด้วย เช่น เบี้ยแก้หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จะมีลวดทองแดง ขดเป็นห่วง 3 ห่วง จะได้ใช้เชือกคาดเอวเบี้ยแก้ที่ผ่านการบรรจุปรอท จนกระทั่งถักหุ้มเรียบร้อยแล้ว ก็ยังไม่ถือว่าเสร็จสิ้นขั้นตอนกรรมวิธี เพราะต้องปลุกเสกกำกับอีกจนมั่นใจว่า“ใช้ได้จริงๆ”

        ..........................

(ข้อมูลส่วนหนึ่ง เรียบเรียงจากเว็บไซต์ palungjit.org และคอลัมน์ชมรมพระเครื่องด้วยความจริงใจของคุณ แทนท่าพระจันทร์)

 ...................

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมภ์เท่าฝาหอย กรีนไลฟ์ วันที่ 4 มค.61