'ธ.ก.ส.'เปิดตัวธุรกรรมบนมือถือ

'ธ.ก.ส.'เปิดตัวธุรกรรมบนมือถือ

ธ.ก.ส. เปิดตัว "A-Mobile และ QR Code" ยกระดับสู่เกษตรกร 4.0 ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธ.ก.ส.)เปิดเผยยว่า วานนี้(5 ม.ค.)ที่บ้านดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ธ.ก.ส.ได้เปิดตัวบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่บนแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Mobile​ ที่เปลี่ยนการทำธุรกรรมทางการเงินให้เป็นเรื่องง่าย สะดวกและปลอดภัย สร้างความมั่นใจในการใช้บริการ ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในยุคดิจิทัล และเปิดตัวการให้บริการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน QR Code เพิ่มช่องทางการให้บริการของธนาคารรองรับความต้องการของลูกค้า เพื่อเปลี่ยนระบบธุรกรรมเงินสด (Cash society) ไปสู่ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic society) ที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)

เขากล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Mobile สำหรับให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่บนสมาร์ทโฟน เพื่อตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตของกลุ่มเกษตรกรลูกค้ารุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินจากรูปแบบเดิมที่หน้าเคาน์เตอร์บริการของ สาขาสู่การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ผ่านสมาร์ทโฟน ตามแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งพัฒนาการให้บริการทางการเงิน ครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยหยุดนิ่งซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคเกษตรสู่ความยั่งยืนและทันสมัย

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับ ธ.ก.ส.เข้าร่วมทดสอบโครงการ QR Payment ภายใต้กรอบ Regulatory Sandbox ในการให้บริการ QR Code ระบบ Promptpay ตามมาตรฐานที่ ธปท.กำหนดเพื่อรองรับการชำระค่าสินค้าและบริการของผู้ให้บริการรายอื่น โดยกลุ่มที่ให้บริการในโครงการ อาทิ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (SMAEs) ร้านค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชนและชุมชนท่องเที่ยว เมื่อผลการทดสอบผ่านตัวชี้วัดความสำเร็จแล้ว ธ.ก.ส.จะนำ QR Code ออกให้บริการโดยทั่วไป เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการชำระเงินที่สะดวก รวดเร็ว ลดการใช้เงินสด อย่างเต็มรูปแบบต่อไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีบัญชี 2558 จนถึงปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้จัดโครงการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ผ่านผู้นำกลุ่มเกษตรกร ผู้นำชุมชนและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ธ.ก.ส. โดยถ่ายทอดความรู้ทางการเงินและบัญชีครัวเรือน ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ รวมถึงการรู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ที่มากับเทคโนโลยี และนำไปถ่ายทอดต่อให้กับสมาชิก เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ทั้งด้านบริการทางการเงินและระบบบัญชีอย่างเหมาะสม ซึ่งการขยายโครงการในระยะที่ 2 จะเน้นการให้ความรู้ทางด้านการเงินและเทคโนโลยี (Financial & Digital Literacy) แก่เกษตรกรให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยอันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและมุ่งสู่เป้าหมายภาคการเกษตร 4.0

"ธ.ก.ส. มุ่งมั่น พัฒนา บริการทางการเงิน เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรลูกค้าให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดนิ่ง โดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ยกระดับเป็นผู้ประกอบการเกษตร หรือ SMAEs ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงช่องทางการตลาดออนไลน์ ที่ช่วยยกระดับราคาสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต การตลาดและการบริหารจัดการ จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรได้หลายเท่า และยังสร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน คืนความสุขและสร้างมั่งคั่ง มั่นคงให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน" นายอภิรมย์กล่าว