‘รู้ทัน’ ชีวิตเมือง 2018

‘รู้ทัน’ ชีวิตเมือง 2018

เท่าทันความเป็นไปของชีวิตในเมืองใหญ่ เพื่อไลฟ์สไตล์ที่เลือกได้ในปี 2018

ถ้าคุณอยากหาความท้าทายในชีวิตการงาน ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าคุณต้องพาตัวเองเข้าหาเมืองใหญ่ ไม่เชื่อลองเข้าเว็บสมัครงานยอดนิยมแล้วคลิ๊กเลือกโลเคชั่น “กรุงเทพมหานคร” คุณจะพบผลการสืบค้นราวๆ 18,300 ตำแหน่งงาน ต่างจากจังหวัดอื่นๆ ที่ผลรวมของมันมักอยู่ราวๆ แค่หลักร้อยจนถึงหลักพันกว่าๆ

ส่วนถ้าคุณเป็นวัยเรียนที่ต้องการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ มันก็อาจจะมีทางเลือกอยู่บ้าง... ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ Times Higher Education (THE) สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก รายงานอันดับมหาวิทยาลัยที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดประจำปี 2016-2017 ว่า 10 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศไทย อยู่ในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ 4 จังหวัด นั่นคือ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา นอกนั้นสถาบันกว่าครึ่งที่ติดโผยังกระจุกในเมืองหลวงและปริมณฑล

เมืองใหญ่มีทั้งสีสันและความหวัง แต่ในขณะเดียวกัน เมืองที่คับคั่งไปด้วยผู้คน หนาแน่นไปด้วยอาคารบ้านเรือน และความซับซ้อนทางความรู้สึก ก็นำมาซึ่งสาเหตุของโรคร้าย อย่าง โรคภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ ความดัน เบาหวาน โรคซึมเศร้า ฯลฯ

ไลฟ์สไตล์เป็นเรื่องส่วนบุคคลก็จริง แต่ทั้งหมดล้วนมีปัจจัยจากสิ่งรอบๆตัว และจากนี้ไปคือแนวโน้มของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ในปี 2018 ที่คุณต้องรู้เท่าทัน เพื่อรับมันด้วยความสตรอง

Modern Syndrome โรคคนเมืองสมัยใหม่

คำคำนี้ไม่ได้มีในตำราแพทย์ แต่เป็นคำเรียกรวมๆ ของกลุ่มโรคหลายอย่างที่พบเยอะขึ้นในระยะหลังที่กายภาพของเมืองเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อผู้คนกระจุกในเมือง ระยะห่างระหว่างคนต่อคนหดเล็กลง นั่นก็ทำให้การแพร่ระบาดของโรคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไหนจะเมืองสกปรก ถนนแคบ คนทิ้งขยะไม่เป็นที่ แสงสว่างไม่พอ รางระบายน้ำเปิดทิ้งไว้ ฯลฯ ลักษณะเช่นนี้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและความเจ็บป่วยแทบทั้งสิ้น

โรคยอดนิยมของคนเมืองสมัยใหม่คือเรื่องอ้วน ซึ่งมาพร้อมแพคเกจในกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการใช้ชีวิต พฤติกรรมการกินอยู่หลับนอน อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ฯลฯ ซึ่งคนเป็นกันเยอะขึ้น ซ้ำยังพบในเด็กอายุน้อยลงเรื่อยๆ โรคเหล่านี้เชื่อมโยงกับอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน

ส่วนอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนที่แยกคนเมืองออกจากกัน สร้างโลกเสมือนที่กว้างใหญ่เทียบเท่าโลกความเป็นจริงนั้น หากองศาการก้มมองไม่ถูกสัดส่วน นั่นจะทำให้ข้องเกี่ยวกับกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ คอ ยิ่งมองหน้าจอมากไปตาก็ยิ่งแห้ง แถมถ้าเสพเรื่องราวในโลกเสมือนจริงมากไป นั่นก็มีผลทางด้านจิตใจ เป็นโรควิตกกังวลกลัวว่าจะตกเทรนด์ ใช้ชีวิตไม่เป็นปกติสุข เกิดความเหงาไปพร้อมๆ กับอีกหลายคนที่กำลังจดจ่อกับหน้าจอโทรศัพท์

