จับตาโรดแมพ-ปลดล็อก ทิศทางการเมืองปี 2561

จับตาโรดแมพ-ปลดล็อก ทิศทางการเมืองปี 2561

เจาะประเด็นร้อน!! จับตาโรดแมพ-ปลดล็อก ทิศทางการเมืองปี 2561

เปิดศักราชปี 2561 ทิศทางการเมืองถูกพุ่งเป้าไปที่หลายประเด็นสำคัญโดยเฉพาะ “โรดแมพ” เลือกตั้ง หากเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ระบุการเลือกตั้งจะมีขึ้นช่วงเดือนพ.ย.2561

แต่ทว่า จากเงื่อนไขต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการ “ปลดล็อก” พรรคการเมืองในขณะนี้ที่แบ่งเป็น 4 ช่วงได้แก่ 1.ตั้งแต่ออกคำสั่งฉบับนี้จนถึงวันที่ 1มี.ค. 2561 2. ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2561 จนถึงวันที่ 1 เม.ย.2561 3. ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2561 จะเป็นการปลดล็อกใหญ่ และ 4.การปลดล็อกด้วยการยกเลิกคำสั่งและประกาศคสช.เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง

ดูเหมือนว่า จะทำให้พรรคการเมืองเป็นกังวลว่า กรอบเวลาและเงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้โรดแมพเลือกตั้งที่วางไว้ต้องเลื่อนออกไปหรือไม่

ความเห็นเกี่ยวกับทิศทางการเมืองในปี 2561ในมุมของ อนุวัศ สาคริก อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) มองว่า น่าจะทวีความเข้มข้นและแรงกดดันต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยหากมอง ตามช่วงเวลาของการปลดล็อกคือ ในไตรมาสแรกของปี 2561 คาดว่าน่าจะมีเพียงปฏิกิริยาที่ต่อเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน จากนั้นการเมืองจะเริ่มมีความเข้มข้นขึ้นในไตรมาสที่ 2 จากโฉมหน้าของพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่

หลังวันที่ 1 เม.ย.2561 การที่พรรคการเมืองเก่าสามารถออกมาทำกิจกรรมของพรรค ทำให้เรามองเห็นความชัดเจนในความเป็นไปที่แท้จริงของพรรคการเมืองต่างๆ แม้ว่า ณ เวลาปัจจุบัน จะมีเสียงบ่นกันมากจากนักการเมือง โดยเฉพาะจากพรรคขนาดใหญ่ หรือพรรคเก่า ที่มองว่า อยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ เราต้องติดตามว่า ในไตรมาสที่ 2 เมื่อมีการปลดล็อกการเมืองเกิดขึ้นจริงแล้ว ปฏิกิริยายังจะออกมามากน้อยเพียงใด

ส่วนที่จะเข้มข้นมากๆ น่าจะอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 3 คาดเราคงจะได้เห็นวงจรการเมืองไทยทั้งการหาสังกัดพรรคของนักการเมือง การย้ายพรรค การดึงตัว การซื้อตัวนักการเมือง มักจะเกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง สุดท้าย เมื่อเข้าสู่ปลายไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 4 แรงกดดันจะถูกโฟกัสไปที่เรื่องการจัดให้มีการเลือกตั้ง

ทั้งนี้การเมืองไทยยังมีแรงกดดันที่ต่อเนื่องซ้ำเติมรัฐบาลจากประเด็นการปฏิรูปประเทศ เนื่องจาก รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินมาแล้ว 3 ปี ตั้งแต่ปี2557 พล.อ.ประยุทธ์ เคยประกาศต่อสาธารณะอย่างชัดเจนถึงเป้าหมายต่างๆ ฉะนั้นโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ที่เหลืออีก 1 ปี แรงกดดันจากสังคมจะเกิดขึ้น

อีกทั้งประเด็นทางเศรษฐกิจจะเป็นอีกส่วนที่สร้างแรงกดดันต่อรัฐบาล แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะดูดีแต่การสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากหลายสำนัก ผลออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า ความต้องการของประชาชนอันดับหนึ่ง ยังคงเป็นปัญหาเศรษฐกิจ

ส่วนการใช้อำนาจมาตรา 44 ในการปลดล็อกกิจกรรมพรรคการเมือง ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศถือว่าการเมืองไทยเข้าสู่ความเป็นรัฎฐาธิปัตย์ จึงมีสิทธิใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด หลายครั้งที่รัฐบาลใช้อำนาจพิเศษนี้ ความอ่อนไหวมักจะอยู่ที่ระยะเวลา หรือช่วงเวลาของการใช้อำนาจนั้นผิดจังหวะอยู่เป็นประจำ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การใช้อำนาจพิเศษ แต่อยู่ที่ว่าในยามที่รัฐบาลเลือกที่จะใช้อำนาจพิเศษกลับทำให้ประชาชนสับสน

ส่วนอำนาจที่ใช้เพื่อการปลดล็อก ซึ่งถูกระบุถึงความได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง ก็เป็นมุมมองที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิจารณ์กันได้ จากการใช้อำนาจไม่ถูกจังหวะแม้ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะออกมายืนยันถึงความยุติธรรมแล้วก็ตาม แต่ความรู้สึกของคนที่ได้รับผลกระทบถือเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้

