‘สูงวัย’ ไม่ตกเทรนด์

‘สูงวัย’ ไม่ตกเทรนด์

แม้จะเบื่อที่ต้องพูดถึงสังคมสูงวัย แต่ทุกคนก็ต้องแก่ ถ้าอย่างนั้นจะต้องเตรียมตัวยังไง

.................

คงเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า สังคมไทยตอนนี้และในอนาคต...ทารกเกิดใหม่น้อยลง คนสูงวัยมากขึ้น คนหนุ่มสาวมีจำนวนจำกัด

ก่อนที่ความชราจะมาเยือน ไม่ว่าคุณจะรวยหรือจน โสดหรือมีครอบครัว คุณคงได้ยินคำถามแบบนี้บ่อยๆ ...

“โสด...ไม่มีลูกหลาน เมื่อชราแล้ว ใครจะดูแล ? ”

“คนชรายากจน จะเอาเงินที่ไหนมาดูแลสุขภาพ ? ”

“คนชราที่อยากไปอยู่บ้านพักคนชรา ทำไมต้องต่อคิวข้ามปี ? ”

“ทำไมบ้านและคอนโดสำหรับคนสูงวัยราคาแพงจัง ? ”

“ต้องออมเงินสำหรับวัยเกษียณเท่าไหร่ถึงจะพอ?”  

“ระบบมาตรฐานการดูแลคนชราประเทศนี้มีไหม? ”      

“ถ้าแก่แล้ว ไม่มีเงิน ลูกทิ้ง จะทำยังไงดี ? ”

        ฯลฯ

................

แม้สังคมไทยจะตื่นตัวเรื่อง สังคมสูงวัยมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรมากนัก แม้จะเริ่มเห็นนวัตกรรมเพื่อคนสูงวัย บ้านและคอนโดสำหรับคนสูงวัยมากขึ้น แต่ภาครัฐก็ยังไม่สามารถออกแบบกลไกการดูแลผู้สูงวัยอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ 

และนีี่คือ สิ่งที่ประชาชนทวงถาม...

ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations) คาดการณ์ว่า ปี ค.ศ. 2050 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปัจจุบัน โดยมีจำนวนกว่า 2,000 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 21 ของประชากรโลก

โดยคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในปี ค.ศ. 2021 และจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดในปีค.ศ. 2035

สถิติเท่าที่ปรากฎอายุขัยเฉลี่ยของชายไทยประมาณ 80.3 ปี ส่วนหญิงไทยประมาณ 83.9 ปี เพศหญิงแม้สภาพภายนอกดูอ่อนแอ แต่อายุยืนกว่า เพราะมียีนแห่งความเข้มแข็งฝังอยู่ภายในมากกว่าเพศชาย จึงมีช่วงเวลาบั้นปลายชีวิตที่ยืนยาวกว่าเพศชาย

ว่ากันว่า หลังอายุ 60 ปี ผู้หญิงยังมีช่วงการใช้ชีวิตอย่างอิสระระยะเวลา 18.2 ปี ขณะที่ผู้ชายมีช่วงชีวิตดังกล่าวแค่ 16.4 ปี อิสระในที่นี่คือ พึงพิงตนเองได้ แต่เมื่อใดที่ผู้หญิงมีอายุตั้งแต่ 78.2 ปี พวกเธอจะสามารถทำกิจกรรมได้จำกัด แต่ยังพึงพิงตนเองได้ ส่วนผู้ชายเมื่อเข้าสู่วัย76.4ปี อาจจะเริ่มใช้ไม้เท้า หรือนั่งวีลแชร์ ทำกิจกรรมได้น้อยลงหรือต้องมีผู้ช่วยเหลือบ้าง 

เทรนด์ออมเงินวัยเกษียณ

“เกษียณแล้ว จะต้องมีเงินใช้สำหรับวัยชราจำนวนเท่าไหร่ ” 

คำถามที่ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป เพราะขึ้นอยู่กับไลฟสไตล์ของแต่ละคน แต่มีตัวเลขที่นักการเงินประมาณการเอาไว้

