'ยู้'ลูกชิ้นปลาต้นตำรับ สูตรลับโตยั่งยืน

'ยู้'ลูกชิ้นปลาต้นตำรับ สูตรลับโตยั่งยืน

ลูกชิ้นปลาต้นตำรับเยาวราชส่งต่อมาถึงคนรุ่น 3 สำหรับ'เกยูร กิตติธเนศวร' ต่อยอดสินค้าจากคิดกำจัดก้างและหนังปลาจึงพบงานวิจัยฮาร์เวิร์ด ผลิตคอลลาเจนและแคลเซียมอาหารเสริมจากปลา สร้างความแตกต่างในตลาด

ถือเป็นหนึ่งในสุดยอด“กรณีศึกษา”ในหลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC-Young Entrepreneur Chamber of Commerce ของหอการค้าไทย สำหรับ “เกยูร กิตติธเนศวร” (ยู้) ทายาทรุ่น 3 ธุรกิจลูกชิ้นปลาต้นตำรับเยาวราช “อึ้งเป็งชุง” ที่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ ขายดีจนต้องต่อคิวกิน เพราะฝีมือปั้นลูกชิ้นและลวกก๋วยเตี๋ยว ของคนรุ่นก่อน

 ยู้ เล่าพร้อมรอยยิ้มว่า เธอเติบโตมากับร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาที่คนจองคิวกันแน่นร้าน เพื่อรอทานรสมือของพ่อ โดยมีเธอเป็นลูกมือในตำแหน่งเด็กเสิร์ฟน้ำ ล้างจาน

“พ่อกลัวไม่อร่อยถ้าให้เราไปช่วยทำ ผ่านมากว่า 10 ปีเราก็ยังได้เป็นแค่คนเสิร์ฟน้ำ และล้างจาน เราก็รู้ว่ามันอร่อย แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า มันอร่อยขนาดต้องมายืนกินแน่นร้าน นักการเมืองดังบางคนไปกินในตู้โทรศัพท์ก็มี ต้องอยากกินขนาดนี้เลยเหรอ” เธอถ่ายทอดความรู้สึกในขณะนั้น

พอต้องมารับไม้ต่อธุรกิจเมื่ออายุ 26 ปี (ปี2554) กลายเป็นโจทย์ยากของยู้ ในการต่อยอดธุรกิจลูกชิ้นปลาระดับตำนานเยาวราชอายุกว่า 80 ปี (พ.ศ.2475) ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ก่อนจะตกผลึกเป็นการเลือกหยิบ นวัตกรรม หลักการบริหารทันสมัย และสร้างมูลค่าแบรนด์ มาใช้ โดยมีพื้นฐานจากงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และอ่านบทความงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลก มาเป็นข้อมูลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์

กลายเป็นที่มาของการค้นพบการรักษาอุณหภูมิ ทำแพ็คเกจสุญญากาศให้ลูกชิ้นปลาเก็บไว้ได้นานกว่า 7 วัน รวมถึงการวัดระดับจำนวนการลวกก๋วยเตี๋ยว น้ำร้อน ปริมาณสัดส่วนการผสมให้ลูกชิ้นปลาคงคุณค่าคอลลาเจนและอร่อย หอม ไม่มีกลิ่นคาวปลา โดยไม่ผสมแป้ง 

ผลจากงานวิจัยยังทำให้ธุรกิจกงสีเกิด แบรนด์ที่ 2 ในชื่อ  “ยู้ ลูกชิ้นปลา” (Yoo Fishball) ปัจจุบันมีถึง 8 สาขา อาทิ สาขาเกษตร สยาม เซ็นทรัลลาดพร้าว แพลตตินัม มาบุญครอง ไม่นับการขยายตลาดส่งออกลูกชิ้นปลา ไปในญี่ปุ่น มาเลเซีย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และบรูไน เป็นต้น

เรื่องราวการเติบโตของธุรกิจกงสีไม่หยุดเท่านี้ ทายาทรุ่น 3 ยังมองถึงการนำวัตถุดิบที่เหลือจากการทำลูกชิ้นปลา อย่างก้างปลาที่ยังติดเนื้อเล็กน้อย และหนังปลา มาแปรรูปให้ของเหลือเป็นศูนย์

“จากแค่คิดกำจัดของเหลือ โดยการทำเป็นสแน็คหนังปลา แต่เมื่อไปอ่านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ยังพบว่าหนังปลา และก้างปลาจากปลาทะเลน้ำลึก นอกจากจะเต็มไปด้วยคอลลาเจน ยังเป็นแคลเซียลที่ร่างกายดูดซึมได้ดี " เธอเล่า