อ้วน-จน-โสด

แทนศร พรปัญญาภัทร และ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ซึ่งศึกษาความเป็นไปของเมืองในมิติต่างๆ ให้ข้อมูลว่า คนกรุงเทพฯ เสี่ยงที่จะ “อ้วน” เพราะพฤติกรรมในแต่ละวันถูกออกแบบไม่ให้เคลื่อนไหวมากนัก การจราจรที่ติดขัด จำกัดชีวิตให้ผู้คนสัญจรเพียงจากบ้าน-สำนักงาน ต้องพึงพาอาหารแผงลอยที่ส่วนใหญ่ หวาน-มัน-เค็ม ซึ่งไม่ได้เอื้อผลดีต่อสุขภาพมากนัก

“การที่คนเมืองต้องเผื่อเวลาในการตื่นเพื่อการเดินทางทั้งตอนเช้าและตอนเย็น คิดเป็นมูลค่าค่าใช้จ่ายประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ทำให้คนเมืองไม่มีเวลาที่จะใส่ใจและดูแลตัวเองอย่างจริงจัง จะทำอาหารทานเองก็เป็นสิ่งที่ต้องลงทุนทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย หากคุณต้องการทางเลือกที่ดีกว่าเก่า นั่นหมายความว่าคุณต้อง “จ่ายเพิ่ม” เพราะไหนจะอาหารคลีนซึ่งราคาแพงกว่าอาหารปกติ ต้องจ่ายเงินให้คลินิคลดความอ้วน ต้องใช้บริการคลินิครักษาสิว นั้นหมายความว่าคนเมืองนี้ถ้าอยากให้ตัวเองดูดี คุณต้องมีเงินจ่าย”

ส่วนกรณี “ความโสด” แทนศร อธิบายเชื่อมโยงกับเรื่องพื้นที่ในเมืองฯ ว่า เป็นเพราะกรุงเทพฯไม่มีพื้นที่สาธารณะ ให้ประชากรได้ทำกิจกรรมหรือมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เมื่อชายและหญิงอยู่แต่เพียงในบ้านและที่ทำงาน ขับรถคนเดียว 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ขนส่งสาธารณะก็แออัดเกินกว่าจะเกิดความโรแมนติก เมืองอย่างกรุงเทพฯ จึงมีปัจจัยให้ผู้อยู่อาศัยสุ่มเสี่ยงต่อความเป็นโสดเอาได้ง่ายๆ

เทรนด์ใหม่เมือง 2018

ถึงตรงนี้ก็อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะความเป็นเมืองก็ช่วยผลักดันให้เกิดเทรนด์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เช่นเดียวกับปี 2018 ที่เพิ่งเริ่มขึ้น รวมถึงอนาคตอันสั้นที่จะเกิดขึ้นในลำดับต่อไปนี้

โครงการศึกษา “กรุงเทพ 250” ซึ่งศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองทำร่วมกับสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ในวาระครบรอบ 250 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ.2575 หรือ ค.ศ.2032 เคยสรุปผลการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนถึงการพัฒนา เป็นแนวโน้มการใช้ชีวิตของคุณกรุงได้ในหลายด้าน อาทิ ด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิต ด้านพลังงาน ด้านการสื่อสารและการทำงาน