“ห้าปีแรกของชีวิตเกษียณให้นำเงินไปไว้ในบัญชีที่มีสภาพคล่อง จำพวกเงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อให้เพียงพอกับการใช้ จากนั้นปีที่ 6-15 ลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ส่วนเงินที่คิดว่าจะใช้ในปีที่ 16 ให้ลงทุนในหุ้น เนื่องจากเรามีเวลามากพอสำหรับความผันผวนในการลงทุน” ดารบุษป์ ปภาพจน์ นักบริหารการเงินมืออาชีพ เคยแนะกลยุทธิ์การลงทุนและการออมในวัยเกษียณไว้อย่างน่าสนใจ​

และเมื่อไหร่ที่ลงทุนในหุ้น แล้วผลตอบแทนมากกว่าเงินต้น เธอแนะอีกว่า ก็ปัดเงินลงทุนในหุ้นมาไว้ในตราสารหนี้ระยะยาว

"คิดง่ายๆ เลยจากหุ้นมาเป็นตราสารหนี้ จากตราสารหนี้เป็นเงิน วิธีนี้ทำให้เราไม่เครียด”

นอกจากนี้เธอยังเคยให้แนวทางไว้ว่า โดยมาตรฐานแล้ว หลังเกษียณควรมีเงินออมไว้ใช้สักสี่ห้าล้านบาท นั่นเป็นการคำนวณบนพื้นฐานค่าครองชีพปกติ และแนวคิดนี้ต้องไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย 

"อย่าลืมผลของเงินเฟ้อ เพราะค่าของเงินไม่ได้เดินเท่ากันตลอดเวลา เงินหนึ่งล้านผ่านไปสิบปี ค่าของเงินลดลงครึ่งหนึ่ง นี่คิดจากเงินเฟ้อ 5 เปอร์เซ็นต์ อาจมีคนเถียงว่า 3 เปอร์เซ็นต์ แต่เราคิดจากค่าเฉลี่ยของสินค้าที่เราซื้อในกระทรวงพาณิชย์ และแต่ละคนไม่รู้ว่าจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน”

ดารบุษป์ แนะนำว่า ควรออมอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน โดยเฉพาะคนอายุเกิน 40 ปี เพราะภาระด้านการเงินเริ่มน้อยลง 

“คนเกษียณรุ่นเก่าบอกว่า เกษียณแล้วจะพึ่งพิงลูกหลาน แต่ลูกหลานยุคนีี้ยังพึ่งพิงตนเองไม่ค่อยได้ ในต่างประเทศคนอายุ 60 ยังต้องลงทุนในหุ้น ถ้าไม่ทำอย่างนั้น ก็ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้เพราะต้องอยู่อีก 30 ปี ถ้าเกษียณแล้ว หากไม่ได้มีทักษะสูง ลองลดค่าตัวก็จะมีรายได้ เพราะผู้บริหารคงไม่อยากจ้างเด็กจบใหม่ที่พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่มีความอดทน ส่วนคนเกษียณที่มีทักษะสูง ยังทำงานได้อีกหลายอย่าง เขียนหนังสือ ทำบล็อก ก็หารายได้ได้แล้ว”

ทัศนะเรื่องการออมหลังเกษียณ จึงไม่เคยตกเทรนด์ ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน บางแห่งคำนวณเป็นตัวเลขให้เลยว่า ถ้าคุณมีอายุอยู่อีกกี่ปี คุณต้องออมจำนวนเท่าไหร่ 

แม้จะเป็นการคาดการณ์ แต่ก็เป็นการกระตุ้นให้คนรู้จักการออมเงินไว้ใช้ในยามชรา

เทรนด์ที่พักผู้สูงวัย

หากเมื่อไหร่ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ คนในครอบครัว ก็ต้องหาตัวช่วยให้คนสูงวัยอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

“สังคมไทยเตรียมการณ์เรื่องสังคมสูงวัยน้อยมาก หากเทียบกับยุโรป ญี่ปุ่น ประชากรสูงวัยที่เพิ่มจาก 10 เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ช่วงเวลานั้นฝรั่งเศสใช้เวลา 115 ปี สวีเดน 95 ปีในการเปลี่่ยนแปลงไปสู่สังคมสูงวัย เวลานานขนาดนั้นพวกเขาเตรียมทั้งเรื่องระบบสุขภาพเมือง รวมถึงเศรษฐกิจ พวกเขาจะคิดว่าต้องรวยก่อนแก่ แต่เรายังไม่รวยเลย แก่แล้ว  และสังคมไทยใช้เวลาเปลี่ยนผ่านแค่ 22 ปี ” รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งทำงานด้านนี้กว่าสิบปี เคยเล่าให้ฟัง

