SID จุดสตาร์ทนวัตกรรมกลางเมือง

SID จุดสตาร์ทนวัตกรรมกลางเมือง

ความเคลื่อนไหวด้านกิจกรรมพัฒนา “คน” และ “นวัตกรรม” ย่านกลางเมืองกรุงเทพฯ เริ่มต้นในปีที่ผ่านมา

เป้าหมายต้องการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในรั้วจุฬาฯ แม้จะเป็นเรื่องดีของการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ แต่ก็ยังจำกัดเฉพาะนิสิต อาจารย์ และบรรดาศิษย์เก่า

ในครั้งนี้การทำงานด้านนวัตกรรมและพัฒนาคนทำในแบบเปิดกว้างมากขึ้นในชื่อ เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation DistrictหรือSID) ด้วยทุนตั้งต้นจากรัฐบาล 232.5 ล้านบาท

“อยากให้ SID เป็นโอเพ่น แพลตฟอร์ม เสมือนเป็นหน้าต่างเปิดกว้างรับคนที่คิดดีและต้องการทำสิ่งดีๆ ออกสู่สังคม กับคนที่ต้องการสนับสนุนให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้มาเจอกัน

และไม่จำกัดเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่หมายรวมถึง นวัตกรรมที่พัฒนาโดยคนไทย และนวัตกรรมที่คนไทยร่วมมือกับต่างประเทศช่วยกันพัฒนาขึ้นมา” ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

SID ประกอบด้วยพันธกิจ 4 ข้อหลักได้แก่ หนึ่ง Industry Liaison การเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม

วันนี้มีสามหน่วยงานเข้าร่วมสนับสนุน ได้แก่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้านครหลวง โดย อธิการบดีจุฬาฯ คาดหวังว่าจะมีหน่วยงานหลายภาคส่วนเข้าร่วมมากขึ้นในอนาคต

SID จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นสามารถตอบโจทย์ความต่องการของอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างแท้จริง

การทำงานจะมีในส่วนชอง การจัดการสิทธิเทคโนโลยี การสร้างงานวิจัยที่สนับสนุนโดยภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงการความร่วมกับภาคธุรกิจ และการนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์

สอง ตลาดนัดนวัตกรรม (Marketplace) การสร้างพื้นที่สำหรับการนำเสนอชิ้นงานนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดไอเดีย และการหยิบไปต่อยอดทางธุรกิจ

การทำงานในส่วนนี้มีทั้งการลงทุนและการสร้างหุ้นส่วนในนวัตกรรม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการจับคู่สำหรับคนที่มีไอเดีย คนที่มีประสบการณ์ และเงินทุน

สาม Futurium ชุมชนนวัตกรรมแห่งอนาคต ผู้บริหารจากจุฬาฯ เชื่อว่า การได้เห็น การได้สัมผัสกับโลกอนาคตจะกระตุ้นให้คนได้ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์

สิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้พันธกิจนี้ ประกอบด้วย การสร้างเมืองอัจฉริยะต้นแบบ การสร้างนิทรรศการแสดงนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

สี่ Talent Building การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การทำงานในส่วนนี้ได้แก่ โครงการส่งเสริมนวัตกรรมแห่งสยาม 100 SID ที่จะผลักดันให้เกิดนวัตกรรุ่นใหม่ได้จัดแสดงผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้ การสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ และยังเป็นโครงการต้นแบบในการนำนวัตกรรมไปต่อยอดการใช้งาน 

นอกจากนี้ ยังได้มีการเปิดรับผลงานนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจเกิดใหม่ และสนับสนุนการเร่งโตของธุรกิจเกิดใหม่ โดยมีเงินสนับสนุนในส่วนนี้กว่า 100 ล้านบาท

ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า บทบาทของการเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นสอน การนำองค์ความรู้ และงานวิจัยไปช่วยสังคมอย่างที่เคยทำในอดีตคงไม่ทันการณ์ท่ามกลางโลกที่หมุนเร็วอย่างในปัจจุบัน สิ่งที่ จุฬาฯ ทำคือการเชื่อมโยงกับภาคีต่างๆ ภายนอกทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมกับเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้น

ซึ่ง SID เป็นกลไกที่สำคัญนับจากวันนี้

“วันนี้เราได้เห็นความคิดเยอะมาก แต่คิดอย่างเดียวไม่ได้ จะช้าเกินไป โลกวันนี้ถ้าเชื่องช้าก็ถือว่าเสียโอกาสไปเยอะ"

พื้นที่แห่งนี้จะทำให้เกิดการรวมตัวของคนที่หลากหลาย มาร่วมกันพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อาจล้มเหลวได้ เจ๊งได้ แต่ประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ใหญ่กว่าได้

จุฬาฯ เป็นเพียงหนึ่งในสี่องค์กรที่ร่วมกันผนึกกำลังสร้าง เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation DistrictหรือSID) ยังมีอีก 3 องค์กรธุรกิจที่มองว่า การขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นนี้จะสร้างอิมแพ็คให้กับสังคมและประเทศได้

เปิดมุมมองภาคอุตสาหกรรมต่อ “การพัฒนาคนและนวัตกรรม ผ่านเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม”

“ปัญหาใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งควรค่าแก่การลงมือทำ มองว่า ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างแรงกระเพื่อมด้านนวัตกรรมให้เกิดขึ้น” เอกพล ณ สงขลา  รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มทรัพยากรบุคคล (Chief People Officer)บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ดูแลงานด้านทรัพยากรบุคคล กล่าว

คาดหวังว่าพื้นที่แห่งนี้จะเกิดการเชื่อมโยงของคนรุ่นใหม่ การตลาด และภาคเอกชน เกิดเป็นพลังนวัตกรรมที่จะสร้างคุณค่าให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน

สำหรับ ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นวัตกรรมจะไม่มีความหมายเลยหากไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์

ที่ต้องการเห็นจากโครงการนี้คือ สปิริต เกิดขึ้นจากการร่วมกันคิด ร่วมกันทำงาน โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ประเทศไทยเป็นหลัก

“อยากเห็นเยาวชนที่มีจุดประสงค์เดียวกันมาร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ๆ และได้เห็นองค์กรธุรกิจร่วมกันขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น”

ขณะที่ ชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่าภาพรวมขององค์กรเน้นการนำเอาวิศวกรรมในการพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในเมืองหลวง

“เด็กรุ่นใหม่ยุคนี้  เก่งๆ กันเยอะมาก แต่ไม่มีเวที หรือคนที่ให้การสนับสนุนเพื่อให้สิ่งที่คิดไว้นั้นสามารถขยายผลออกไปในเชิงพาณิชย์ได้”

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ผู้อำนวยการโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม(Siam Innovation District หรือ SID) กล่าวว่า จุฬาฯ ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนา หรือขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมเพื่ออนาคตของประเทศ และเอสเอ็มอีด้วยนวัตกรรม

ที่ผ่านมาได้มีการจัดงาน SID Innodating"นักคิด คู่นักปฏิบัติ ร่วมพัฒนานวัตกรรมไทย” ขึ้น ซึ่งถือเป็นมหกรรมจับคู่ครั้งใหญ่ระหว่างนักคิดที่มี Idea กับนักปฏิบัติฉบับ Ido มาเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง และนำไปสู่ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนานวัตกรรมไทยให้ก้าวหน้าและมีความยั่งยืนในระยะยาว

วันนี้ความร่วมมือได้เริ่มต้นแล้วในการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้นย่านใจกลางเมือง จากนี้ SID เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มีนาคม 2561