ส่วนตัวมองว่าจะมีความได้เปรียบอยู่บ้างจากการแบ่งช่วงเวลา พรรคใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการต้องตรวจสอบสมาชิกจำนวนมาก ต้องยอมรับว่าการเก็บข้อมูลไม่ว่าของพรรคของระบบราชการ โดยเฉพาะฐานข้อมูลสมาชิกพรรคที่ยังเป็นคำถามอยู่ว่า ความรับผิดชอบจะอยู่ที่พรรคการเมือง หรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งประเด็นก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ หากไม่ชัดเจน ก็เป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมืองจะมีเสียงบ่นออกมา

จากความได้เปรียบ-เสียเปรียบที่เกิดขึ้น ยังสะท้อนว่า ทุกคนพุ่งเป้าไปที่การเอาชนะการเลือกตั้งด้วย

สามารถ แก้วมีชัย ทีมกฎหมายในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย มองว่า การเมืองไทยปี 2561 ประการแรกจะมีความสับสนวุ่นวายจากการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ออกมาใช้บังคับและที่มีคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้สร้างปัญหา ความสับสนให้กับพรรคการเมืองที่มีสมาชิกจำนวนมาก หลังให้เวลาเพียง 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2561 ให้สมาชิกพรรคแสดงความจำนงเพื่อยืนยันการเป็นสมาชิก พร้อมหลักฐาน
แม้จะมีการยืดระยะเวลาให้อีก 30 วัน แต่ไม่สำคัญเท่ากับกระบวนการเสมือนว่า ต้องการให้สมาชิกจำนวนมากต้องสิ้นสภาพไปแล้วให้สมัครใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการรีเซ็ตสมาชิก

เรื่องที่สอง คำสั่งคสช.ซึ่งเขียนไว้ไม่ชัดเจนก็จะไปกระทบต่อโรดแมพของการเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ที่ขีดเส้นไว้ว่า การเลือกตั้งจะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือน ส.ค.2561 หากนับจากกระบวนการออกกฎหมายลูก ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาให้คำมั่นถึงกำหนดการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.2561 ก็เป็นเพราะนายกฯไม่อ่านรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ทำให้การตีความกฎหมายก็ดีการวางโรดแมพที่คสช.เข้าใจก็ดี ได้สร้างปัญหาความสับสนให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่กำลังมีปัญหาหนักหน่วงอย่างต่อเนื่องบวกกับปัญหาการเมืองส่งผลให้การวางแผนการลงทุน ดังนั้นรัฐบาลควรแก้ไขให้เกิดความชัดเจน

วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า การเมืองปี 2561 จะมีปัจจัยหลักที่มาจากประเด็นทางเศรษฐกิจ หรือเรื่องปากท้องของประชาชน แม้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา จะมีหลายมาตรการก็ไม่มีประสิทธิผลมีเพียงตัวบวกที่พอจะมองเห็น คือการที่สหภาพยุโรปและสหรัฐ ผ่อนปรนในหลายมาตรการ ทั้งจากประเด็นการค้ามนุษย์ การทำประมงไร้การควบคุม รวมถึงการปลดธงแดงในมาตรฐานการบิน ทำให้นักธุรกิจรู้สึกโล่งใจขึ้นมาบ้าง แต่ตัวฉุดรั้งจากปัญหารายได้ของครัวเรือนอยู่ในระดับแย่ ยังส่งผลลบมากกว่ากับภาวะเศรษฐกิจ

ส่วนทิศทางการเมืองปี2561 ยังคงมีสภาวะอึมครึมต่อไปเนื่องจากมีหลายปรากฏการณ์ที่ผู้มีอำนาจน่าจะรับรู้ถึงความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง ทำให้คนไทยขาดความมั่นใจว่า จะมีการเลื่อนโรดแมพหรือไม่

ส่วนการใช้อำนาจตามมาตรา44 เป็นหนึ่งท่าทีที่สำคัญของผู้มีอำนาจ แม้จะพยายามบอกว่า ไม่รีเซ็ตสมาชิกพรรคแต่การให้สมาชิกพรรคไปเขียนแสดงความจำนง เพื่อยันยืนความเป็นสมาชิกเข้าไปใหม่ การเขียนแสดงความจำนงนี้ไม่ต่างอะไรกับการเขียนใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค เพียงแต่เปลี่ยนหัวกระดาษจากคำว่า “ใบสมัครสมาชิกพรรค” เป็น ใบยืนยันการเป็นสมาชิก เพราะนั่นเท่ากับการรีเซ็ตสมาชิกพรรค

คำสั่งดังกล่าวระบุรายละเอียดถึงการปลดล็อกก็ต่อเมื่อกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว.ผ่านการพิจารณาแล้ว แต่ไม่ระบุให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการภายในกี่วัน คาดหวังว่าคสชจะรักษาคำพูดที่ให้ไว้อย่างชัดเจนว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. 2561 แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ความเชื่อมั่นความเชื่อถือของคนในชาติที่มีต่อรัฎฐาธิปัตย์จะลดลง