แม้คนไทยยุคใหม่จะให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่ในปัจจุบันคนสูงวัยที่เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย เนื่องจากการใช้ชีวิตและการกิน รวมถึงมีความเชื่อว่าป่วยแล้วค่อยว่ากัน

“ในสิงคโปร์จะมีการสำรวจว่า กลุ่มคนสูงอายุแต่ละคนสุขภาพเป็นอย่างไร มีคนดูแลไหม ฐานะการเงินเป็นยังไง ถ้าพบว่า ไม่ดีเลย รัฐบาลจะช่วยเหลือเต็มที่ ทั้งที่พัก เบี้ยสวัสดิการ สถานสงเคราะห์คนชราของเขาก็ดีกว่าเรา แต่เราไปเอาแนวคิดปลายทางมาทำสถานสงเคราะห์ ซึ่งไม่ถูกต้อง ต้องให้ผู้สูงอายุอยู่ในถิ่นเดิม และรัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้อบต. ช่วยเหลือชุมชนมีการเยี่ยมบ้าน และปรับปรุงบ้าน ถ้ารัฐไม่ทำเรื่องนี้ภายในห้าปี มีปัญหาแน่”

แม้ปัจจุบันจะมีบ้านพัก คอนโด สำหรับผู้สูงวัยมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ อาจารย์ไตรรัตน์ยกตัวอย่าง โครงการสวางคนิเวศ(คอนโดต้นแบบเพื่อผู้สูงอายุของสภากาชาดไทย) ที่เขามีส่วนออกแบบและร่วมคิดคอนเซ็ปต์ นั่นเป็นแค่ทางเลือก และไม่ต้องการพัฒนาให้เติบโตเหมือนคอนโดทั่วไป

“ตอนนี้มีคนรอคิวเยอะ ผมไม่เห็นด้วยที่จะสร้างออกมาเยอะๆ ถ้าเยอะเกินไปจะทำให้กลไกทางสังคมเปลี่ยน ลูกหลานทิ้งพ่อแม่เร็วขึ้น จึงต้องค่อยๆ ทำ อีกอย่างผมเสนอให้รัฐบาลประกาศนโยบายลดภาษีบางอย่าง เพื่อคนจะได้นำเงินไปซ่อมแซมบ้านให้ผู้สูงอายุอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิด ลูกหลานดูแลได้ ”

 

นวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัย

ในอนาคต คนไทยจะเห็นผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหา เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชนมากนัก 

“เป็นธุรกิจที่จะรุ่งในอนาคต รัฐควรสนับสนุนให้ญี่ปุ่นมาผลิตสินค้าแบบนี้ในเมืองไทย เนื่องจากค่าแรงในญี่ปุ่นแพงมาก รวมถึงให้ภาคเอกชนของเราผลิตเอง หรือมีนโยบายกึ่งบังคับสำหรับธุรกิจบ้านจัดสรรหรือคอนโด เมื่อมีการสร้างบ้านหรือคอนโดทั่วไป ต้องสร้างที่พักสำหรับผู้สูงอายุสิบเปอร์เซ็นต์  นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์กลุ่มไหนลงทุนทำแบบนี้่ ก็ลดภาษีให้” อาจารย์ไตรรัตน์ กล่าว และเตือนว่า 

"อย่าหวังพึ่งรัฐบาล ผู้สูงวัยต้องลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง ญาติพี่น้องต้องช่วยกันปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับผู้สูงวัย เพราะพบว่า ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงวัยมักเจออุบัติเหตุ ล้มภายในบ้าน บริเวณห้องน้ำหรือบันได การปรับปรุงบ้านตัวเองจึงสำคัญมาก แต่โชคดีมีตลาดเครื่องใช้สอย ราวจับ สุขภัณฑ์ ที่ออกแบบเพื่อผู้สูงอายุมากขึ้น ” รศ.ไตรรัตน์ กล่าว เพื่อให้ตระหนักรู้ว่า การพึ่งพาตนเองเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งในบ้านและพื้นที่สาธารณะเป็นตัวช่วย

