‘สุวิทย์ เมษินทรีย์’ ภารกิจขับเคลื่อน วทน.

‘สุวิทย์ เมษินทรีย์’  ภารกิจขับเคลื่อน วทน.

ก้าวเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ของ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ใช้เวลา 1 เดือนเดินสายทำความรู้จักหน่วยงานในสังกัด

ได้ปรับมุมมองการทำงานจากเดิมที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาลในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูงานเชิงกว้าง ก็ต้องปรับให้เป็นการทำงานที่ต้องดูเชิงลึก โดยนำกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ทำงานให้ได้และเกิดผลเป็นรูปธรรมที่สุด

“Thailand 4.0 in Action” หรือการทำให้ไทยแลนด์ 4.0 เกิดผลสัมฤทธิ์เชิงปฏิบัติ เป็นโจทย์หลักที่ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้รับมอบจากรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเพิ่มความท้าทายเป็นระยะเวลาในการทำงานเพียง 1 ปี

ถึงเวลา “ยกเครื่อง” สวทช

“ช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาได้ไปเยี่ยมชมหน่วยงานในสังกัดของ วท. มากว่า 50% ก็เริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ในปี 2561 วางทิศทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไว้ 4 เรื่องเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นการจัดหางบประมาณพิเศษ เพราะมีการกำหนดงบประมาณสำหรับแผนงานเดิมของปี 2561 ไว้หมดแล้ว” สุวิทย์ กล่าว

4 เรื่องเร่งด่วน ได้แก่ วิทยาศาสตร์เพื่อเยาวชนและอนาคต ที่เน้นการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ผ่าน วทน. และปรับทัศนคติเพื่อเป็นคนไทย 4.0 รับไทยแลนด์ 4.0, วิทยาศาสตร์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ที่พร้อมช่วยทุกกลุ่มทั้งเกษตรกร โอทอป เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ รวมถึงรายใหญ่และบริษัทข้ามชาติ, วิทยาศาสตร์ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ 6 ภาค และเทคโนโลยีฟรอนเทียร์ ไม่ว่าจะเป็น สมุนไพร ดาวเทียม อุตฯป้องกันประเทศ ฯลฯ

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นและเห็นได้ชัดในปี 2561 จะเป็นการปฏิรูป สวทช. หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานใหญ่มีบุคลากรกว่า 3 พันคน และรูปแบบการทำงานยังไม่ยืดหยุ่น จึงจำป็นต้องมีการปฏิรูปให้การทำงานยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพใน 5 เรื่องหลัก

ข้อจำกัดแรกที่มีคือ จำนวนคนที่ตามระเบียบต้องมีคนไม่เกิน 30% ของงบประมาณ ปัจจุบันได้ดำเนินการปลดล็อคแล้ว ในขณะเดียวกันก็ต้องเสริมด้วยกลไกการดึงคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาทำงานหรือร่วมงานกับ สวทช. เช่นเดียวกับโมเดลของสิงคโปร์ ตามมาด้วยข้อจำกัดเรื่องการลงทุน ที่ สวทช. หรือหน่วยงานในสังกัดไม่สามารถลงทุนได้เกิน 49% ทำให้ไม่สามารถสร้างผลกระทบเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่

“ในส่วนนี้ เราอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ พ.ร.บ. ที่จะไปเกี่ยวกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานและต้องปลดล็อคในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาที่ต้องยืดหยุ่นและสะท้อนความเป็นจริง”

อีกเรื่องที่ต้องเร่งทำคือ กฎหมายที่เอื้อให้ผู้วิจัยได้ผลประโยชน์จากการนำงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น แทนที่จะเป็นของผู้ว่าจ้างวิจัยเป็นหลัก รวมถึงกลไกการผลักดันนักวิจัยหัวกะทิสู่สตาร์ทอัพนวัตกรรม ซึ่งหากไปได้ดี ก็จะสามารถสร้างรายได้กลับมาที่องค์กร แต่หากไม่สำเร็จก็จำเป็นต้องมีกลไกหรือมาตรการที่จะดึงคนเหล่านั้นกลับมาทำวิจัยและพัฒนาอีกครั้ง

เคาะงบธนาคารชีวภัณฑ์ 1 พันล้าน

สุวิทย์ กล่าวว่า หากสามารถทำได้ตามที่วางไว้ อนาคตอาจเห็นบริษัทลูกของ สวทช. หรือสตาร์ทอัพนวัตกรรมที่ทำให้นักวิจัยหรือเยาวชนได้เห็นว่า วงการนี้ไม่ได้ทำเพื่อตีพิมพ์ผลงานเพียงอย่างเดียว แต่สามารถสร้างรายได้ สร้างธุรกิจได้เช่นกัน

นอกจากการปฏิรูป สวทช. ที่จะเกิดขึ้น ยังจะมีเมกะโปรเจคในเรื่องธนาคารชีวภัณฑ์แห่งชาติ (National Bio Bank) ที่จะเป็นการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นสินทรัพย์ของไทยทั้งจุลินทรีย์ ดีเอ็นเอ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูล (บิ๊กดาต้า) ซึ่ง สวทช. เคาะงบมาที่ราว 1 พันล้าน และอยู่ระหว่างทำข้อเสนอโครงการ โดยจะใช้งบจำนวนหนึ่งจากงบประมาณคงค้างราว 8 พันล้านที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้สำหรับธนาคารชีวภัณฑ์แห่งชาตินี้

นอกจาก สวทช. ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่แล้ว หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็เป็นโจทย์ที่ รมว.สุวิทย์ ต้องขับเคลื่อนเพื่อให้ วทน. พาไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ขณะที่ระยะเวลาทำงานเพียง 1 ปีทำให้ต้องทำงานแข่งกับเวลา สร้างผลลัพธ์ที่เกิดเป็นรูปธรรมทั้งระยะสั้น เตรียมการสำหรับโครงการระยะกลางและยาว