หอยเบี้ยแก้

หอยเบี้ยแก้

พบกับนักเขียน คอลัมภ์เท่าฝาหอย (ตอน6) เขาจะเล่าถึงเรื่องเปลือกหอยที่สัมพันธ์กับโลกและมนุษย์ทั้งมุมละเมียดละไมและมุมที่หลายคนไม่รู้

...................

หอยเบี้ยแก้ที่คนไทยรู้จักและพบในน่านน้ำทะเลไทยทั้งสองฝั่งมีสองชนิด ได้แก่ หอยเบี้ยแก้เล็กและหอยเบี้ยแก้ใหญ่ 

ทั้งสองชนิดจะพบมากในแหล่งอาศัยธรรมชาติในฝั่งทะเลอันดามันมากกว่าทางด้านอ่าวไทยในทะเลจีนใต้ เนื่องจากน้ำทะเลฝั่งทะเลอันดามันของมหาสมุทรอินเดียของไทยนั้น มีกระแสน้ำเค็มจัดจากมหาสมุทรไหลผ่านเข้าและออกทั่วถึงตลอดทั้งปี 

หอยเบี้ยแก้ทั้งสองชนิดอาศัยในโตรกหินปะการังชายฝั่งก็จริง แต่พบน้อยมากในพื้นที่ที่น้ำทะเลมีความเค็มเจือจาง จากการไหลรวมกันของน้ำจืดจากแผ่นดินใหญ่

ในทะเลอันดามันนั้น มักพบหอยเบี้ยทั้งสองชนิดในชายฝั่งทิศใต้และทิศตะวันตกของทุกเกาะ อันเป็นทิศที่รับลมทะเลมรสุมจากอ่าวเบงกอล

     หอยเบี้ยทั้งสองชนิด ยังถูกพบอาศัยอยู่ร่วมกันทั่วไปในอาณาบริเวณสองมหาสมุทรทั้งมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิค ที่เรียกรวมด้วยศัพท์เชิงภูมิศาสตร์ทางสมุทรศาสตร์ว่าเขต Indo-Pacific

       ในความเป็นจริง หอยเบี้ยแก้ทั้งสองชนิดนั้น ต่างถูกค้นพบและตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์โดย Carolus Linnaeus บิดาแห่งอนุกรมวิธานวิทยา(Taxonomy) ในปีคศ. 1758 พร้อม ๆ กัน แต่

อยู่ในคนละสกุล (Genus)ของวงศ์หอยเบี้ย 

การศึกษาจากสายวิวัฒนาการ โดยนักสังขวิทยาในปัจจุบัน หอยเบี้ยแก้เล็กมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Monetaria caputserpentis(L., 1758) (ซึ่งแปลความหมายได้ว่า “หอยที่ใช้แทนเงินตรา มีลักษณะดั่งหัวของงู”) 

ส่วนหอยเบี้ยแก้ใหญ่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mauritia mauritiana(L., 1758) แปลความหมายได้ว่า หอยเบี้ยแห่งชาวมอริเทียน (ชาวเกาะ“มอริเชียส” เกาะภูเขาไฟโบราณตั้งอยู่ ณ กลางมหาสมุทรอินเดียเบื้องใต้ใกล้ทวีปแอฟริกา)

      หอยเบี้ยทั้งสองชนิด ล้วนมีเปลือกที่หนามาก และสร้างเคลือบทับซ้อนลายหลายชั้น เพราะต่างอาศัยในแก่งโตรกหินที่มีคลื่นทะเลตีกระแทกชายฝั่งตลอดทั้งปี หอยจึงต้องเพิ่มความคงทนด้วยการสร้างความหนา เพื่อกันการแตกร้าวจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ในแหล่งอาศัย 

หอยเบี้ยแก้ทั้งสองชนิด ล้วนมีสีออกดำเข้ม มีลายดอกสีขาวขุ่นใหญ่น้อย พราวไปทั้งเปลือก เพื่อพรางตัว ในหอยเบี้ยแก้ใหญ่ ทางเปลือกจะโก่งและนูนกว่ามาก คล้ายกับหลังเต่าในนา ลายดอกจะมีวงใหญ่และดอก โดยสร้างระยะห่างจากกัน ในหอยเบี้ยแก้เล็กนั้นหอยจะมีทรงนูนราบกว่าและมีลายดอกพราวละเอียดกว่ามาก

การที่มีทั้งทรง สี ลาย เปลือกที่คล้ายกันมากนั้น เป็นเพราะหอยทั้งสองชนิด มีวิวัฒนาการในถิ่นอาศัยที่เหมือนกัน จึงสร้างสีออกโทนเข้ม มืด เพื่อพรางตัวจากสัตว์ผู้ล่าหลากหลายชนิดใต้โตรกและซอกหลืบหิน

     อาจด้วยคุณสมบัติของสีเปลือกอันดำมืดนี้เอง จึงเป็นที่มาของการนำมาใช้ในการประจุมวลสารและมนตรา เพื่อรักษาไสยเวทย์หรือพุทธคุณตามความเชื่อท้องถิ่นของคนไทยหลายกลุ่มหลายพื้นที่นานนับแต่โบราณ 

......................

   ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กรีนไลฟ์ คอลัมภ์ เท่าฝาหอย  ฉบับวันที่ 28 ธค.