 หากถามถึงความพร้อมในด้านมาตรฐานรองรับสังคมผู้สูงวัย คงไม่ได้วัดกันแค่ปัญหาสุขภาพร่างกาย และที่อยู่อาศัย แต่รวมถึงสภาพแวดล้อมและพื้นที่สาธารณะในการใช้ชีวิต อาจารย์ไตรรัตน์ บอกว่า ตอนนี้คมนาคมเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าปี 2566 รถเมล์บ้านเรา ยังเป็นแบบนี้ ผู้สูงอายุก็ไม่สามารถออกจากบ้านไปไหนได้ ต้องปรับรถเมล์ให้มีชานเตี้ยลง เพื่อให้คนพิการและผู้สูงอายุใช้บริการได้ด้วย

“ปัญหารถเมล์ชานต่ำเพื่อผู้สูงอายุ ยังไม่เพียงพอ ถ้ารัฐบอกว่าจะปรับแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของรถเมล์ทั้งหมด ก็ยังไม่พอ เพราะรถเมล์ที่ให้บริการไม่ครอบคลุมผู้สูงอายุทุกพื้นที่ ซึ่งรถที่เห็นอยู่ต้องปรับทั้งหมด ในสิบปีข้างหน้าต้องให้บริการผู้สูงอายุได้ด้วย ตอนนี้ก็มีรถไฟฟ้าใต้ดิน ทุกสถานีต้องมีลิฟ ทางลาด ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยาย เพื่อให้บริการคนสูงอายุก็ปรับปรุงดีขึ้น แต่ในส่วนเดิมยังไม่ได้ปรับปรุง ต้องเร่งรัดให้กทม.ปรับปรุงให้สอดคล้องกับผู้สูงอายุ หรือการให้บริการในสนามบินทั่วไป ยังให้บริการผู้ใช้วิลแชร์เข้าสู่อาคารน้อยมาก "

 

ตัวช่วยที่เรียกว่า หุ่นยนต์

“หุ่นยนต์ดินสอไปไกลถึงญี่ปุ่น เพื่อไปรับใช้ผู้สูงอายุ โดยถูกปรับขนาดให้เล็กลง และอีกไม่นานจะไปปรากฎตัวที่เยอรมัน สวีเดน และหลายโรงพยาบาลในบ้านเรา หุ่นยนต์ดินสอจะมารับใช้ผู้ป่วยและผู้สูงวัย” เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด ผู้ผลิตหุ่นยนต์หนึ่งเดียวในเมืองไทย เคยเล่าไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ตอนทำหุ่นยนต์ดินสอ เขาพาวิศวกรไปเฝ้าดูพฤติกรรมคนชรา เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาทำวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ จนกลายเป็นหุ่นยนต์ที่ดูแลผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ 

“หากคนชราลุกขึ้นมาตอนกลางคืน หรือไม่กระดุกกระดิกนานๆ หุ่นยนต์ดินสอจะรู้และเห็น จากนั้นมันจะแจ้งเข้ามือถือลูกหลาน เราทำเซ็นเซอร์ให้หุ่นยนต์มองเห็นแม้ไม่มีแสงสว่างเลยนอกจากนี้หุ่นยนต์ดินสอยังชวนเล่นเกม ฝึกสมอง เตือนกินยา ชวนสวดมนตร์ ร้องคาราโอเกะ ชวนฟังธรรม 

เมื่อก่อนหุ่นยนต์ดินสอไม่ได้ตัวแค่นี้ ทางญี่ปุ่น บอกว่าตัวใหญ่ไป ก็ปรับเล็กลงตั้งโต๊ะได้ เราดีไซน์ให้น่ารัก ทางญี่ปุ่นก็ชอบ หุ่นเหล่านี้เปิดเพลงเก่าๆ ให้คนแก่ที่ไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีฟังได้ หุ่นยนต์มีหน้าที่เป็นผู้ช่วย ถ้ามีคนโทรเข้า มันทำหน้าที่รับสายโดยอัตโนมัติ คนแก่ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้การใช้งานเลย”

นี่คืออีกส่วนของเทคโนโลยีที่จะเข้ามารับใช้ผู้สูงวัย  แต่โดยรวมแล้ว สังคมไทยยังไม่ได้เตรียมการณ์เรื่องสังคมสูงวัยอย่างเป็นรูปธรรม