จากผลการศึกษา จึงทำให้เกยูร พลิกจากการนำก้างปลาและหนังปลาไปทอด หันมาวิจัยและพัฒนาเป็น “อาหารเสริมจากปลา" มองไกลไปกว่าการทอดหนังปลาขายเป็นไหนๆ ขณะเดียวกันยังเป็นนวัตกรรมที่มีการต่อยอดในเชิงพาณิชย์น้อยมาก เรียกว่า มีเพียงไม่กี่รายในโลก 

เกยูร เล่าว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากก้างปลา  ภายใต้แบรนด์ UNC ตอบโจทย์ธุรกิจใน 3 ด้าน คือ 1.ธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน เพราะมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่แตกต่าง 2. แนวโน้มตลาดอาหารเสริม ที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 5% จากมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 2.6 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน และ 3. ตลาดผู้สูงอายุ (Aging Society) ที่เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 4.7% ของประชากรปี 2553  เพิ่มเป็น 14 ล้านคน หรือ 7.4% ในปี 2563

“งานวิจัยทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่วางขายอยู่ในท้องตลาดจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการแข่งขันทะเลเลือด (Red Ocean) แต่การมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมรองรับ ทำให้เรามีความแตกต่างและมีมูลค่า ชูขึ้นมาเป็นจุดขายทันที” ทายาทรุ่น 3 ธุรกิจลูกชิ้นปลา เล่าและว่า ปัจจุบันอาหารเสริมจากปลา ยังไม่หยุดไว้แค่ คอลลาเจน และแคลเซียม แต่กำลังต่อยอดไปสู่ธุรกิจอาหารบำรุงผิว บำรุงสมอง บำรุงผม เช่นเดียวกันกับ ร้านยู้ ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นไม่หยุดแค่เพียงลูกชิ้นระดับตำนาน แต่พัฒนานวัตกรรม เป็นลูกชิ้นที่คนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพต้องการ มีคุณสมบัติลูกชิ้นบำรุงสมอง และมีคอลลาเจน

ทายาทรุ่น 3 เล่าว่า สิ่งที่สำคัญที่ทำให้แบรนด์ไม่หยุดโต คือ ต้องไม่หยุดคิดสร้างความต่างด้วยพลังความหลงรักคุณค่าของธุรกิจที่เติบโตมา

 เช่นเดียวกันกรณีศึกษาการเติบโตของธุรกิจคอสเมติกส์ อย่าง ลอรีอัล กับเมย์เบอร์ลีน ซึ่งเป็นแบรนด์ลูกที่เด่นดังไม่แพ้แบรนด์แม่

“ความรักและนับถือธุรกิจที่เราเกิดมาพร้อมกันกับกะละมังลูกชิ้น นี่คือคุณค่าที่ต้องยึดไว้ ทำของดีมีคุณภาพไม่หวังกำไรสูง และไม่หยุดพัฒนา ต้องคิดตลอดเวลา ทุกเช้าเราตื่นขึ้นมาจึงเรื่องราวใหม่ๆให้คิดอยู่เสมอ”

โดยตอนนี้ มีเพียงสิ่งเดียวที่เธอกับพ่อยังตกลงกันไม่ลงตัว คือ การรุกสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งตัวเธอเข้าใจและเคารพการตัดสินใจของคนรุ่นพ่อ ที่ห่วงว่า แฟรนไชส์ที่ขยายมากจะทำให้แบรนด์เก่าแก่ระดับตำนานเสียหายหากควบคุมคุณภาพไม่ได้ จึงยังไม่รีบขายแฟรนไชส์ แม้จะมีนักธุรกิจจากมาเลเซียเคยมาขอซื้อหลัก 10 ล้านบาท แต่ก็ถูกปฏิเสธ

แม้ธุรกิจจะยังไม่มีแฟรนไชส์แต่ก็ยังเติบโตทุกปี และมีโปรดักส์ใหม่ๆจากการคิดค้นผลิตภัณฑจากปลาเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะมีพื้นฐานเป็นคนชอบศึกษาและวิจัย 

เธอหวังว่า เธอจะเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่พาธุรกิจกงสี ที่เธอสร้างแบรนด์ลูกเข้าตลาดหลักทรัพย์ ภายใน 5 ปีจากนี้ไป