ตัวอย่างเทรนด์พฤติกรรมการใช้ชีวิต แน่ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคือปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบใหม่ เกิดการดำเนินชีวิตตามรายได้ รสนิยม และอุดมคติ ผู้คนมุ่งสู่การแสวงหาและพัฒนาพื้นที่เฉพาะของตัวตน มีความเป็นปัจเจกสูงขึ้น เกิดการหลอมรวมของกลุ่มคนในสังคมพหุวัฒนธรรม (Multi-culture) เกิดนวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมแนวใหม่ อาทิ Online dating, การบริการสร้างสังคมสมมติ, การบริการรณรงค์การมีบุตรหลอดแก้วสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน การให้บริการขนส่งมวลชน การบริการผ่านการใช้สมาร์ทโฟน

เทรนด์พลังงาน ก็จะเน้นการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Diversified environmental-friendly energy sources) นั่นเพราะสังคมตื่นตัวในการเป็นสังคมปลอดมลพิษ ลดการใช้พลังงานฟอสซิลด้วยพลังงานทางเลือก เครื่องยนต์ที่รองรับพลังงานสะอาด พลังงานไฟฟ้าจะได้รับความนิยมและลดการเก็บภาษี

ส่วนเทรนด์การสื่อสารนั้นเชื่อมต่อกับการทำงาน เพราะเมื่อช่องทางสื่อสารหลักคือออนไลน์ การสื่อสารระหว่างกันจึงยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกรอบเวลา การสื่อสารของผู้คนกับต่างประเทศจึงมีมากขึ้น แรงงานไทยร่วมในบริษัทต่างชาติมากขึ้น เช่นเดียวกับการทำงานที่ไม่ยึดติดกับสถานที่ องค์กร และเมื่อพื้นฐานของต้นทุนซึ่งเคยเป็นข้อจำกัดในการริเริ่มธุรกิจน้อยลง นั่นจะผลักดันให้การเติบโตทางธุรกิจไม่จำกัดเพียงแค่องค์กรใหญ่ๆ แต่จะเกิดผู้ประกอบรุ่นใหม่ (New entrepreneur) วิถีการทำงานรูปแบบใหม่ เช่น Co-working space หรือ Sharing office กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่เมือง เกิดองค์กรที่ยืดหยุ่น ขนาดเล็ก คุณภาพสูง และมีประสิทธิภาพ

“มันอาจจะฟันธงไม่ได้ว่าวิถีชีวิตที่จะเกิดขึ้นในปี 2018 หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน1-2 ปีนี้จะเป็นอะไรบ้าง แต่ทั้งหมดที่ว่ามาคือเทรนด์ที่ต้องเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วโลกเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ และเทรนด์ในแต่ละด้านก็จะเชื่อมโยงกัน เช่น เมื่อคุณภาพอาหารในท้องตลาดไม่ตอบสนองความต้องการของประชากรเมือง พวกเขาก็จะเริ่มมองถึงการทำเกษตรปลอดสารพิษในเขตเมืองอย่างที่เราเริ่มเห็นแล้ว หรืออาจจะหาทางเชื่อมต่อไปยังเกษตรกรปลูกผักปลอดสารพิษในจังหวัดใกล้ๆ โดยไม่ต้องผ่านคนกลางที่มีผลต่อส่วนต่างราคา”

'ข้อมูล' เพื่อเมืองที่ยืดหยุ่น

ถึงตรงนี้ กรุงเทพฯในปี 2018 จึงมีทั้งปัญหาและโอกาสที่เราต้องรู้ทัน ซึ่งโอกาสที่ว่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากกรุงเทพฯยังไม่เป็นเมืองที่ยืดหยุ่น

เมืองที่ยืดหยุ่นในที่นี้ หมายความถึงการเป็นเมืองที่พร้อมรองรับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งจากสภาพดินฟ้าอากาศ ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ

“ลองนึกถึงว่าจันทร์-ศุกร์เราใช้ชีวิตกันตามปกติ แต่จู่ๆ คืนวันศุกร์ก็เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง จนน้ำท่วมและการจราจรในบางพื้นที่ไม่สามารถใช้การได้ หรือในช่วงใกล้ปีใหม่ฝนก็ไม่น่าจะตกทั้งวันขนาดนี้ เมืองที่ยืดหยุ่นคือเมืองที่มีระบบให้คนใช้ชีวิตต่อไปได้แม้จะเกิดเรื่องผิดปกติ และที่พอจะทำได้ในขณะนี้คือเราต้องทำให้เมืองที่พร้อมรับสถานการณ์ไม่คาดฝันด้วยการมีข้อมูลสาธารณะ”

ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง บอกว่า ประเด็นนี้ต้องยอมรับก่อนว่า ผังเมืองของกรุงเทพฯปัจจุบัน ไม่ได้รองรับจำนวนประชากรมากมายอย่างที่เป็นอยู่ (ประชากรตามทะเบียนราษฎรและประชากรแฝง) สิ่งที่สามารถทำได้และควรทำอย่างเร่งด่วน คือการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะหรือ Open Data ที่นำความรวดเร็วของเทคโนโลยี บวกกับความร่วมมือของประชาชนมาสร้างช่องทางในการแจ้งปัญหา

จากการศึกษายกตัวอย่างได้เช่นกรณี Fix My Street แพลตฟอร์มของประเทศอังกฤษที่จัดทำโดยวิสาหกิจเพื่อสังคม mySociety โดยมีจุดประสงค์เป็นช่องทางกลางให้ประชาชนสามารถเข้าไปปักหมุดแจ้งปัญหา รายงาน หรือพูดคุยเกี่ยวกับถนนและทางเดินเท้าทั่วทั้งประเทศ ซึ่งปัญหาต่างๆ จะส่งไปยังผู้รับผิดชอบโดยตรง หรือโปรเจกต์ The Clean Streets L.A. แพลตฟอร์มในสหรัฐ ที่จะให้ประชาชนเข้าไปแจ้งความสะอาดของถนนในรัฐแคลิฟอร์เนีย

นี่คือหนึ่งในการสร้างระบบ Crowdsourcing หรือสร้างการมีส่วนร่วมผ่านการรายงานของประชาชน เพื่อนำข้อมูล (ปัญหาที่พบเจอ) มาเปิดเผยต่อสาธารณะ นำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ตรงจุด และครบวงจร โดยผลประโยชน์ที่ได้ไม่เพียงช่วยให้รัฐทราบถึงปัญหา แต่คนทั่วไปก็ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเพื่อนำมาวางแผนการดำเนินชีวิตประจำวันได้อีกต่อหนึ่ง

“ทุกวันนี้เราก็มักจะแจ้งปัญหาผ่านเฟซบุ๊ค ซึ่งมันมีลักษณะความไม่แน่นอนอยู่ คือไม่รู้ว่าผู้เกี่ยวข้องเขาจะเปิดเจอหรือไม่ หรือสายด่วนเรื่องราวร้องทุกข์ก็จะเป็นข้อมูลที่รู้กันระหว่างผู้โทรกับผู้รับสายเท่านั้น แต่ถ้าเรามีแพลตฟอร์มส่วนกลางที่ทำให้ทุกคนแชร์ข้อมูลได้ เราทุกคนก็จะรู้ว่าระหว่างนี้ที่ตรงไหนเกิดอะไรขึ้นบ้าง และควรทำอย่างไรเพื่อจะวางแผนหลบเลี่ยงได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐก็จะรู้ข้อมูลได้ทันเวลา เช่น หากซอยนี้มีประชาชนแจ้งเหตุว่าเกิดปัญหาอาชญากรรมบ่อยในสัปดาห์นี้ เจ้าหน้าที่ก็จะจัดกำลังให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา”

ปี2018 จังหวะชีวิตในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ กำลังเดินหน้าอย่างรีบเร่ง

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่เราต้องรู้ไว้ เพื่อ “เท่าทัน” ที่จะอยู่กับมัน